ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง
ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง
ภิกษุทั้งหลาย ! มรณสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด. พวกเธอเจริญมรณสติอยู่บ้างหรือ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลตอบ และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่ง...ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลากลางวัน... ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตเสร็จมื้อหนึ่ง... ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียง ๔-๕ คำ เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด การปฏิบัติตามคำสั่งสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี, ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ ยังเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะช้าไป. ภิกษุทั้งหลาย ! ฝ่ายภิกษุพวกที่เจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว” ดังนี้ก็ดี, ว่า “โอหนอ เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า แล้วหายใจออก หรือชั่วขณะหายใจออกแล้วหายใจเข้า. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด, การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี; ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว, เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอ ทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่, จักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล. -บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๒๗/๑๗๐.
ถ้ามัวรอให้รู้เรื่องที่ไม่จำเป็นเสียก่อน ก็ตายเปล่า
ถ้ามัวรอให้รู้เรื่องที่ไม่จำเป็นเสียก่อน ก็ตายเปล่า
อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ
อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ
ภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้น ใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. (๒) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลองเขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่าเสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึง ความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. (๓) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกลพึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่าเสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึง ความตกลงใจว่า เสียงสังข์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้น ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. (๔) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุข อยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน” เธอกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์” สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่ง พึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า “สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ” เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ เราระลึกได้” ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลอานิสงส์ ๔ ประการ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๕๑/๑๙๑.
รายละเอียดที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับเรื่องกรรม
รายละเอียดที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับเรื่องกรรม
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, นิทานสัมภวะแห่งกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ .... คำที่เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในนรก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษย์โลก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก). ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรมทั้งหลาย ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ. ภิกษุทั้งหลาย ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) นี้นั่นเอง คือ กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา; ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :- สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใดอริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่ง กรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง นิทานสัมภวะแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง เวมัตตตาแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง วิบากแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้; อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้ว่าเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งกรรม. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว. -บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘/๓๓๔.
ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ
ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ
ภิกษุทั้งหลาย ! ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ แม้จะร้องอยู่ว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ก็ตามที แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ ร้องเอาเองว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบางรูปในกรณีเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ แม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศอยู่ว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้ ก็ตามที แต่ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้น ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศเอาเองว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้เท่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๔/๕๒๒.