ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕

 ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง

ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕


ทิ้งขันธ์



รณรงค์ทิ้งขันธ์



ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมตามระลึกถึงซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้าหรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้น. ห้าอย่างไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ :- ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง รูป นั่นเทียว ว่า “ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง เวทนา นั่นเทียว ว่า “ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สัญญา นั่นเทียว ว่า “ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สังขาร นั่นเทียว ว่า “ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง วิญญาณ นั่นเทียว ว่า “ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้” ดังนี้บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า รูป ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย (รุปฺปติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป. สลายเพราะอะไร ? สลายเพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง เพราะความหิวบ้าง เพราะความระหายบ้าง เพราะการสัมผัสกับเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่าเวทนา ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ (เวทยติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. รู้สึกซึ่งอะไร ? รู้สึกซึ่งสุขบ้าง ซึ่งทุกข์บ้าง ซึ่งอทุกขมสุขบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สัญญา ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม (สญฺชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. หมายรู้ได้พร้อมซึ่งอะไร ? หมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเขียวบ้าง ซึ่งสีเหลืองบ้าง ซึ่งสีแดงบ้าง ซึ่งสีขาวบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สังขาร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่ง (อภิสงฺขโรนฺติ) ให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร. ปรุงแต่งอะไรให้เป็นของปรุงแต่ง ? ปรุงแต่งรูปให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นรูป ปรุงแต่งเวทนาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นเวทนา ปรุงแต่งสัญญาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขารให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสังขาร ปรุงแต่งวิญญาณให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นวิญญาณ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า วิญญาณ ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง (วิชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ. รู้แจ้งซึ่งอะไร ? รู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยวบ้าง ซึ่งความขมบ้าง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง ซึ่งความหวานบ้าง ซึ่งความขื่นบ้าง ซึ่งความไม่ขื่นบ้าง ซึ่งความเค็มบ้าง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ. ภิกษุทั้งหลาย ! ในขันธ์ทั้งห้านั้น อริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ชัดดังนี้ว่า “ในกาลนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่, แม้ในอดีตกาลนานไกล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น. ถ้าเราเพลิดเพลินรูปในอนาคต, แม้ในอนาคตนานไกล เราก็จะถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่เราถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น”. อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เพ่งต่อรูปอันเป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ดับไม่เหลือ แห่งรูปอันเป็นปัจจุบัน. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกันแล้วตรัสต่อไปว่า) ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ? “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”. สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ? “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”. สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา” ดังนี้. “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !” (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการถามตอบแบบเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า) ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน มีในภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นบุคคลควรเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” ดังนี้. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกันแล้วตรัสต่อไปว่า) ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่า เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ; ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา; ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง; ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง. อริยสาวกนั้น ย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งอะไร ? เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. อริยสาวกนั้น ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งอะไร ? เธอย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งอะไร? เธอย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งอะไร ? เธอย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด, เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น, เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ (ผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้ว) นี้ เราเรียกว่า ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบแล้ว-ดำรงอยู่; ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้งแล้ว-ดำรงอยู่; ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายแล้ว-ดำรงอยู่; ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดแล้ว-ดำรงอยู่. ภิกษุนั้น ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่ ภิกษุนั้น ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่. ภิกษุนั้น ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจาย ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่. ภิกษุนั้น ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอด ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ มาจากที่ไกลเทียว กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ! ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบสิ่งซึ่งท่าน อาศัยแล้วเพ่ง ของท่าน” ดังนี้. -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๐๕/๑๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น