ประกาศพระศาสนา

ประกาศพระศาสนา

วันแรงงาน



ภิกษุ ท. ! ตถาคต เป็นผู้ พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์, แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็ พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์. ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่อความเอ็นดูแก่โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. อย่าไปทางเดียวกันถึงสองรูป. ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงแสดงธรรม ให้งดงามในเบื้องต้นให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในเบื้องปลาย, จงประกาศแบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย ก็มีอยู่, สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม, สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่. ภิกษุ ท. ! แม้เราเอง ก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.


บาลี พระพุทธภาษิต มหา. วิ. ๔/๓๙/๓๒

ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ

 ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ

ละความห่วงใย64



[๑๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้น ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน พระเจ้ามหานามศากยราช ได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ยินมาว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้หม่อมฉัน ยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้รับมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก. [๑๖๒๘] พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า ท่านจงเบาใจเถิดว่าท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ. [๑๖๒๙] ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว พึงถามอย่างนี้ว่า ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว. [๑๖๓๐] อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในบุตรและภริยาของเราแล้ว
[๑๖๓๑] อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อัน เป็นของมนุษย์อยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็นของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว. [๑๖๓๒] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า ประณีต กว่า พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ... พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นนิมมานรดี ... พรหมโลกยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้วน้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว. [๑๖๓๓] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่ เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับสักกายะเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสก ผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี คือ พ้นด้วยวิมุติเหมือนกัน. จบ สูตรที่ ๔


ระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
หน้าที่ ๔๐๖    ข้อที่ ๑๖๒๗ - ๑๖๒๘

อะไรคือเดรัจฉานวิชา

 อะไรคือเดรัจฉานวิชา

อาลัว



มหาราช ! อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศัสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค {๑} .

๑. เนื้อ, สัตว์ป่า มีกวาง อีเก้ง เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่าพระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ.
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักโคจรผิดทาง ดาวนักษัตรจักโคจรถูกทาง ดาวนักษัตรจักโคจรผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร จักขึ้น จักตก จักมัวหมอง จักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง กระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิต
โดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีอาหารหาได้ง่าย จักมีอาหารหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือคำนวณฤกษ์ยาม คำนวณดวงชะตา จับยาม แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ {๑} . อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล {๒} . ให้ฤกษ์วิวาหมงคล {๓} . ดูฤกษ์เรียงหมอน {๔} . ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอ
ทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาแก้ลมตีขึ้นเบื้องบน ปรุงยาแก้ลมตีลงเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทาให้กัด ปรุงยาทาให้สมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล.

๑. สอนตำราว่าด้วยทางโลก ๒. ‘การพาหญิงมาอยู่บ้านของตน’ หมายถึง การแต่งงานแบบหนึ่งที่ฝ่ายชายจะนําหญิงที่ตนแต่งงานด้วยมาอยู่ที่บ้านของตน เรียกว่า อาวาหมงคล เป็นประเพณีแต่งงานที่นิยมปฏิบัติกันในประเทศอินเดียฝ่ายเหนือ ๓. ‘การพาออกไป’ หมายถึง การแต่งงานแบบหนึ่งที่ฝ่ายชายจะต้องถูกนําไปอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง เรียกว่า วิวาหมงคล เป็นประเพณีแต่งงานที่นิยมปฏิบัติกันในประเทศอินเดียฝ่ายใต้ การแต่งงานตามประเพณีไทย ไม่ว่าฝ่ายหญิงจะไปอยู่ที่บ้านฝ่ายชาย หรือฝ่ายชายจะไปอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง หรือจะแยกไปอยู่ตามลําพัง ก็เรียกว่า วิวาหะ หรือ วิวาหมงคล ทั้งสิ้น ๔. พิธีตอนหนึ่งในการแต่งงาน ผู้ถือฤกษ์ยามมักถือว่า เมื่อหนุ่มสาวเข้าสู่พิธีแต่งงานจะต้องนอนคู่กันบนเตียงพอเป็นพิธี เรียกว่า เรียงหมอน

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน จิตไม่มีตัณหา เรียกว่าอยู่คนเดียว

 จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน จิตไม่มีตัณหา เรียกว่าอยู่คนเดียว

ผู้อยู่อย่างมีเพื่อนสอง



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”. มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจมีอยู่. ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้; แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. เมื่อ นันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี; เมื่อ สาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี :

มิคชาละ ! ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”. (ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้มีนัยยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ). มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์ เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้ว ก็ตาม, ถึงกระนั้น ภิกษุนั้น เราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น เราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว พระเจ้าข้า ?”. มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่, ถ้าหากว่าภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้, แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้น นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมดับ; เมื่อ นันทิ ไม่มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมไม่มี; เมื่อ สาราคะ ไม่มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมไม่มี : มิคชาละ ! ภิกษุผู้ ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน (นันทิ) นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”.

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้มีนัยยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ). มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้อยู่ในหมู่บ้าน อันเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย, ด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย, ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ตาม; ถึงกระนั้น ภิกษุนั้น เราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ละเสียได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น เราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”, ดังนี้ แล.


-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๓/๖๖.

สัมมาสมาธิชนิดที่มีพรหมวิหารเป็นอารมณ์

 สัมมาสมาธิชนิดที่มีพรหมวิหารเป็นอารมณ์

ทำสมาธิ ส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์



วาเสฎฐะ ! เมื่อภิกษุนั้นมองเห็นนิวรณ์ทั้งห้าเหล่านี้ ที่ตนละได้แล้วอยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด; เมื่อปราโมทย์เกิด ปีติย่อมเกิด; กายของผู้มีใจปีติย่อมสงบรำงับ; ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข; จิตของผู้มีสุข ย่อมเป็นสมาธิ. เธอนั้น ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยเมตตา ย่อมแผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวงทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วย เมตตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวง ไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่. วาเสฎฐะ ! เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยาก ฉันใด; ในเมตตาเจโตวิมุตติ๑ ที่เจริญแล้ว อย่าง (ข้างบน) นี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด๒ ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ใน (เมตตาเจโตวิมุตติอันเป็นกรรมที่ไม่มีขีดจำกัด) นั้น, ก็ฉันนั้น. วาเสฎฐะ ! นี้เป็นทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมทั้งหลาย. (ต่อไปนี้ ทรงแสดงข้อ กรุณา ,มุทิตา , อุเบกขา, อีก โดยเนื้อความอย่างเดียวกัน. ทุกๆ ข้อเป็นหนทางเหมือนกัน ในพระบาลีว่า แม้นี้ ๆ ก็เป็นหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมทั้งหลาย). - สี.ที. ๙/๓๑๐/๓๘๓-๓๘๔

การเจริญเมตตา (หรือการเจริญพรหมวิหาร)

เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน และอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ, กรุณาเจโตวิมุตติ, มุทิตาเจโตวิมุตติ, อุเบกขาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้น ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว กายก็สงบรำงับ ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ทั่วทุกทาง เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่ มีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตประกอบด้วยกรุณา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางทั่วทุกทาง เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่ มีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตประกอบด้วยมุทิตา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางทั่วทุกทาง เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่ มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตประกอบด้วย อุเบกขา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ทั่วทุกทาง เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่ สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผาเร่าร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยากฉันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติ (กรุณาเจโตวิมุตติ..., มุทิตาเจโตวิมุตติ..., อุเบกขาเจโตวิมุตติ...,) ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัดย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น เมื่อใดเธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้นเธอจักเดินไปในทางใดๆ ก็จักเดินเป็นสุขในทางนั้นๆ ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ นั่งอยู่ในที่ใดๆ ก็จักนั่งเป็นสุขในที่นั้นๆ นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่นั้นๆ เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรกทำให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่าง คือ หลับเป็นสุข

ตื่นเป็นสุข ๑

ไม่ฝันร้าย ๑

เป็นที่รักของพวกมนุษย์ ๑

เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ ๑

เทพยดารักษา ๑

ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดีไม่ต้องบุคคลนั้น ๑

จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว ๑

สีหน้าผุดผ่อง ๑

ไม่หลงทำกาละ ๑

เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไป ย่อมเกิดในพรหมโลก ๑

เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรก ทำให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่างนี้แล.

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๓๐๘/๑๖๐., -บาลี มู. ม. ๑๒/๕๑๘/๔๘๒. -บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๗๖/๒๒๒., -บาลี สี. ที. ๙/๓๑๐/๓๘๓.

การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือความสุขของโลก

 การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก

คือความสุขของโลก

วันคุ้มครองโลก



ภิกษุ ท. ! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมีอยู่ ในโลกเพียงใด อันนั้นก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุข ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, อยู่เพียงนั้น. ภิกษุ ท. ! พระสุคตนั้นคือใครเล่า ? คือตถาคต บังเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรมออกสอนสัตว์. นี้คือ พระสุคต. ภิกษุ ท. ! ระเบียบวินัยของพระสุคตนั้นคืออะไรเล่า ? คือตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. ธรรมที่ตถาคตแสดง พรหมจรรย์ที่ตถาคตประกาศ นี้แล คือ ระเบียบวินัยของพระสุคต.

ภิกษุ ท. ! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมีอยู่ในโลกเพียงใด อันนั้น ก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุข ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, อยู่เพียงนั้น.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.

ลักษณะแห่งผู้เจริญอินทรีย์ขั้นอริยะ

 ลักษณะแห่งผู้เจริญอินทรีย์ขั้นอริยะ

ลักษณะแห่งผู้เจริญอินทรีย์ขั้นอริยะ



อานนท์ ! ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้วในขั้นอริยะเป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ในกรณีนี้ ความพอใจ, ความไม่พอใจ, ความพอใจและไม่พอใจ เกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะเห็นรูปด้วยตา...ฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ถูกต้องสัมผัสด้วยผิวกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ. ภิกษุนั้น :- ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ในสิ่งที่เป็นปฏิกูล ดังนี้ เธอก็อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้นได้. ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าปฏิกูล ในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูล ดังนี้ เธอก็อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลนั้นได้. ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ทั้งในสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูล ดังนี้ เธอก็อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลนั้นได้. ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าปฏิกูล ทั้งในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลและสิ่งที่เป็นปฏิกูล ดังนี้ เธอก็อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลและสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้นได้. และถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างเว้นขาดจากความรู้สึกว่าปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองอย่างเสียแล้วอยู่อย่างผู้อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ ดังนี้ เธอก็อยู่อย่างผู้อุเบกขามีสติสัมปชัญญะในสิ่งเป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลทั้งสองอย่างนั้นได้. อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้มีอินทรีย์อันเจริญแล้วในขั้นอริยะ.


-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๕/๘๖๓ -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๖/๘๖๔