ภัทเทกรัตตสูตร

 ภัทเทกรัตตสูตร

ผู้มีราตรีหนึ่งยอดวิวเจริญ




[๕๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่ มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ฯ [๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ รำพึงถึง ความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้วได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ

[๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึง ความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไรคือ รำพึงถึง ความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคตพึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ ไม่รำพึง ถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง [๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็น อัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูป บ้าง ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้างเล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้างย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความ เป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง ไม่เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง ไม่เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง ไม่เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตา ในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไป แล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคล ใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยน กับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความ เพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวไว้ว่า เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลายนั้น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล ฯ จบ ภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๑

    พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔ 
    สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์.  หน้าที่ ๒๖๕. ข้อที่ ๕๒๖ - ๕๒๗

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 กันยายน 2564 เวลา 00:22

    อุเทศและวิภังค์ คือยกแสดงและจำแนก

    ตอบลบ