สุคติของเทวดา

 สุคติของเทวดา

สุคติของเทวดา




ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ :- (๑) ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง (๒) ผ้าย่อมเศร้าหมอง (๓) เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ (๔) ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย (๕) เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ! ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑ ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑ ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลายพระเจ้าข้า ! ภิกษุทั้งหลาย ! ความเป็นมนุษย์ นี้แลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ศรัทธาของเทวดาใดนั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้ นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า :- “แน่ะท่านผู้เจริญ ! ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด เมื่อท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรมศรัทธาของท่านนั้นพึงตั้งลงมั่น มีรากหยั่งลงมั่นในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษกระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มากด้วยทาน แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์”

เมื่อใด เทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า “แน่ะเทวดา ! ท่านจงมาบ่อยๆ”.

-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑.

ความรู้สึกภายในใจ เมื่อละตัณหา(ความอยาก) ได้

 ความรู้สึกภายในใจ เมื่อละตัณหา(ความอยาก)ได้

รักจริงๆ ต้องแบบนี้






เราเมื่อยังค้นไม่พบแสงสว่าง, มัวเสาะหานายช่างปลูกเรือน (คือตัณหา ผู้ก่อสร้างเรือนคืออัตตภาพ) อยู่, ได้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กล่าวคือ ความเกิดแล้ว เกิดอีกเป็นอเนกชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไปทุกชาติ. แน่ะ นายช่างผู้ปลูกสร้างเรือน ! เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว, เจ้าจักสร้างเรือนให้เราต่อไปอีกไม่ได้, โครงเรือน (คือกิเลสที่เหลือเป็นเชื้อเกิดใหม่) ของเจ้า เราหักเสียยับเยินหมดแล้ว ยอดเรือน (คืออวิชชา) เราขยี้เสียแล้ว, จิตของเรา ถึงความเป็นธรรมชาติ ที่อารมณ์จะยุแหย่ ยั่วเย้าไม่ได้เสียแล้ว มันได้ลุถึงความหมดอยากทุกอย่าง.

-บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๓๕/๒๑.

ถุงธรรม

 ถุงธรรม

เผากิเลสดีกว่า



ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนปริยัติธรรม (นานาชนิด) คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ, แต่เธอไม่ใช้วันทั้งวันให้เปลืองไปด้วยการเรียนธรรมนั้นๆ ไม่เริดร้างจากการหลีกเร้น, ตามประกอบซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจในภายในเนืองๆ. ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่า ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม) . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มากด้วยปริยัติ เราก็แสดงแล้ว, ผู้มากด้วยการบัญญัติ เราก็แสดงแล้ว, ผู้มากด้วยการสาธยาย เราก็แสดงแล้ว, ผู้มากด้วยการคิด เราก็แสดงแล้ว, และธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม) เราก็แสดงแล้ว ด้วยประการ ฉะนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! กิจอันใดที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย, กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! นั่น โคนไม้ทั้งหลาย นั่น เรือนว่างทั้งหลาย, ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จงเพียรเผากิเลส, อย่าได้เป็นผู้ประมาท, เธอทั้งหลาย อย่าเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย, นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.


-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๙๘/๗๓.

การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ

 การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ

เฮง เฮง รวย รวย



พ๎ยัคฆปัชชะ ! การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ (สมชีวิตา) เป็นอย่างไรเล่า ? พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้. พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนคนถือตาชั่ง หรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า “ยังขาดอยู่เท่านี้ หรือเกินไปแล้วเท่านี้” ดังนี้ฉันใด; กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น : เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่ายและรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ (อย่างสุรุ่ยสุร่าย) เหมือนคนกินผลมะเดื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น. พ๎ยัคฆปัชชะ ! แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่างคนอนาถา. พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อใด กุลบุตรนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้; พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เราเรียกว่า การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ. พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของกุลบุตร ในทิฏฐธรรม.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๘๙/๑๔๔.

อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท

 อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท

ได้เกิด จะ ได้แก่ ได้ตาย ด้วย




ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ? แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์, แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์, แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์, แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์, การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์, ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์, ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ : กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานักขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ? เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จีงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า? เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ? มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง, กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ; สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ; สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้งหลาย ๔ ประการ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้ ดังนี้ อันใด อันเรากล่าวแล้ว; ข้อนั้น เรากล่าว หมายถึงข้อความนี้, ดังนี้ แล.


-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๒/๕๐๑.