ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อรอบรู้ทุกข์
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิศาสนาอื่น จะพึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า
“ผู้มีอายุ ! ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดม เพื่อประโยชน์อะไรเล่า ? ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชก เหล่านั้นว่า
“ผู้มีอายุ ! เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อรอบรู้ซึ่งทุกข์” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกเหล่านั้น จะพึงถามต่อไปว่า “ผู้มีอายุ ! ก็ทุกข์ซึ่งท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดม เพื่อจะรอบรู้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้อีกแล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชกเหล่านั้นต่อไปว่า “ผู้มีอายุ ! ตา เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้ตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. รูป เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้รูป ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. ความรู้แจ้งทางตา เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคก็เพื่อรอบรู้ความรู้แจ้งทางตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. สัมผัสทางตา เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้สัมผัสทางตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น, เวทนาที่เกิดขึ้น เพราะสัมผัสทางตาเป็นปัจจัย เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ตาม ก็เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้เวทนาเช่นนั้น ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. (ในกรณีที่เกี่ยวกับอายตนะภายใน ภายนอก วิญญาณ สัมผัส และ เวทนา อีก ๕ หมวดนั้น ก็ตรัสทำนองเดียวกับหมวดแรกนี้). ผู้มีอายุ ! เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคนี้ก็เพื่อรอบรู้ซึ่งทุกข์” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชก ผู้ถือลัทธิศาสนาอื่นเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้แล. - สฬา. สํ. ๑๘/๑๗๒/๒๓๘.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น