หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

ทิศเบื้องต่ำ

กลับมาอนุเคราะห์นาย



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”. คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า), พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา), พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง), พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย), พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ), พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน (๒) เราจักทำกิจของท่าน (๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล (๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท (๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) ให้ศึกษาศิลปะ (๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร (๕) มอบมรดกให้ตามเวลา     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ (๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ (๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง (๔) ด้วยการปรนนิบัติ (๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) แนะนำดี (๒) ให้ศึกษาดี (๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง (๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย (๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการยกย่อง (๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น (๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ (๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) จัดแจงการงานดี (๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี (๓) ไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ (๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการให้ปัน (๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ (๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์ (๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน (๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว (๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว (๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย (๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย (๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง (๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล (๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ (๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ (๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย (๒) เลิกงานทีหลังนาย (๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้ (๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด (๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยเมตตากายกรรม (๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม (๓) ด้วยเมตตามโนกรรม (๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ) (๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม (๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง (๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด (๖) บอกทางสวรรค์ให้     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๕/๑๗๔.

ทรงมีการกล่าวที่ไม่ขัดแย้งกับบัณฑิตชนในโลก

ทรงมีการกล่าวที่ไม่ขัดแย้งกับบัณฑิตชนในโลก

ฌาณ ตา คลอส



ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมไม่กล่าวขัดแย้ง (วิวาท) กะโลก แต่โลกต่างหาก ย่อมกล่าวขัดแย้งต่อเรา. ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้เป็นธรรมวาที ย่อมไม่กล่าวขัดแย้งกะใครๆ ในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งใดที่บัณฑิตในโลก สมมติ (รู้เหมือนๆ กัน) ว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามี. 

ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่า ที่บัณฑิตในโลกสมมติ ว่าไม่มี และเราก็กล่าวว่าไม่มี ? 

ภิกษุทั้งหลาย ! รูป ที่เที่ยง ที่ยั่งยืน ที่เที่ยงแท้ ที่ไม่มีการแปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวว่าไม่มี. (ในกรณีแห่งเวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว). ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้แล ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี และเราก็กล่าวว่าไม่มี. 

ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่า ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี และเราก็กล่าวว่ามี. 
ภิกษุทั้งหลาย ! รูป ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีการแปรปรวน เป็นธรรมดาบัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวว่ามี. (ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว).
    ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้แล ที่บัณฑิตในโลก สมมติว่ามี และเราก็กล่าวว่ามีดังนี้.  


-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๖๙/๒๓๙. 


[ในบาลี โปฏฐปาทสูตร สี.ที. /๒๔๘/๓๑๒, มีตรัสว่า พระองค์ (ตถาคต) ก็ทรงกล่าวด้วยถ้อยคำหรือว่าภาษาที่ชาวโลกกล่าว, แต่ไม่ทรงยึดถือเหมือนอย่างที่ชาวโลกกล่าวนั้น. ใน ทีฆนขสูตร -บาลี .. ๑๓/๒๖๘/๒๗๓, มีตรัสว่า ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่กล่าวคำประจบกับใครๆ ไม่กล่าวคำขัดแย้งใครๆ และโวหารใดที่เขากล่าวกันอยู่ในโลก ภิกษุนั้นก็กล่าวด้วยโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่น ถือมั่นความหมายใดๆ อย่างชาวโลก ; คำว่าภิกษุในคำตรัสนั้น เล็งถึง พระองค์เองก็ได้ เพราะพระองค์ก็รวมอยู่ในคำว่าพระอรหันต์ด้วย ซึ่งเป็น พระอรหันต์ประเภทสัมมาสัมพุทธะ, เป็นอันว่าพระองค์ มีหลัก ในการตรัสดังนั้น. -ผู้แปล]

ส่งสาวกออกประกาศพระศาสนา

 ส่งสาวกออกประกาศพระศาสนา

ตรัสกับสาวก-ตรัสกับนาค



ภิกษุทั้งหลาย ! เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่อความเอ็นดูแก่โลก ; เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่าไปทางเดียวกันถึงสองรูป.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุดจงประกาศพรหมจรรย์ ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง : สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่สัตว์พวกนี้ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรมสัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่.
ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เราเอง ก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.


-บาลี มหาวิ/๓๙/๓๒.



นาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน


    ก็โดยสมัยนั้นแล นาคตัวหนึ่งอึดอัด ระอา เกลียดกำเนิดนาค นาคนั้นได้มีความดำริว่า ด้วยวิธีอะไรหนอ เราจึงจะพ้นจากกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน. ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบวชในสำนักสมณะเชื้อสายศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้ เราก็จะพ้นจากกำเนิดนาคและกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน. ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบทสมัยต่อมา พระนาคนั้นอาศัยอยู่ในวิหารสุดเขตกับภิกษุรูปหนึ่ง. ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี ภิกษุรูปนั้น ตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ครั้นภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจจำวัด วิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง. ครั้นภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูด้วยตั้งใจจักเข้าวิหาร ได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู เห็นขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง ก็ตกใจ จึงร้องเอะอะขึ้น.

ภิกษุทั้งหลายพากันวิ่งเข้าไปแล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า “อาวุโส ท่านร้องเอะอะไปทำไม ?” ภิกษุรูปนั้นบอกว่า “อาวุโสทั้งหลาย วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง” ขณะนั้น พระนาคนั้นได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน. ภิกษุทั้งหลายถามว่า “อาวุโส ท่านเป็นใคร ?” น. “ผมเป็นนาค ขอรับ” ภิ. “อาวุโส ท่านได้ทำเช่นนี้เพื่อประสงค์อะไร ?” พระนาคนั้นจึงแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทนี้แก่นาคนั้นว่า :- “พวกเจ้าเป็นนาค มีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถในวันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นแหละ ด้วยวิธีนี้ เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน”. ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้ เป็นธรรมดา ก็เสียใจหลั่งน้ำตา ส่งเสียงดังแล้วหลีกไป.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค มีสองประการนี้คือ :- เวลาเสพเมถุนธรรมกับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน ๑ เวลาวางใจนอนหลับ ๑ ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค ๒ ประการ. ภิกษุทั้งหลาย ! อนุปสัมบัน คือ สัตว์เดรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว ต้องให้สึกเสีย.

-บาลี มหา. วิ. ๔/๑๗๕/๑๒๗