พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ มีสามจำพวก

 พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ มีสามจำพวก

ละสังโยชน์สามและกรรมที่พาไปอบาย คือ โสดาบัน


ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม {๑} เป็นผู้สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้เป็นเอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๙/๕๒๗.

ละสังโยชน์สามและกรรมที่พาไปอบาย คือ โสดาบัน

    ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา (ความเป็นโสดาบัน). ไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? ไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้ คือ :- ไม่ละ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน); ไม่ละ วิจิกิจฉา (ความลังเลในปฏิปทาทางดับทุกข์); ไม่ละ สีลัพพตปรามาส (การถือเอาศีลและพรตผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง); ไม่ละ อปายคมนิยราคะ (ราคะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ไม่ละ อปายคมนิยโทสะ (โทสะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ไม่ละ อปายคมนิยโมหะ (โมหะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย). ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้แล เป็นผู้ไม่ควรกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุละธรรม ๖ อย่างแล้วเป็นผู้ควรกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา. ละธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้ คือ :- ละ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน); ละ วิจิกิจฉา (ความลังเลในปฏิปทาทางดับทุกข์); ละ สีลัพพตปรามาส (การถือเอาศีลและพรต ผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง); ละ อปายคมนิยราคะ (ราคะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ละ อปายคมนิยโทสะ (โทสะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ละ อปายคมนิยโมหะ (โมหะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย). ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุละธรรม ๖ อย่างเหล่านี้แล้ว เป็นผู้ควรกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา ดังนี้แล.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๘๘/๓๖๐.

สังโยชน์สิบ

ภิกษุทั้งหลาย ! สังโยชน์ ๑๐ ประการเหล่านี้ มีอยู่. สิบประการอย่างไรเล่า ? สิบประการ คือ :-     โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ     อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ. โอรัมภาคิยสังโยชน์ {๒} ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? ๕ ประการ คือ :- สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะพยาบาท : เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ. อุทธัมภาคิยสังโยชน์์ {๓} ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? ๕ ประการ คือ :- รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา : เหล่านี้ คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สังโยชน์ ๑๐ ประการ. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๘/๑๓. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๙/๑๓. ๑. สังโยชน์ คือ เครื่องร้อยรัดจิต ๑๐ ประการ ๒. คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ หมายถึง เครื่องร้อยรัดจิตอย่างหยาบ ๕ ประการ. ๓. คือ สังโยชน์เบื้องสูง หมายถึง เครื่องร้อยรัดจิตอย่างละเอียด ๕ ประการ ที่อริยบุคลระดับอรหัตตมรรคจะต้องละวาง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น