วสลสูตรที่ ๗

วสลสูตรที่ ๗

ทรงอย่างเฮด เซดอย่างถ่อย



[๓๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้วตกแต่งของที่ควรบูชา อยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ในพระนครสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ อ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย ดีละ ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรมตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวอัคคิกภารทวาช พราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาประพันธ์นี้ว่า [๓๐๖]     ๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฐิวิบัติ และมีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหนไม่มี ความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่าฆ่าชาวบ้านและชาวนิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ ในบ้านหรือในป่า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนีไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ เพราะอยากได้สิ่งของพึงรู้ว่า เป็นคนถ่อย    ๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแห่งตนก็ดี เพราะเหตุแห่ง ผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย    ๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกิน ในภริยาของญาติก็ตาม ของเพื่อนก็ตาม ด้วยข่มขืนหรือ ด้วยการร่วมรักกัน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย
๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๐. คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยายแม่ผัวหรือ พ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์ บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์พูดกลบเกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๒. คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เรา ปกปิดไว้ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๓. คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว และบริโภคโภชนะที่สะอาดย่อมไม่ตอบแทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่น ด้วยมุสาวาท พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์และไม่ให้โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๖. คนในโลกนี้ ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว ปรารถนาของเล็กน้อย พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยมานะของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกลัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า หรือติเตียนบรรพชิต หรือคฤหัสถ์สาวกของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๒๐. ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นแลเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อมทั้งพรหมโลก คนเหล่าใดเราประกาศแก่ท่านแล้วคนเหล่านั้นนั่นแล เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติแต่เป็น คนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่านจงรู้ข้อนั้น ตามที่ เราแสดงนี้ บุตรของคนจัณฑาลเลี้ยงตัวเองได้ ปรากฏชื่อว่าตังมาคะ เป็นคนกินของที่ตนให้สุกเอง เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นอันมากได้มาสู่ที่บำรุงของเขา เขาขึ้นยานอันประเสริฐ ไปสู่หนทางใหญ่อันไม่มีฝุ่น เขาสำรอกกามราคะเสียได้แล้ว เป็นผู้เข้า ถึงพรหมโลก ชาติไม่ได้ห้ามเขาให้เข้าถึงพรหมโลก พราหมณ์เกิดใน สกุลผู้สาธยายมนต์ เป็นพวกร่ายมนต์ แต่พวกเขาปรากฏในบาปกรรม อยู่เนืองๆ พึงถูกติเตียนในปัจจุบันทีเดียว และภพหน้าก็เป็นทุคติ ชาติห้ามกันพวกเขาจากทุคติหรือจากครหาไม่ได้ บุคคลไม่เป็นคนถ่อย เพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติแต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ฯ [๓๐๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ จบวสลสูตรที่ ๗
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๕
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
หน้าที่ ๒๖๙        ข้อที่ ๓๐๕ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น