หลักปฏิบัติต่อคำสอนของสัมมาสัมพุทธะ

 หลักปฏิบัติต่อคำสอนของสัมมาสัมพุทธะ

แม่ค้าโนบรา แม่ค้าโนอุกกาจิตวินีตา



ภิกษุทั้งหลาย ! สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร มีความหมายกี่นัย” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้ ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้ ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ปฏิปุจฉาวินีตา ปริสา โน อุกกาจิตวินีตา.


        -บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.


เจริญสมาธิให้ได้อย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง

ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวร้านตลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ เป็นผู้ควรเพื่อจะได้ผลกำไรที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำผลกำไรที่ได้รับอยู่แล้ว ให้งอกงามออกไป. ๓ ประการ อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ ประการ คือ :- ชาวร้านตลาด ในกรณีนี้ ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุดในเวลาเช้า; ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุดในเวลากลางวัน; ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุดในเวลาเย็น. ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวร้านตลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการเหล่านี้แล เป็นผู้ควรเพื่อจะได้ผลกำไรที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำผลกำไรที่ได้รับอยู่แล้ว ให้งอกงามออกไป นี้ฉันใด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้ควรเพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้ว ให้งอกงามยิ่งขึ้นไป. ๓ ประการ อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ ประการ คือ :- ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลาเช้า; ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลากลางวัน; ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลาเย็น. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้นไป.


-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๔๕/๔๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น