ลักษณะของผู้มีสติและสัมปชัญญะ

 ลักษณะของผู้มีสติและสัมปชัญญะ

วันตรุษจีน 65



ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสติเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้; เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ...; เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ ...; เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ.


-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๖๐/๓๗๔.

ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อรอบรู้ทุกข์

 ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อรอบรู้ทุกข์

บวชทำไม? บวชเพื่ออะไร?



ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิศาสนาอื่น จะพึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า
“ผู้มีอายุ ! ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดม เพื่อประโยชน์อะไรเล่า ? ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชก เหล่านั้นว่า
“ผู้มีอายุ ! เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อรอบรู้ซึ่งทุกข์” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกเหล่านั้น จะพึงถามต่อไปว่า “ผู้มีอายุ ! ก็ทุกข์ซึ่งท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดม เพื่อจะรอบรู้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้อีกแล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชกเหล่านั้นต่อไปว่า “ผู้มีอายุ ! ตา เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้ตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. รูป เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้รูป ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. ความรู้แจ้งทางตา เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคก็เพื่อรอบรู้ความรู้แจ้งทางตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. สัมผัสทางตา เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้สัมผัสทางตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น, เวทนาที่เกิดขึ้น เพราะสัมผัสทางตาเป็นปัจจัย เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ตาม ก็เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้เวทนาเช่นนั้น ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. (ในกรณีที่เกี่ยวกับอายตนะภายใน ภายนอก วิญญาณ สัมผัส และ เวทนา อีก ๕ หมวดนั้น ก็ตรัสทำนองเดียวกับหมวดแรกนี้). ผู้มีอายุ ! เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคนี้ก็เพื่อรอบรู้ซึ่งทุกข์” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชก ผู้ถือลัทธิศาสนาอื่นเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้แล. - สฬา. สํ. ๑๘/๑๗๒/๒๓๘.

คู่บุพเพสันนิวาส

 คู่บุพเพสันนิวาส

คู่รักในรถแดง



ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ. ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.


-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๑/๕๖.

การปรินิพพาน

 การปรินิพพาน

เกิดเป็นลูกคนรวย



สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่, ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต, ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด; ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น. วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว, เราจักละพวกเธอไป. สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล เป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด. ในธรรมวินัยนี้, ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๑/๑๐๘.

ความเป็นไปได้ยาก

 ความเป็นไปได้ยาก

เศษดินปลายเล็บ



ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนั้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งส่วนเสี้ยว. ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นสัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับไปเกิดในหมู่มนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า โดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ :- อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า :- ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้.     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนั้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งส่วนเสี้ยว. ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับไปเกิดในหมู่เทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า โดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ :- อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า :- ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้.


-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๖/๑๗๙๒

เหตุให้ได้ความเป็นผู้มีรูปงาม มีทรัพย์มากและสูงศักดิ์

 เหตุให้ได้ความเป็นผู้มีรูปงาม

มีทรัพย์มากและสูงศักดิ์

#RealFactBeauty



มัลลิกา ! มาตุคามบางคนในโลกนี้ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่าแม้มากก็ไม่ขัดเคืองไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ เป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์และเป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉา ในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์.


-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๗๘/๑๙๗.

เหตุให้ทุคติปรากฏ

 เหตุให้ทุคติปรากฏ

สึกแล้วจะทำอะไรก็ได้! ไม่ด้าย!!



จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :- (๑) เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต (๒) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย (๓) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น

จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :- (๑) เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้ บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวไม่เห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่นหรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ (๒) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจยินดี เพลิดเพลินในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก

(๓) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น (๔) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล ไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :- (๑) เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้ (๒) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้าย ว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้เป็นต้น

(๓) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล) , ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) , การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) , ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้ จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง. จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถสิบ. จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้งสิบประการเหล่านี้เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏ หรือว่าทุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี. ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในนรก.

(สูตรอื่นๆ แทนที่จะนับจำนวนกรรมบถมี ๑๐ ได้ทรงขยายออกไปเป็น ๒๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำอีกสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๓๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๔๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ สรรเสริญผู้กระทำสิบ ; จึงมีกรรมบถ สิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ. ทสก. อํ. ๒๔/๓๕๒–๓๓๒/๑๙๘–๒๐๑. ในสูตรอื่น แสดงผลแห่งการกระทำแปลกออกไป จากคำว่า “เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ในนรก” นั้น ทรงแสดงด้วยคำว่า “เป็นผู้ขุดรากตนเอง” ก็มี, “ตายแล้วไปทุคติ” ก็มี, “เป็นพาล” ก็มี.ทสก. อํ. ๒๔/๓๓๒-๓๓๓/๒๐๒–๒๐๓.)


-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๕/๑๖๕. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๐๕/๑๘๙.