ความต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้ไม่ให้

ความต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้ไม่ให้

ฉลามไม่ชอบงับคุณ ส่วนผมชอบทำบุญงับ






ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน



    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งเป็นผู้ไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน จักมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! คนทั้งสองนั้นจักมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์.
    สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์.
    สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
    (๑) เธอใช้สอยจีวร ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๒) เธอฉันบิณฑบาต ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ฉันนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๓) เธอใช้สอยเสนาสนะ ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๔) เธอบริโภคยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้บริโภคนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๕) เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใดเพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! ข้อนี้ เราไม่กล่าวว่า มีความพิเศษแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติกับวิมุตติ.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้กำหนดได้ว่า บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
    อย่างนั้น สุมนา ! อย่างนั้น สุมนา ! บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.

    (คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

    ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ (การบริจาค)
    เมฆที่ลอยไปตาม อากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคะ ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ดังนี้.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๔/๓๑.

โสดาปัตติมรรค ๒ จำพวก

โสดาปัตติมรรค ๒ จำพวก

ไม่พร้อมทำกาละ




    สัทธานุสารี
    ภิกษุทั้งหลาย ! ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นปกติ มีความเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเป็นปกติ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลใด มีความเชื่อ น้อมจิตไปในธรรม ๖ อย่างนี้ ด้วยอาการอย่างนี้;
    บุคคลนี้เราเรียกว่าเป็น สัทธานุสารี หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระบบแห่งความถูกต้อง) หยั่งลงสู่สัปปุริสภูมิ (ภูมิแห่งสัตบุรุษ) ล่วงพ้นบุถุชนภูมิ ไม่อาจที่จะกระทำกรรม อันกระทำแล้วจะเข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉาน หรือเปรตวิสัย และไม่ควรที่จะทำกาละก่อนแต่ที่จะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.

    ธัมมานุสารี

    ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ ทนต่อการเพ่งโดยประมาณอันยิ่งแห่งปัญญาของบุคคลใด ด้วยอาการอย่างนี้;
    บุคคลนี้เราเรียกว่า ธัมมานุสารี หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระบบแห่งความถูกต้อง) หยั่งลงสู่สัปปุริสภูมิ (ภูมิแห่งสัตบุรุษ) ล่วงพ้นบุถุชนภูมิ ไม่อาจที่จะกระทำกรรม อันกระทำแล้วจะเข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉาน หรือเปรตวิสัย และไม่ควรที่จะทำกาละก่อนแต่ที่จะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.

    -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๓๔/๑๔๓๑., -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙.

    ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลใดย่อมรู้ ย่อมเห็นซึ่งธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ ด้วยอาการอย่างนี้ (ตามที่กล่าวแล้วในโสดาปัตติมรรค ๒ จำพวก มีการเห็นความไม่เที่ยงเป็นต้น); บุคคลนี้เราเรียกว่า โสดาบัน (ผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส) ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า.
    
    สูตรข้างบนนี้ (ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙.) ทรงแสดงอารมณ์แห่งอนิจจังเป็นต้น ด้วยธรรม ๖ อย่าง คือ อายตนะภายในหก; ในสูตรถัดไปทรงแสดงอารมณ์นั้น ด้วยอายตนะภายนอกหก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็มี, แสดงด้วยวิญญาณหก ก็มี, ด้วยสัมผัสหก ก็มี, ด้วยเวทนาหก ก็มี, ด้วยสัญญาหก ก็มี, ด้วยสัญเจตนาหก ก็มี, ด้วยตัณหาหก ก็มี, ด้วยธาตุหก ก็มี, และด้วยขันธ์ห้า ก็มี; ทรงแสดงไว้ด้วยหลักการปฏิบัติอย่างเดียวกัน.

    สารีบุตร ! อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้นั่นแหละ ชื่อว่า กระแส ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
    
    -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙

อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ

อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ


        เราระลึกได้



    ภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการ อย่างไรเล่า ?
    ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
    ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใดนี้ คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลองเขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียวฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้
    ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกลพึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่าเสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
    ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ย่อมระลึกได้หรือว่าเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน” เธอกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์” สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่งพึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า “สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นั้นได้หรือ” เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้” ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลอานิสงส์ ๔ ประการ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.

    -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๘/๑๙๑.



วิบากของผู้ทุศีล

 วิบากของผู้ทุศีล

หยาบคาย



    ภิกษุทั้งหลาย ! ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อมีอายุสั้น.
    ภิกษุทั้งหลาย ! อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งโภคะ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อก่อเวรด้วยศัตรู.
    ภิกษุทั้งหลาย ! มุสาวาท (คำเท็จ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ปิสุณวาท (คำยุยงให้แตกกัน) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งปิสุณวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการแตกจากมิตร.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! สัมผัปปลาปะ (คำเพ้อเจ้อ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งสัมผัปปลาปะของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อวาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า (อุมฺมตฺตก).

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๕๑/๑๓๐.


ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายแม้แต่พระอรหันต์


    ภิกษุทั้งหลาย ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า.
    ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าว “ลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย แม้แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว” ดังนี้.
    ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้, ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามขึ้นว่า “ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายแก่ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ชนิดไรเล่า พระเจ้าข้า ?” ดังนี้.
    อานนท์ ! เราหาได้กล่าวลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตรายต่อเจโตวิมุตติอันไม่กลับกำเริบแล้วไม่.
    อานนท์ ! แต่เรากล่าวลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตรายต่อการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้ ซึ่งภิกษุผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในธรรมเครื่องสงบ ได้ลุถึงแล้ว.
    อานนท์ ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคายต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้.
    อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา” ดังนี้.
    อานนท์ ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๘๐/๕๘๐.

มีสุตะเหมือนมีอาวุธ

มีสุตะเหมือนมีอาวุธ

Berserk มีสุตะเหมือนมีอาวุธ




    ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีอาวุธอันสั่งสมไว้เป็นอันมาก ทั้งชนิดที่ใช้ประหารใกล้ตัวและประหารไกลตัว สำหรับคุ้มภัยในภายในและป้องกันในภายนอก, นี้ฉันใด;
    ภิกษุ ท. ! อริยสาวกก็มีสุตะ อันตนสดับแล้วมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ, ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ที่เป็นการประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ, ธรรมมีรูปเห็นปานนั้น อันเขาสดับแล้วมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ.
    ภิกษุ ท. ! อริยสาวกผู้ มีสุตะเป็นอาวุธ ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมอันมีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดอยู่, ฉันนั้นเหมือนกัน

    - สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๐๙/๑๑๓/๖๔.

กัลยณมิตร คือ อริยมรรค

 กัลยณมิตร คือ อริยมรรค


มิตรอยู่นี่เว้ย



อานนท์ ! ภิกษุผู้ชื่อว่า มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคมีองค์แปด โดยอาการอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญ ทำให้มากซึ่งสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ชนิดที่วิเวกอาศัยแล้ว ชนิดที่วิราคะอาศัยแล้ว ชนิดที่นิโรธอาศัยแล้ว ชนิดที่น้อมไปรอบเพื่อการสลัดคืน. อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญ ทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคมีองค์แปด. อานนท์ ! ข้อนั้นเธอพึงทราบโดยปริยายอันนี้เถิด คือว่า พรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั่นเทียว ได้แก่ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี, ดังนี้.

อานนท์ ! จริงทีเทียว, สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นหมดจากชาติ, ผู้มีความแก่ชรา ความเจ็บป่วยความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความแห้งผากใจ เป็นธรรมดา ครั้นได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นหมดจากชาติ, ความแก่ชรา ความเจ็บป่วย ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความแห้งผากใจ. อานนท์ ! ข้อนั้น เธอพึงทราบโดยปริยายอันนี้เถิด คือว่า พรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั่นเทียว ได้แก่ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี, ดังนี้.

-บาลี สคา. สํ. ๑๕/๑๒๗/๓๘๓.

กระจกเงา

 กระจกเงา

กระจกเงา ราหุล



รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม




ราหุล ! กระจกเงามีไว้สำหรับทำอะไร ?” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! กระจกเงามีไว้สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า ! ”. ราหุล ! กรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่บุคคลควรสอดส่องพิจารณาดูแล้วดูเล่าเสียก่อน จึงทำลงไปทางกาย, ทางวาจา หรือ ทางใจ ฉันเดียวกับกระจกเงานั้นเหมือนกัน”.

-บาลี ม. ม. ๑๓/๑๒๕/๑๒๘


วินิจฉัยกรรม

เมื่อจะกระทำ

ราหุล ! เธอใคร่จะทำกรรมใดด้วยกาย พึงพิจารณากรรมนั้นเสียก่อนว่า “กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้, เธอ ไม่พึงกระทำกายกรรมชนิดนั้นโดยถ่ายเดียว. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ไซร้. ราหุล ! เธอพึงกระทำกายกรรมชนิดนั้น.

เมื่อกระทำอยู่

ราหุล ! เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายอยู่ พึงพิจารณากรรมนั้นว่า “กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้, เธอพึงเลิกละกายกรรมชนิดนั้นเสีย. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ไซร้. ราหุล ! เธอพึงเร่งเพิ่มการกระทำกายกรรมชนิดนั้น.

เมื่อกระทำแล้ว

ราหุล ! เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายแล้ว พึงพิจารณากรรมนั้น ว่า“กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้, เธอพึงแสดง พึงเปิดเผย พึงกระทำให้เป็นของหงายซึ่งกายกรรมนั้น ในพระศาสนาหรือในเพื่อนสพรหมจารี ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย, ครั้นแสดง ครั้นเปิดเผย ครั้นกระทำให้เป็นของหงายแล้ว พึงถึงซึ่งความระวังสังวรต่อไป. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ ไซร้.

ราหุล ! เธอพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด. (ในกรณีแห่ง วจีกรรม และ นโนกรรม ก็ตรัสไว้โดยมีนัยยะอย่างเดียวกัน)

-บาลี ม. ม. ๑๓/๑๒๘/๑๓๐.

วาจาของสะใภ้ใหม่

 วาจาของสะใภ้ใหม่

วาจาสะใภ้ใหม่



ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนหญิงสะใภ้ใหม่ อันเขาเพิ่งนำมาชั่วคืนชั่ววัน ตลอดเวลาเท่านั้น ก็ยังมีความละอายและความกลัวที่ดำรงไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ในแม่ผัวบ้าง ในพ่อผัวบ้าง ในสามีบ้าง แม้ที่สุดแต่ในทาสกรรมกรคนใช้. ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน หญิงสะใภ้นั้น ก็ตวาดแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง แม้แต่ กะสามี ว่า “หลีกไปๆ พวกแกจะรู้อะไร” นี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือนได้ชั่วคืนชั่ววัน ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น หิริและโอตตัปปะของเธอนั้นยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง ในภิกษุ ในภิกษุณี ในอุบาสก ในอุบาสิกา แม้ที่สุดแต่ในคนวัดและสามเณร. ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน เธอก็กล่าว ตวาดอาจารย์บ้าง อุปัชฌาย์บ้างว่า “หลีกไปๆ พวกท่านจะรู้อะไร” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายพึงทำการฝึกหัดศึกษาอย่างนี้ว่า “เราจักอยู่อย่างมีจิตเสมอกันกับหญิงสะใภ้ใหม่ผู้มาแล้วไม่นาน” ดังนี้.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๐/๗๓. -บาลี ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔.

พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ มีสามประเภท

 พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ

มีสามจำพวก(ประเภท)

ย้ายประเภทกันเถอะ



     ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม
เป็นผู้สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
     (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม
เป็นผู้โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
     (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม
เป็นผู้เป็นเอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๙/๕๒๗.


ความลดหลั่นแห่งพระอริยบุคคล ผู้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน

ภิกษุทั้งหลาย ! สิกขาบทร้อยห้าสิบสิกขาบทนี้ ย่อมมาสู่อุทเทส ทุกกึ่งแห่งเดือนตามลำดับ อันกุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! สิกขาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่ อันเป็นที่ประชุมลงของสิกขาบททั้งปวงนั้น. สิกขาสามอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สิกขาสามอย่าง อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวงนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใดๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้น เพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อย และการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วนสิกขาบทเหล่าใดที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้วจวนถึงที่สุด.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอดอซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปถึงอกนิฏฐภพ. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เบาบางน้อยลง เป็น สกทาคามี ยังจะมาสู่เทวโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ เอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้กระทำได้เพียงบางส่วนย่อมทำให้สำเร็จได้บางส่วน, ผู้ทำให้บริบูรณ์ก็ย่อมทำให้สำเร็จได้บริบูรณ์; ดังนั้น เราจึงกล่าวว่า สิกขาบททั้งหลาย ย่อมไม่เป็นหมันเลย, ดังนี้ แล.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๐๑/๕๒๘.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ๑. ถ้าพิจารณาจนจบเรื่องจะเห็นประเด็นแง่มุมของผลที่ได้ไม่เท่ากัน เกิดเนื่องจากความบกพร่องในสิกขาบทเล็กน้อย (อภิสมาจาร) ของเธอซึ่งไม่มีผู้รู้ใดๆ มาบอกเธอถึงความอาภัพต่อโลกุตตรธรรมเพราะการกระทำนั้น พวกที่กำลัง (พละ) ยังไม่แก่กล้าจึงไม่สามารถทำให้เกิดมีหรือแทงตลอดซึ่งอนาสววิมุตติได้ จึงมีความลดหลั่นกันออกไปในระดับความเป็นอริยบุคคล พระองค์จึงสรุปปิดท้ายว่า สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัตินั้น มิได้เปล่าประโยชน์เลย. ๒. แสดงถึงความบริบูรณ์ของสิกขาบทอันเพียงพอต่อความเป็นอริยบุคคลที่ทรงหมายถึง ก็คือ ปาฏิโมกข์ (คือสิกขาบทที่บัญญัติเพื่อเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์).

ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

 ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะ

จากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

ฟังหมอไม่ฟังหมา



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.

ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.,

การรู้ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักการพยากรณ์อรหัตตผล

การรู้ปฏิจจสมุปบาท
เป็นหลักการพยากรณ์อรหัตตผล

เวทนาประชุมในทุกข์



ภิกษุกฬารขัตติยะ เข้าไปหาพระสารีบุตร ได้เล่าเรื่องที่พระโมลิยผัคคุนะผู้ลาสิกขาเวียนมาเป็นฆราวาส ให้พระสารีบุตรฟัง พระสารีบุตรกล่าวว่าที่พระโมลิยผัคคุนะลาสิกขาไปนั้น ต้องเป็นเพราะไม่ได้ความมั่นใจ ในธรรมวินัยนี้เป็นแน่ เมื่อได้ฟังดังนั้น ภิกษุกฬารขัตติยะ จึงได้ย้อนถามถึงความรู้สึกส่วนตัว พระสารีบุตรเองว่าท่านได้ความมั่นใจ ในธรรมวินัยแล้วหรือ พระสารีบุตร ได้ตอบว่า เราไม่มีกังขาในข้อนี้เลย ภิกษุกฬารขัตติยะ ได้ถามอีกว่า แล้วในกาลต่อไปข้างหน้าเล่า พระสารีบุตรตอบว่า เราไม่ลังเลสงสัยเลย ภิกษุกฬารขัตติยะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลกล่าวหาพระสารีบุตรว่าพยากรณ์อรหัตตผลว่าตนมีชาติสิ้นแล้วเป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้รับสั่งให้เรียกหา พระสารีบุตรมาแล้วตรัสถามว่า:-

ดูก่อนสารีบุตร ! ได้ยินว่า เธอพยากรณ์อรหัตตผลว่า “เราย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว, กิจอื่น ที่ต้องปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก’ ดังนี้ จริงหรือ ?”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เนื้อความโดยบทและโดยพยัญชนะทั้งหลายเช่นนั้น ข้าพระองค์มิได้กล่าวแล้ว พระเจ้าข้า !”

ดูก่อนสารีบุตร ! กุลบุตรย่อมพยากรณ์อรหัตตผล ได้โดยปริยายแม้ต่าง ๆ กันเมื่อเป็นดังนั้น ประชาชนทั้งหลาย ก็ย่อมเห็นการพยากรณ์โดยปริยายใด ปริยายหนึ่งนั้น ว่าเป็นอรหัตตผลที่กุลบุตรนั้นพยากรณ์แล้ว. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ข้าพระองค์ได้กราบทูลแล้วมิใช่หรือว่า เนื้อความมีอรรถ และพยัญชนะทั้งหลายเช่นนั้น ข้าพระองค์มิได้กล่าวแล้ว”. ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธออย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่าน สารีบุตร ! ท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว, กิจที่ต้องปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น อย่างนี้ มิได้มีอีก’ ดังนี้” ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! ชาติ มีสิ่งใดเป็นเหตุ เมื่อชาติสิ้นเพราะความสิ้นแห่งเหตุนั้น ข้าพเจ้ารู้ว่าชาติสิ้นแล้ว ดังนี้ จึงรู้ว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก’ ดังนี้’. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”.

ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไป) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! ก็ชาติ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด (นิทาน) ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด (สมุทย)? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด (ชาติก)? มีอะไรเป็นแดนเกิด (ปภว)เล่า ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! ชาติ มีภพเป็นเหตุให้เกิด มีภพเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีภพ เป็นเครื่องกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด’. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! ก็ภพเล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! ภพ มีอุปาทานเป็นเหตุให้เกิด มีอุปาทานเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีอุปาทานเป็นเครื่องกำเนิด มีอุปาทานเป็นแดนเกิด’. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”.
ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) ว่า “ข้าแต่ท่าน สารีบุตร ! ก็ อุปาทาน เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! อุปาทาน มีตัณหาเป็นเหตุให้เกิด มีตัณหาเป็นเครื่องก่อให้เกิดมีตัณหา เป็นเครื่องกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด'. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! ก็ ตัณหา เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุให้เกิด มีตัณหาเป็นเครื่องก่อให้เกิดมีตัณหาเป็นเครื่องกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด'. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! ก็ เวทนา เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุให้เกิด มีผัสสะเป็นเครื่องก่อให้เกิดมีผัสสะเป็นเครื่องกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด’. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! เมื่อท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร นันทิ (กิเลสเป็นเหตุ ให้รู้สึกเพลิน) จึงจะไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เวทนาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่; สามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า ‘เวทนา ทั้ง อย่างนั้น เป็นของไม่เที่ยง; สิ่งใดเป็นของไม่เที่ยง, สิ่งนั้น ล้วนเป็นทุกข์’ ดังนี้ ; เพราะรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ นันทิ จึงไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย’ . ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ปริยายที่เธอกล่าวนี้ ก็เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งเนื้อความนั้นแหละ แต่โดยย่อ ว่า “เวทนาใดๆ ก็ตาม เวทนานั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์” ดังนี้.

ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! เพราะอาศัยวิโมกข์อย่างไหน ท่านจึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ปริยายที่เธอกล่าวนี้ ก็เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งเนื้อความนั้นแหละ แต่โดยย่อ ว่า “เวทนาใดๆ ก็ตาม เวทนานั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์” ดังนี้.

ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! เพราะอาศัยวิโมกข์อย่างไหน ท่านจึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำ ได้ทำ เสร็จแล้ว, กิจอื่น ที่ต้องปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก', ดังนี้” ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เพราะอาศัยอัชฌัตตวิโมกข์,๑ เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง, เราจึงเป็นผู้มีสติอยู่ ในลักษณะที่อาสวะทั้งหลาย จะไหลไปตามไม่ได้; อนึ่ง เราย่อมไม่ดูหมิ่นซึ่งตนเองด้วย’ ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ปริยายที่เธอกล่าวนี้ ก็เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งเนื้อความนั้นแหละ แต่โดยย่อว่า “ข้าพเจ้าไม่ข้องใจในอาสวะทั้งหลาย ที่พระสมณะกล่าวแล้ว และข้าพเจ้า ไม่ลังเลสงสัยว่าอาสวะทั้งหลายเหล่านั้น ข้าพเจ้าละแล้วหรือยัง” ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าสู่วิหารที่ประทับส่วนพระองค์

กฬารขัตติยวรรค นิทานสังยุตต์ นิทาน. สํ. ๑๖/๖๐/๑๐๖, ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่เชตวัน.

ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกรัตนะ

ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกรัตนะ

อย่างไหนที่คุณจะสนับสนุน



ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก
ธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
   (๑) เป็นผู้มีศรัทธา
   (๒) เป็นผู้มีศีล
   (๓) ไม่เป็นผู้ถือโกตุหลมงคล เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
   (๔) ไม่แสวงหาผู้ควรรับทักษิณาภายนอกศาสนานี้
   (๕) ทำการสนับสนุนในศาสนานี้
ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล
ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๓๐/๑๗๕.


    ต่อจากนี้เป็นพระสูตรที่ผู้รวมรวมเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องและเป็นผลต่อการ
“ทำการสนับสนุนในศาสนานี้” จึงได้นำมาใส่ไว้ให้ได้อ่านกันด้วย

ตามรอยธรรม


ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่อง
สุญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่า เป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร มีความหมายกี่นัย ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้ ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้.


วาเสฏฐะ ! พวกเธอแล มีชาติต่างกัน มีนามต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีสกุลต่างกัน ออกบวชจากเรือนเป็นผู้ไม่หวังเกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว เมื่อถูกเขาถามว่า “พวกท่านเป็นใคร ?” ดังนี้ พวกเธอก็ปฏิญาณว่า “เราทั้งหลาย เป็นสมณสากยปุตติยะ”ดังนี้. อนึ่ง ศรัทธาของผู้ใดแลตั้งมั่นในตถาคต ฝังลงรากแล้ว ดำรงอยู่ได้มั่นคง อันสมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกก็ตาม ไม่ชักนำไปทางอื่นได้ ผู้นั้นควรที่จะกล่าวอย่างนี้ว่า “เราเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดโดยธรรม เนรมิตโดยธรรม เป็นทายาทโดยธรรม”ดังนี้.


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอเป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม; 
ชนเหล่านั้น อันเธอพึง ชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง. ความจริงอันประเสริฐ
สี่ประการ อะไรเล่า ? สี่ประการคือ ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์, 
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนิน 
ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.


สุภัททะ ! ในธรรมวินัยนี้แล มีอริยมรรคมีองค์ ๘... ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตาม จักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุดแล.


...พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน เพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ...จงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในเบื้องปลาย ...ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่ ... .


-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๑/๒๙๒., -บาลี ปา. ที. ๑๑/๙๑/๕๕., -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖. -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๕/๑๓๘. , -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๑๗/๗๔๐. , -บาลี มหา. วิ. ๔/๓๙/๓๒.


ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

มหาราช ! อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก
ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า
ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ
ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ
ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก
เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร
เป็นหมอทายเสียงสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ
ด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

-บาลี สามัญผลสูตร สี. ที. ๙/๘๙/๑๑๔.