ผัคคุณสูตร

ผัคคุณสูตร

แต่งเป็นคนตายที่ได้ฟังพุทธวจนก่อนตายไง




ก็สมัยนั้น ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะอาพาธมีทุกข์เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะเถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วจะลุกจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระผัคคุณะว่า
อย่าเลยผัคคุณะ เธออย่าลุกขึ้นจากเตียง อาสนะเหล่านี้ที่ผู้อื่นได้ปูไว้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูไว้แล้ว ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระผัคคุณะว่า
ดูกรผัคคุณะเธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา
ย่อมบรรเทาไม่กำเริบหรือปรากฏว่าบรรเทา ไม่กำเริบขึ้นหรือ
ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้นไม่บรรเทาเลยข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คมฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลยเปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวดที่ศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือลูกมือของบุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีดสำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละท้องโค ฉันใด ลมกล้ามีประมาณยิ่งย่อมเสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ...เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน จับบุรุษผู้อ่อนกำลังคนเดียวที่แขนคนละข้าง แล้วพึงลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กายของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่งฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่บรรเทาเลย
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถาให้ท่านพระผัคคุณะเห็นแจ้ง
ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละและในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้น ผ่องใสยิ่งนัก ฯ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพรภาคเสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตายเธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลางอันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕     ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ฯ ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคตแต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคตและย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล ฯ


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาตหน้าที่ ๓๔๓ ข้อที่ ๓๒๗
หน้าท

น้ำตา ที่เคยหลั่งไหล

 น้ำตา ที่เคยหลั่งไหล

น้ำตา ที่เคยหลั่งไหล



ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏเธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! สาธุ สาธุ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ... โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ...พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ... ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ... ของบุตร ... ของธิดา ... ความเสื่อมแห่งญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ... ...พวกเธอได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๓/๔๒๕.

การดำรงชีพชอบโดยหลักแห่งมหาปุริสวิตก

 การดำรงชีพชอบโดยหลักแห่งมหาปุริสวิตก

ไม่ใหญ่แน่นะวิ



    ดีละ ดีละ อนุรุทธะ ! ดีละ ที่เธอตรึกแล้ว ซึ่งมหาปุริสวิตก ว่า : - “๑. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีความปรารถนาน้อย, ธรรมมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ปรารถนาใหญ่. ๒. ธรรมะนี้ สำหรับผู้สันโดษ, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ไม่สันโดษ. ๓. ธรรมะนี้ สำหรับผู้สงบสงัด, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ยินดีด้วยการคลุกคลีในหมู่. ๔. ธรรมะนี้ สำหรับผู้ปรารภความเพียร, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้เกียจคร้าน. ๕. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้มีสติอันหลงลืม. ๖. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีจิตตั้งมั่น, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้มี จิตไม่ตั้งมั่น. ๗. ธรรมะนี้ สำหรับผู้มีปัญญา, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้ทรามปัญญา ดังนี้. อนุรุทธะ ! แต่เธอควรจะตรึกมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ นี้ด้วยว่า :- “๘. ธรรมะนี้ สำหรับผู้พอใจในความไม่เนิ่นช้า๑, ผู้ยินดีในความไม่เนิ่นช้า, ธรรมะนี้ มิใช่สำหรับผู้พอใจในความเนิ่นช้า ผู้ยินดีในความเนิ่นช้า” ดังนี้. (อานิสงส์แห่งการดำรงชีพชอบ โดยหลักแห่งมหาปุริสวิตกแปด) ๑. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการเหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงซึ่ง ปฐมฌาน อันประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. ๒. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการเหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้เข้าถึงซึ่ง ทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น มีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ ไม่ประกอบด้วยวิตก ไม่ประกอบด้วยวิจาร เพราะความรำงับไปแห่งวิตกและวิจารทั้งหลาย แล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. ๓. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการเหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ และสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะความจางคลายแห่งปีติ เข้าถึง ตติย-ฌาน อันเป็นฌาน ที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้แล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. ๔. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการ เหล่านี้, เมื่อนั้น เธอจักหวังได้ ซึ่งความเป็นผู้เข้าถึงซึ่ง จตุตถฌาน อันไม่มีความทุกข์และความสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาเพราะละเสียได้ซึ่งสุขและเพราะละเสียได้ซึ่งทุกข์ เพราะความดับไปแห่งโสมนัส และโทมนัสในกาลก่อน แล้วแลอยู่ ตามที่เธอหวัง. (อานิสงส์ที่ครอบคลุมไปถึงความหมายแห่งปัจจัยสี่) ๑. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรจักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับผ้าที่เต็มอยู่ในหีบผ้าที่ย้อมด้วยสีต่างๆ ของคหบดีหรือ คหบดีบุตร (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๒. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว ; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ก้อนข้าวที่เธอได้มาด้วยลำแข้ง จักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับข้าวสุกแห่งข้าวสาลีไม่มีเม็ดดำ มีแกงและกับเป็นอันมาก ของคหบดีหรือคหบดีบุตร (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๓. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น รุกขมูลเสนาสนะจักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับเรือนยอด ของคหบดีหรือคหบดีบุตร อันเป็นเรือนยอดที่ ฉาบขึ้นฉาบลงดีแล้ว ลมผ่านไม่ได้ มีลิ่มสลักแน่นหนา มีหน้าต่างปิดได้สนิท (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๔. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ที่นั่งที่นอนอันทำด้วยหญ้าจักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับบัลลังก์ ของคหบดีหรือคหบดีบุตร อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว ลาดด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยผ้าสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีอันทำด้วยหนังชะมด มีเพดานข้างบน มีหมอนข้างแดงสองข้าง (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น. ๕. อนุรุทธะ ! เมื่อใด เธอจักตรึกซึ่งมหาปุริสวิตกทั้งแปดประการเหล่านี้ ด้วย และ จักเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐรรมประกอบด้วยจิตอันยิ่ง ทั้งสี่เหล่านี้ด้วย ดังนี้แล้ว; อนุรุทธะ ! เมื่อนั้น ปูติมุตตเภสัช (ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า) จักปรากฏแก่เธอ ผู้สันโดษ เป็นอยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้ง ด้วยผาสุกวิหารอันก้าวลงสู่นิพพาน เหมือนกับเภสัชนานาชนิด ของคหบดีหรือคหบดีบุตร อันได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง), ฉันใดก็ฉันนั้น.

- อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๓๓-๒๓๕/๑๒๐.

ตามรอยธรรม

 ตามรอยธรรม

หนึ่งคนให้ หลายคนไหว้



...พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป
เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน
เพื่อความเอ็นดูแก่โลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล
เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
...จงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น
งดงามในท่ามกลาง งดงามในเบื้องปลาย
...ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ
พร้อมทั้งพยัญชนะ
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่
สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม
สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่ ...

-บาลี มหา. วิ. ๔/๓๙/๓๒.

การเข้าไปสนใจคำแต่งใหม่ มีผลให้คำตถาคตอันตรธานหายไป

การเข้าไปสนใจคำแต่งใหม่

มีผลให้คำตถาคตอันตรธานหายไป

เจิมยานอวกาศ



ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่ เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมี. ภิกษุทั้งหลาย ! สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒.

ขยายความแห่งอริยมรรคมีองค์แปด

 ขยายความแห่งอริยมรรคมีองค์แปด

พึงเห็นว่าเป็นเพียง...ธรรมชาติกระทบกัน



ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ นี้เอง, องค์แปดคือ :- ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)                          ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)                          การพูดจาชอบ (สัมมาวาจา)                          การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)                          การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)                          ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)                           ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)                          ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้ในทุกข์, ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์, ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกาม, ความดำริในการไม่พยาบาท, ความดำริในการไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ. ภิกษุทั้งหลาย ! การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ, การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน, การเว้นจากการพูดหยาบ, การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า สัมมาวาจา. ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์, การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า สัมมากัมมันตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! การเลี้ยงชีพชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ, นี้เราเรียกว่า สัมมาอาชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว, นี้เราเรียกว่า สัมมาวายามะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้, นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เพราะสงัดจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่; เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและได้เสวยสุขด้วยกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีการอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่; เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่, นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือ หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. -บาลี มหา. ที. ๑๐/๓๔๘/๒๙๙.

ว่าด้วยความรัก ๔ แบบ

 ว่าด้วยความรัก ๔ แบบ

ความรัก-เกลียด ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

(๑) ความรักเกิดจากความรัก ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ” ดังนี้; บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ความรักเกิดจากความรัก. (๒) ความเกลียดเกิดจากความรัก ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้; บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความรัก. (๓) ความรักเกิดจากความเกลียด ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้; บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ความรักเกิดจากความเกลียด. (๔) ความเกลียดเกิดจากความเกลียด ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ” ดังนี้; บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.

สมาธิระงับความรัก-เกลียด ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเกิดอยู่เป็น ๔ ประการ. ๔ ประการอย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :- ความรักเกิดจากความรัก, ความเกลียดเกิดจากความรัก, ความรักเกิดจากความเกลียด, ความเกลียดเกิดจากความเกลียด. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; สมัยนั้น ความรักใดที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี, ความรักใดที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ เข้าถึงทุติยฌาน ... ตติยฌาน ... จตุตถฌาน ... แล้วแลอยู่; สมัยนั้น ความรักใดที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี, ความรักใดที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๙๐/๒๐๐.

ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ

 ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ

ภพ เปรียบดัง คูถ



ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด, ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ (ผลแห่งภวตัณหา)                           ก็ฉันนั้นเหมือนกัน, แม้มีประมาณน้อย                           ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้. (ในสูตรถัดไป ได้ตรัสอุปมาด้วยมูตร ด้วยน้ำลาย ด้วยหนอง ด้วยโลหิตโดยทำนองเดียวกัน เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๔.).

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๓.


เครื่องนำไปสู่ภพ

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสอยู่ว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ เครื่องนำไปสู่ภพ’ ดังนี้, ก็เครื่องนำไปสู่ภพ เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า ! และความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพนั้น เป็นอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า ! ”. ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี, ราคะ (ความกําหนัด) ก็ดี, นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี, ตัณหา (ความทะยานอยาก) ก็ดี, อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และ อุปาทาน (ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส) อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดี ใดๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ; กิเลสเหล่านี้ นี่เราเรียกว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ ความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพ มีได้เพราะความดับไม่เหลือของกิเลส มีฉันทะ ราคะ เป็นต้น เหล่านั้นเอง.

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๓/๓๖๘.๔๓.