สุคติของเทวดา

 สุคติของเทวดา

สุคติของเทวดา




ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ :- (๑) ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง (๒) ผ้าย่อมเศร้าหมอง (๓) เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ (๔) ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย (๕) เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ! ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑ ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑ ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลายพระเจ้าข้า ! ภิกษุทั้งหลาย ! ความเป็นมนุษย์ นี้แลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ศรัทธาของเทวดาใดนั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้ นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า :- “แน่ะท่านผู้เจริญ ! ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด เมื่อท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรมศรัทธาของท่านนั้นพึงตั้งลงมั่น มีรากหยั่งลงมั่นในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษกระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มากด้วยทาน แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์”

เมื่อใด เทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า “แน่ะเทวดา ! ท่านจงมาบ่อยๆ”.

-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น