การดำรงชีพชอบโดยหลักแห่งมหาปุริสวิตก
ดีละ ดีละ อนุรุทธะ ! ดีละ ที่เธอตรึกแล้ว ซึ่งมหาปุริสวิตก ว่า : - “๑. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีความปรารถนาน้อย, ธรรมมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ปรารถนาใหญ่. ๒. ธรรมะนี้ สำหรับผู้สันโดษ, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ไม่สันโดษ. ๓. ธรรมะนี้ สำหรับผู้สงบสงัด, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ยินดีด้วยการคลุกคลีในหมู่. ๔. ธรรมะนี้ สำหรับผู้ปรารภความเพียร, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้เกียจคร้าน. ๕. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้มีสติอันหลงลืม. ๖. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีจิตตั้งมั่น, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้มี จิตไม่ตั้งมั่น. ๗. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีปัญญา, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ทรามปัญญา ดังนี้. อนุรุทธะ ! แต่เธอควรจะตรึกมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ นี้ด้วยว่า :- “๘. ธรรมะนี้ สำหรับผู้พอใจในความไม่เนิ่นช้า๑, ผู้ยินดีในความไม่เนิ่นช้า, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้พอใจในความเนิ่นช้า ผู้ยินดีในความเนิ่นช้า” ดังนี้. (อานิสงส์แห่งการดำรงชีพชอบ โดยหลักแห่งมหาปุริสวิตกแปด) ๑. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการเหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงซึ่ง ปฐมฌาน อันประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. ๒. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการเหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้เข้าถึงซึ่ง ทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น มีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ ไม่ประกอบด้วยวิตก ไม่ประกอบด้วยวิจาร เพราะความรำงับไปแห่งวิตกและวิจารทั้งหลาย แล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. ๓. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการเหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ และสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะความจางคลายแห่งปีติ เข้าถึง ตติย-ฌาน อันเป็นฌาน ที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้แล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. ๔. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการ เหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้เข้าถึงซึ่ง จตุตถฌาน อันไม่มีความทุกข์และความสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาเพราะละเสียได้ซึ่งสุขและเพราะละเสียได้ซึ่งทุกข์ เพราะความดับไปแห่งโสมนัส และโทมนัสในกาลก่อน แล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. (อานิสงส์ที่ครอบคลุมไปถึงความหมายแห่งปัจจัยสี่) ๑. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรจักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับผ้าที่เต็มอยู่ในหีบผ้าที่ย้อมด้วยสีต่างๆ ของคหบดีหรือ คหบดีบุตร (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๒. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว ; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ก้อนข้าวที่เธอได้มาด้วยลำแข้ง จักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับข้าวสุกแห่งข้าวสาลีไม่มีเม็ดดำ มีแกงและกับเป็นอันมาก ของคหบดีหรือคหบดีบุตร (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๓. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น รุกขมูลเสนาสนะจักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับเรือนยอด ของคหบดีหรือคหบดีบุตร อันเป็นเรือนยอดที่ ฉาบขึ้นฉาบลงดีแล้ว ลมผ่านไม่ได้ มีลิ่มสลักแน่นหนา มีหน้าต่างปิดได้สนิท (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๔. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ที่นั่งที่นอนอันทำด้วยหญ้าจักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับบัลลังก์ ของคหบดีหรือคหบดีบุตร อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว ลาดด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยผ้าสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีอันทำด้วยหนังชะมด มีเพดานข้างบน มีหมอนข้างแดงสองข้าง (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๕. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ปูติมุตตเภสัช (ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า) จักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับเภสัชนานาชนิด ของคหบดีหรือคหบดีบุตร อันได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น.
- อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๓๓-๒๓๕/๑๒๐.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น