จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน จิตไม่มีตัณหา เรียกว่าอยู่คนเดียว

 จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน จิตไม่มีตัณหา เรียกว่าอยู่คนเดียว

ผู้อยู่อย่างมีเพื่อนสอง



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”. มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจมีอยู่. ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้; แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. เมื่อ นันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี; เมื่อ สาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี :

มิคชาละ ! ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”. (ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้มีนัยยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ). มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์ เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้ว ก็ตาม, ถึงกระนั้น ภิกษุนั้น เราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น เราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว พระเจ้าข้า ?”. มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่, ถ้าหากว่าภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้, แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้น นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมดับ; เมื่อ นันทิ ไม่มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมไม่มี; เมื่อ สาราคะ ไม่มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมไม่มี : มิคชาละ ! ภิกษุผู้ ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน (นันทิ) นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”.

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้มีนัยยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ). มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้อยู่ในหมู่บ้าน อันเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย, ด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย, ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ตาม; ถึงกระนั้น ภิกษุนั้น เราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ละเสียได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น เราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”, ดังนี้ แล.


-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๓/๖๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น