อรกานุสาสนีสูตร

 อรกานุสาสนีสูตร

หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า




ชีวิตเหมือนน้ำค้าง



ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่ออรกะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็อรกศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคนเธอแสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มีดูกรพราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้เร็วไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ ดูกรพราหมณ์ เมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็ว ตั้งอยู่ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ ดูกรพราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ ดูกรพราหมณ์ แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยว พัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ ดูกรพราหมณ์ บุรุษมีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปโดยง่ายดาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนก้อนเขฬะฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ ดูกรพราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกะทะเหล็ก ไฟเผาตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับไปรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ ดูกรพราหมณ์ แม่โคที่จะถูกเชือด ที่เขานำไปสู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้ที่ฆ่าใกล้ความตาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือด ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงควรแก่การมีสามี ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ เย็น ร้อน หิว ระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อรกศาสดานั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนตั้งอยู่นาน มีอาพาธน้อยอย่างนี้ จักแสดงธรรมให้สาวกฟังอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบ ก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีหรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุอยู่ถึงร้อยปี ย่อมอยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐ คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๐๐ ฤดู ย่อมอยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน คนที่มีอายุอยู่ถึง ๑,๒๐๐ เดือน ย่อมอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือนฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน คนที่มีอายุอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน ย่อมอยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑,๒๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑,๒๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑,๒๐๐ ราตรีคนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร ๗๒,๐๐๐ เวลา คือ ฤดูหนาว๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ เวลา พร้อมๆ กับดื่มนมมารดาและอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ใน ๒ ประการนั้น อันตรายแห่งการบริโภคอาหารมีดังนี้ คือ คนโกรธย่อมไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนป่วยไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร เพราะไม่ได้อาหารจึงไม่บริโภคอาหาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ ประมาณแห่งอายุ ฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี วัน การบริโภคอาหาร และอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ของมนุษย์ผู้มีอายุร้อยปี ด้วยประการดังนี้แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลายกิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ฯ


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๑๐๗   ข้อที่ ๗๑

ลาสึกเพราะติดเมา

 ลาสึกเพราะติดเมา

ความเมาสามอย่าง



ภิกษุทั้งหลาย ! ความเมาสามอย่างนี้มีอยู่. สามอย่างอะไรกันเล่า ? สามอย่าง คือ         ความเมาว่ายังหนุ่มอยู่         ความเมาว่ายังไม่มีโรคเบียดเบียน         ความเมาว่ายังมีชีวิตอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! บุถุชนผู้มิได้สดับธรรม มัวเมาด้วยความเมาว่ายังหนุ่มอยู่ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ, ครั้นเขาประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว ภายหลังแต่ตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ภิกษุทั้งหลาย ! บุถุชนผู้มิได้สดับธรรม มัวเมาด้วยความเมาว่ายังไม่มีโรคเบียดเบียน ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ. ครั้นเขาประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว ภายหลังแต่ตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ภิกษุทั้งหลาย ! บุถุชนผู้มิได้สดับธรรม มัวเมาด้วยความเมาว่ายังมีชีวิตอยู่ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ. ครั้นเขาประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว ภายหลังแต่ตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ ผู้มัวเมาด้วยความเมาว่ายังหนุ่มอยู่ มัวเมาด้วยความเมาว่ายังไม่มีโรคเบียดเบียน มัวเมาด้วยความเมาว่ายังมีชีวิตอยู่ ย่อมบอกเลิกสิกขา หมุนกลับคืนไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์ตามเดิมแล.


    - บาลี พระพุทธภาษิต ติก. อํ. ๒๐/๑๘๕/๔๗๘,

พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ มีสามจำพวก

 พระโสดาบันละสังโยชน์ได้สามข้อ มีสามจำพวก

ละสังโยชน์สามและกรรมที่พาไปอบาย คือ โสดาบัน


ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม {๑} เป็นผู้สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. (หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้เป็นเอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๙/๕๒๗.

ละสังโยชน์สามและกรรมที่พาไปอบาย คือ โสดาบัน

    ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา (ความเป็นโสดาบัน). ไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? ไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้ คือ :- ไม่ละ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน); ไม่ละ วิจิกิจฉา (ความลังเลในปฏิปทาทางดับทุกข์); ไม่ละ สีลัพพตปรามาส (การถือเอาศีลและพรตผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง); ไม่ละ อปายคมนิยราคะ (ราคะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ไม่ละ อปายคมนิยโทสะ (โทสะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ไม่ละ อปายคมนิยโมหะ (โมหะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย). ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้แล เป็นผู้ไม่ควรกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุละธรรม ๖ อย่างแล้วเป็นผู้ควรกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา. ละธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้ คือ :- ละ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน); ละ วิจิกิจฉา (ความลังเลในปฏิปทาทางดับทุกข์); ละ สีลัพพตปรามาส (การถือเอาศีลและพรต ผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง); ละ อปายคมนิยราคะ (ราคะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ละ อปายคมนิยโทสะ (โทสะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย); ละ อปายคมนิยโมหะ (โมหะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย). ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุละธรรม ๖ อย่างเหล่านี้แล้ว เป็นผู้ควรกระทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา ดังนี้แล.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๘๘/๓๖๐.

สังโยชน์สิบ

ภิกษุทั้งหลาย ! สังโยชน์ ๑๐ ประการเหล่านี้ มีอยู่. สิบประการอย่างไรเล่า ? สิบประการ คือ :-     โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ     อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ. โอรัมภาคิยสังโยชน์ {๒} ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? ๕ ประการ คือ :- สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะพยาบาท : เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ. อุทธัมภาคิยสังโยชน์์ {๓} ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? ๕ ประการ คือ :- รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา : เหล่านี้ คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สังโยชน์ ๑๐ ประการ. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๘/๑๓. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๙/๑๓. ๑. สังโยชน์ คือ เครื่องร้อยรัดจิต ๑๐ ประการ ๒. คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ หมายถึง เครื่องร้อยรัดจิตอย่างหยาบ ๕ ประการ. ๓. คือ สังโยชน์เบื้องสูง หมายถึง เครื่องร้อยรัดจิตอย่างละเอียด ๕ ประการ ที่อริยบุคลระดับอรหัตตมรรคจะต้องละวาง.