เจริญอานาปานสติชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน

เจริญอานาปานสติชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน

ธานอสดีดนิ้วโดนด่า เจริญอานาปาโดนพระศาสดาชม


ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุ เจริญอานาปานสติ แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดาปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสตินั้นเล่า. -บาลี เอก. อํ. ๒๐/๕๔/๒๒๔.

อานาปานสติระงับได้ซึ่งอกุศลทั้งหลาย


(ทรงปรารภเหตุที่ภิกษุทั้งหลายได้ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เนื่องจากเกิดความอึดอัดระอา เกลียดกายของตน เพราะการปฏิบัติอสุภภาวนา จึงได้ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิแก่ภิกษุเหล่านั้น) ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป อันเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน ฝนหนักที่ผิดฤดูตกลงมา ย่อมทำฝุ่นธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะ, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ก็เป็นของระงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะได้ ฉันนั้น. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๒.

ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

 ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

ปีนรั้ว









ภิกษุทั้งหลาย ! ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ แม้จะร้องอยู่ว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ก็ตามที แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ ร้องเอาเองว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบางรูปในกรณีเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ แม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศอยู่ว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้ ก็ตามที แต่ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้น ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศเอาเองว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้เท่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

    -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๔/๕๒๒.

อริยบุคคลจะเจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ

 อริยบุคคลจะเจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ

ตกนรก



ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้า {๑} ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้าเป็นอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่ามิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็มิจฉาอาชีวะเป็นอย่างไร คือ การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ นี้มิจฉาอาชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัมมาอาชีวะเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ {๒} เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่างหนึ่ง สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ.     ภิกษุทั้งหลาย ! นี้สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ {๓} เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! ความงด ความเว้น เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค. ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ. ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมา-อาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ. ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้า ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้าอย่างไร คือ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมา-กัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมา-ญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐. ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้า ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้าอย่างไร คือ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฏฐิได้ ทั้งอกุศลธรรมอันเป็นบาปเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉา-ทิฏฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฏฐิสลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้... ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้... ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้... ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้... ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้... ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้... ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้... ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้... ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมเป็นบาปเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยประการนี้แล จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ {๔} อันเราให้เป็นไปแล้ว สมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียนคัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว. ถ้าใครติเตียนสัมมาทิฏฐิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาสังกัปปะ ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาวาจา ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉากัมมันตะ ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาอาชีวะ ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาวายามะ ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาสติ ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาสมาธิ ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาญาณะ ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาวิมุตติ. ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะชาวอุกกลชนบท ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ {๕} ก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ นั่นเพราะเหตุไร เพราะกลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ. ๑. ธรรมนำหน้า = ธรรมที่เริ่มมีมาก่อน (ปุทงฺคม) ๒. สาสวะ = ประกอบด้วยอาสวะ, ยังมีอาสวะ ๓. อนาสวะ = ไม่มีอาสวะ ๔. มหาจัตตารีสกะ ธัมมะปริยายะ (มหาจตฺตารีสก ธมฺมปริยาย) ๕. อเหตุกวาทะ = ผู้มีวาทะว่า เหตุไม่มี, อกิริยวาทะ = ผู้มีวาทะว่า การกระทำไม่มี, นัตถิกวาทะ = ผู้มีวาทะว่า ขาดสูญ

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๑๘๑/๒๗๔.

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

 หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

หนุ่ม กะลา



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”. คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า), พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา), พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง), พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย), พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ), พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน (๒) เราจักทำกิจของท่าน (๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล (๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท (๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) ให้ศึกษาศิลปะ (๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร (๕) มอบมรดกให้ตามเวลา     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ (๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ (๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง (๔) ด้วยการปรนนิบัติ (๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) แนะนำดี (๒) ให้ศึกษาดี (๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง (๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย (๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการยกย่อง (๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น (๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ (๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) จัดแจงการงานดี (๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี (๓) ไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ (๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการให้ปัน (๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ (๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์ (๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน (๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว (๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว (๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย (๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย (๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง (๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล (๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ (๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ (๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย (๒) เลิกงานทีหลังนาย (๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้ (๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด (๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยเมตตากายกรรม (๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม (๓) ด้วยเมตตามโนกรรม (๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ) (๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม (๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง (๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด (๖) บอกทางสวรรค์ให้     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๕/๑๗๔.

ว่าด้วยทักษิณา

ว่าด้วยทักษิณา

ไม่ใส่เครื่องแบบ


อานนท์ ! บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณานับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกพุทธะ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ. อานนท์ ! ก็ทักษิณาที่ให้แล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๒ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๔ แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๕ {๑} แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๖ แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๗ อานนท์ ! ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะ (จีวร) พันคอ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น. อานนท์ ! ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (การถวายเจาะจงบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย. อานนท์ ! ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นอย่างไร คือ (๑) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) (๒) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (๓) ทักษิณาบางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ (๔) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก. อานนท์ ! นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) (๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดีเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีลทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์ (๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดีเชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่ามีผลไพบูลย์ (๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรมมีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย. ๑. หมายเหตุ : เป็นข้อสังเกตให้ทราบว่า ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์นั้นจะมีภิกษุหรือภิกษุณีจำนวนกี่รูปก็ได้ -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๘/๗๑๑.

ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น

 ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น

เราเป็นเพียงป้ายชี้ทาง



“ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมได้กล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ องค์ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง หรือว่าบางองค์ไม่ได้บรรลุ ?” พราหมณ์คณกโมคคัลลานะ ทูลถาม. พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ. “พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, หนทางเป็นที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, พระโคดมผู้ชักชวน (เพื่อการดำเนินไป) ก็ยังตั้งอยู่, ทำไมน้อยพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ?”. พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านจงตอบตามควร, ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ, มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์ เข้ามาหาและกล่าวกับท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปเมืองราชคฤห์ แก่ข้าพเจ้าเถิด”. ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษนั้นว่า “มาซิท่าน, ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้านชื่อโน้น แล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าอันน่ารื่นรมย์ จักเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์” ดังนี้. บุรุษนั้น อันท่านพร่ำบอก พร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลังตรงข้ามไป, ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง (อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้อย่างเดียวกัน) ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี. พราหมณ์ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่เมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, ท่านผู้ชี้บอก ก็ยังตั้งอยู่, แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลังไปผิดทาง, ส่วนบุรุษผู้หนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ? “พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”. พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้น, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, เราผู้ชักชวน ก็ยังตั้งอยู่, แต่สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ. พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้เราจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะเราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๘๕/๑๐๑.

ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

 ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะ

จากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

ลดคำแต่งใหม่ 70%



PTT ขาด PTT เกิน




ลด 70%



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.


-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.,

การทำกิจของอินทรีย์ ในขณะบรรลุธรรม

 การทำกิจของอินทรีย์ ในขณะบรรลุธรรม

อภิปฺปสฺนโน


ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! สารีบุตร ! อริยสาวกใด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคตถึงที่สุดโดยส่วนเดียว, เขาย่อมไม่สงสัยหรือลังเลในตถาคตหรือคำสอนในตถาคต.     สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธาแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.     สารีบุตร ! ความเพียรเช่นนั้นของอริยสาวกนั้นย่อมเป็น วิริยินทรีย์ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้มีสติ ประกอบพร้อมด้วยสติเป็นเครื่องระวังรักษาตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้ นานได้.     สารีบุตร ! ความระลึกเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น สตินทรีย์ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้กระทำแล้วได้ซึ่ง โวสสัคคารมณ์ จักได้ซึ่งความตั้งมั่นแห่งจิต กล่าวคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว.     สารีบุตร ! ความตั้งมั่นแห่งจิตเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น สมาธินทรีย์ ของเธอนั้น.
สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้มีจิตตั้งมั่นโดยชอบแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า “สังสารวัฏฏ์ เป็นสิ่งที่มีที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้, ที่สุดฝ่ายข้างต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก กำลังแล่นไป ท่องเที่ยวไป. ความจางคลายดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งอวิชชาอันเป็นกองแห่งความมืดนั้นเสียได้ มีอยู่ : นั่นเป็นบทที่สงบ นั่นเป็นบทที่ประณีต กล่าวคือธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน”.     สารีบุตร ! ความรู้ชัดเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น ปัญญินทรีย์ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! อริยสาวกนั้นนั่นแหละ ตั้งไว้แล้ว ตั้งไว้แล้ว (ซึ่งวิริยะ) ด้วยอาการอย่างนี้, ระลึกแล้ว ระลึกแล้ว (ด้วยสติ) ด้วยอาการอย่างนี้, ตั้งมั่นแล้ว ตั้งมั่นแล้ว (ด้วยสมาธิ) ด้วยอาการอย่างนี้, รู้ชัดแล้ว รู้ชัดแล้ว (ด้วยปัญญา) ด้วยอาการอย่างนี้, เขาย่อมเชื่ออย่างยิ่ง อย่างนี้ว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อน, ในบัดนี้ เราถูกต้องธรรมเหล่านั้นด้วยนามกายแล้วแลอยู่ ด้วย และแทงตลอดธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาแล้วเห็นอยู่ ด้วย” ดังนี้. สารีบุตร ! ความเชื่อเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น สัทธินทรีย์ ของเธอนั้น, ดังนี้แล.     - มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๙๙ – ๓๐๐/๑๐๑๗ – ๑๐๒๒.

วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก่อนตรัสรู้

วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก่อนตรัสรู้


ทำสมาธิไม่มีคำบริกรรม


คสช. คนสร้าง(ภพ)ชาติ



ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่งสมาธิใด สมาธินั้น ภิกษุย่อมจะได้โดยไม่หนักใจ ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่งสมาธิไหนกันเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่ง อานาปานสติสมาธิ.     ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเจริญ ทำให้มากซึ่ง อานาปานสติสมาธิ อยู่อย่างไรเล่า ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ?     ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า หรือโคนไม้หรือ เรือนว่างก็ตาม แล้วนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก. เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว; เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”;     เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”, ว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”;     เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”;     เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเจริญ ทำให้มากซึ่ง อานาปานสติสมาธิอยู่อย่างนี้แล ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้. .....ฯลฯ..... ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เราเองก็เหมือนกัน ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรม คือ อานาปานสติสมาธิ นี้เป็นส่วนมาก. เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีอุปาทาน.     ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่ากายของเราก็อย่าลำบาก ตาของเราก็อย่าลำบากและจิตของเราก็จงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีอุปาทานเถิด ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ซึ่งอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.


-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๙/๑๓๒๔. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๑/๑๓๒๙.