พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ มีสามประเภท

 พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ

มีสามจำพวก(ประเภท)

ย้ายประเภทกันเถอะ



     ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม
เป็นผู้สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
     (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม
เป็นผู้โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
     (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม
เป็นผู้เป็นเอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๙/๕๒๗.


ความลดหลั่นแห่งพระอริยบุคคล ผู้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน

ภิกษุทั้งหลาย ! สิกขาบทร้อยห้าสิบสิกขาบทนี้ ย่อมมาสู่อุทเทส ทุกกึ่งแห่งเดือนตามลำดับ อันกุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! สิกขาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่ อันเป็นที่ประชุมลงของสิกขาบททั้งปวงนั้น. สิกขาสามอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สิกขาสามอย่าง อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวงนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใดๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้น เพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อย และการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วนสิกขาบทเหล่าใดที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้วจวนถึงที่สุด.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอดอซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปถึงอกนิฏฐภพ. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เบาบางน้อยลง เป็น สกทาคามี ยังจะมาสู่เทวโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ เอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้กระทำได้เพียงบางส่วนย่อมทำให้สำเร็จได้บางส่วน, ผู้ทำให้บริบูรณ์ก็ย่อมทำให้สำเร็จได้บริบูรณ์; ดังนั้น เราจึงกล่าวว่า สิกขาบททั้งหลาย ย่อมไม่เป็นหมันเลย, ดังนี้ แล.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๐๑/๕๒๘.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ๑. ถ้าพิจารณาจนจบเรื่องจะเห็นประเด็นแง่มุมของผลที่ได้ไม่เท่ากัน เกิดเนื่องจากความบกพร่องในสิกขาบทเล็กน้อย (อภิสมาจาร) ของเธอซึ่งไม่มีผู้รู้ใดๆ มาบอกเธอถึงความอาภัพต่อโลกุตตรธรรมเพราะการกระทำนั้น พวกที่กำลัง (พละ) ยังไม่แก่กล้าจึงไม่สามารถทำให้เกิดมีหรือแทงตลอดซึ่งอนาสววิมุตติได้ จึงมีความลดหลั่นกันออกไปในระดับความเป็นอริยบุคคล พระองค์จึงสรุปปิดท้ายว่า สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัตินั้น มิได้เปล่าประโยชน์เลย. ๒. แสดงถึงความบริบูรณ์ของสิกขาบทอันเพียงพอต่อความเป็นอริยบุคคลที่ทรงหมายถึง ก็คือ ปาฏิโมกข์ (คือสิกขาบทที่บัญญัติเพื่อเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น