ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

 ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

ผู้ว่า...ง่าย!



ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น. ข้าแต่พระสุคต ! บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์จักทราบบัดนี้ว่า ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่. สุภูติ ! ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. (๑) สุภูติ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสุตตะมาก ทรงสุตตะ สั่งสมสุตตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดอย่างดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสุตตะมาก ... แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๓) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา (๔) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน ยอมรับฟังคำสั่งสอนโดยเคารพ. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทนยอมรับฟังคำสั่งสอนโดยเคารพ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๕) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกรณียกิจทั้งสูงและต่ำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำอาจจัดได้. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ... อาจทำ อาจจัดได้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๖) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม กล่าวคำเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้กล่าวคำอันเป็นที่รักมีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๗) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมเพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังมีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุปรารภความเพียร ... แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๘) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌานทั้ง๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌานทั้ง ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันแม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๙) อีกประการหนึ่ง ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างสามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้างห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆมีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทสด้วยอาการอย่างนี้. สุภูติ !ข้อที่ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ... เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยอาการอย่างนี้แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๑๐) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป จึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยอาการอย่างนี้. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ... ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยอาการอย่างนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. (๑๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่. สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา. -บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๖๖/๒๒๑.

ผู้มีอุปการะมาก

 ผู้มีอุปการะมาก

คุณพ่ออาวิทย์



ถูกแล้วๆ อานนท์ ! จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยะเจ้า เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-ปัจจัยเภสัชชบริขาร

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๗/๗๐๙.

นิพพานของคนตาบอด

นิพพานของคนตาบอด

จิต คดโกง หลอกลวง




    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแต่ก่อน คือข้อที่พระสมณโคดมได้กล่าวคำนี้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าก็ได้เคยฟังคำกล่าวนี้ ของปริพพาชกผู้เป็นอาจารย์แห่งอาจารย์กล่าวอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้ ด้วยเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อนี้ช่างตรงกันนัก.
    มาคัณฑิยะ ข้อนี้ท่านฟังมาแต่ปริพพาชกผู้เป็นอาจารย์แห่งอาจารย์ ที่กล่าวอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้นั้น ความไม่มีโรคนั้น เป็นอย่างไร นิพพานนั้นเป็นอย่างไร.
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาคัณฑิยปริพพาชก ได้ลูบร่างกายของตนด้วยฝ่ามือ แล้วร้องขึ้นว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ นี่ยังไงล่ะความไม่มีโรค นี่ยังไงล่ะนิพพาน พระโคดมผู้เจริญ เวลานี้ ข้าพเจ้าเป็นสุข ไม่มีโรค ไม่มีอาพาธอะไรๆ.
    มาคัณฑิยะ ข้อนี้เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่อาจเห็นรูปสีดำหรือสีขาว ไม่อาจเห็นรูปสีเขียว ไม่อาจเห็นรูปสีเหลือง ไม่อาจเห็นรูปสีแดง ไม่อาจเห็นรูปสีชมพู ไม่อาจเห็นพื้นที่อันสม่ำเสมอหรือขรุขระ ไม่อาจเห็นดวงดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เขาได้ยินคนตาดีกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนักหนอ บุรุษตาบอดนั้นก็เที่ยวแสวงหาผ้าขาว บุรุษคนหนึ่งลวงเขาด้วยผ้าเก่าเปื้อนเขม่าว่า บุรุษผู้เจริญ นี้ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนัก สำหรับท่าน บุรุษตาบอดนั้น รับผ้านั้นมาห่ม แล้วพูดออกมาด้วยความดีใจว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี้ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนักหนอ ดังนี้.
    มาคัณฑิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้นเป็นผู้รู้อยู่เห็นอยู่ แล้วรับเอาผ้าเก่าเปื้อนเขม่านั้นมาห่ม และพูดออกมาด้วยความดีใจว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี้ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนักหนอ ดังนี้ หรือว่าเขาพูดอย่างนั้น เพราะเชื่อคนตาดีที่ลวงเขา.
    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้นเป็นผู้ไม่รู้ ไม่เห็น แล้วก็รับเอาผ้าเก่าเปื้อนเขม่านั้นมาห่ม และพูดออกมาด้วยความดีใจว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี้ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนักหนอ ดังนี้ ที่เขาพูดเช่นนั้น เพราะเชื่อคนตาดีที่ลวงเขาเท่านั้น.
    มาคัณฑิยะ ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ปริพพาชกเดียรถีย์เหล่าอื่นเป็นคนบอดไม่มีจักษุ ไม่รู้จักความไม่มีโรค ไม่เห็นนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ยังมากล่าวคาถานี้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้.
    มาคัณฑิยะ คาถานี้ เป็นคาถาที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน กล่าวกันแล้วว่า
    ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษมกว่าทางทั้งหลาย ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงอมตะ ดังนี้นั้น บัดนี้ ได้มากลายเป็นคาถาของปุถุชนกล่าวไปเสียแล้ว.
    มาคัณฑิยะ กายนี้แหละเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ ท่านก็มากล่าวซึ่งกายนี้ที่เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ ว่าเป็นความไม่มีโรค เป็นนิพพาน มาคัณฑิยะ อริยจักษุสำหรับจะรู้จักความไม่มีโรค จะเห็นนิพพานของท่านไม่มี …
    ข้าพระองค์เลื่อมใสต่อท่านพระโคดมผู้เจริญอย่างนี้แล้ว ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์จะรู้จักความไม่มีโรคและเห็นนิพพานได้.
    มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่อาจเห็นรูปสีดำหรือสีขาว ไม่อาจเห็นรูปสีเขียว ไม่อาจเห็นรูปสีเหลือง ไม่อาจเห็นรูปสีแดง ไม่อาจเห็นรูปสีชมพู ไม่อาจเห็นพื้นที่อันสม่ำเสมอหรือขรุขระ ไม่อาจเห็นดวงดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เขาได้ยินคนตาดีกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนักหนอ บุรุษตาบอดนั้นก็เที่ยวแสวงหาผ้าขาว บุรุษคนหนึ่งลวงเขาด้วยผ้าเก่าเปื้อนเขม่าว่า บุรุษผู้เจริญ นี้ผ้าขาวเนื้อดี สะอาด ไม่มีมลทิน งดงามนัก สำหรับท่าน บุรุษตาบอดนั้น รับผ้านั้นมาห่มแล้ว.
    ในกาลต่อมา มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา เชิญแพทย์ผ่าตัดผู้ชำนาญมารักษา แพทย์นั้นทำยาอันถ่ายโทษในเบื้องบน ถ่ายโทษในเบื้องล่าง ยาหยอด ยากัดและยานัตถุ์ เขาอาศัยยานั้นแล้วจึงมองเห็นได้ ชำระตาให้ใสได้ พร้อมกับการที่มีตาดีขึ้นนั้น เขาย่อมละความรักใคร่พอใจในผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าเสียได้ เขาจะพึงเบียดเบียนบุรุษที่ลวงเขานั้น โดยความเป็นศัตรู โดยความเป็นข้าศึก และจะสำคัญว่าควรปลงชีวิตบุรุษนั้นด้วยความแค้น โดยกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราถูกบุรุษนี้คดโกง หลอกลวง ปลิ้นปลอกด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่า มานานหนักหนอ โดยหลอกเราว่า บุรุษผู้เจริญ นี้แหละเป็นผ้าขาวเนื้อดี เป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาดสำหรับท่าน ดังนี้.
    มาคัณฑิยะ ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเราแสดงธรรมแก่ท่านว่า อย่างนี้เป็นความไม่มีโรค อย่างนี้เป็นนิพพาน ดังนี้ ท่านจะรู้จักความไม่มีโรค จะพึงเห็นนิพพานได้ ก็ต่อเมื่อท่านละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
(ฉนฺทราโค) ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เสียได้ พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งจักษุของท่าน อนึ่ง ความรู้สึกจะพึงเกิดขึ้นแก่ท่านว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราถูกจิตนี้คดโกง หลอกลวง ปลิ้นปลอก มานานนักหนอ จึงเราเมื่อยึดมั่น ก็ยึดมั่นเอาแล้ว ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร และซึ่งวิญญาณ นั่นเทียว.
    เพราะความยึดมั่น
(อุปาทาน) ของเรานั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้.

    -บาลี ม. ม. ๑๓/๒๘๑/๒๘๗.

ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง

 ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง

จงมีตน มีธรรม เป็นประทีป เป็นสรณะ



อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า “ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี”. อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า ? สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา, สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้, ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้. อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ. อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ, มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนืองๆ อยู่     มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. อานนท์ ! ภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่ามีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตาม จักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา, ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๑๖/๗๓๖.

ลักษณะการพูดของตถาคต

ลักษณะการพูดของตถาคต

Chris Rock vs คิด ล็อค


ราชกุมาร ! ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม เลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้ รู้จักกาละที่เหมาะ เพื่อกล่าววาจานั้น. -บาลี ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔.

อบายมุข ๖ (ทางเสื่อมแห่งทรัพย์ ๖ ทาง)

 อบายมุข ๖ (ทางเสื่อมแห่งทรัพย์ ๖ ทาง)

ไม่ได้โม้



วิลล์ สมิธ ปกป้อง คุ้มครองภรรยา




คหบดีบุตร ! อริยสาวก ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๖ ทาง (อบายมุข ๖) คือ :- (๑) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์, (๒) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์, (๓) การเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา (สมชฺชาภิจรณ) เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์, (๔) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์, (๕) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์, (๖) การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์.     โทษของอบายมุขแต่ละข้อ คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มี ๖ ประการ คือ :-     (๑) ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง     (๒) ก่อการทะเลาะวิวาท     (๓) เป็นบ่อเกิดแห่งโรค     (๔) เป็นเหตุเสียชื่อเสียง     (๕) เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย     (๖) เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน มี ๖ ประการ คือ :-     (๑) ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว     (๒) ผู้นั้นชื่อว่า ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา (๓) ผู้นั้นชื่อว่า ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ     (๔) ผู้นั้นชื่อว่า เป็นที่ระแวงของคนอื่น     (๕) คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น     (๖) เหตุแห่งทุกข์เป็นอันมาก ย่อมแวดล้อมผู้นั้น คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน. คหบดีบุตร ! โทษในการเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา มี ๖ ประการ คือ :-     (๑) รำที่ไหน ไปที่นั่น     (๒) ขับร้องที่ไหน ไปที่นั่น     (๓) ประโคมที่ไหน ไปที่นั่น     (๔) เสภาที่ไหน ไปที่นั่น     (๕) เพลงที่ไหน ไปที่นั่น     (๖) เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา. คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มี ๖ ประการ คือ :-     (๑) ผู้ชนะย่อมก่อเวร     (๒) ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป     (๓) ย่อมเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน     (๔) ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น     (๕) ถูกมิตร อมาตย์หมิ่นประมาท     (๖) ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนัน ไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยาได้ คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร มี ๖ ประการ คือ :-     (๑) นำให้เป็นนักเลงการพนัน     (๒) นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้     (๓) นำให้เป็นนักเลงเหล้า     (๔) นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม (๕) นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า     (๖) นำให้เป็นคนหัวไม้ คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร. คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน มี ๖ ประการ คือ :-     (๑) ชอบอ้างว่า หนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน     (๒) ชอบอ้างว่า ร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน     (๓) ชอบอ้างว่า เวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน     (๔) ชอบอ้างว่า ยังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน     (๕) ชอบอ้างว่า หิวนัก แล้วไม่ทำการงาน     (๖) ชอบอ้างว่า กระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผลัดผ่อนการงานอยู่อย่างนี้ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความสิ้นไป. คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๖/๑๗๘.