การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิสำหรับภิกษุบางรูป

 การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิสำหรับภิกษุบางรูป

การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิสำหรับภิกษุบางรูป



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ มีความประสงค์จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าหรือป่าเปลี่ยว”. อุบาลี ! เสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหรือป่าเปลี่ยว อยู่ได้ยาก ปวิเวกทำได้ยาก ความอยู่คนเดียวเป็นสิ่งที่ยินดีได้ยาก ป่ามักจะนำไปเสียซึ่งใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิอยู่. อุบาลี ! ผู้ใดพูดว่า “เราไม่ได้สมาธิ เราจักไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัดคือป่าหรือป่าเปลี่ยว” ดังนี้. เขานั้น พึงหวังผลข้อนี้ คือ จิตจะจมลงหรือจิตจักปลิวไป. อุบาลี ! เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ มีอยู่. ช้างพลายสูงเจ็ดรัตน์ หรือเจ็ดรัตน์ครึ่ง มาสู่ที่นั้นแล้วคิดว่า “เราจะลงสู่ห้วงน้ำนี้ แล้วเล่นน้ำ ล้างหูบ้าง เล่นน้ำ ล้างหลังบ้าง ตามปรารถนา” ดังนี้; ช้างนั้น กระทำได้ดังนั้น, เพราะเหตุไร ? อุบาลี ! เพราะเหตุว่า ช้างนั้นตัวใหญ่ จึงอาจหยั่งลงในห้วงน้ำลึกได้. ครั้งนั้น กระต่ายหรือแมวป่า มาเห็นช้างนั้นแล้วคิดว่า “ช้างจะเป็นอะไรที่ไหนมา เราก็จะเป็นอะไรที่ไหนไป ดังนั้นเราจะลงสู่ห้วงน้ำนี้ แล้วเล่นน้ำ ล้างหูบ้าง เล่นน้ำ ล้างหลังบ้าง แล้วพึงอาบ พึงดื่ม พึงขึ้นจากห้วงน้ำแล้วหลีกไปตามปรารถนา” ดังนี้; กระต่ายหรือแมวป่านั้น กระโจนลงสู่ห้วงน้ำนั้น โดยไม่พิจารณา ผลที่มันหวังได้ก็คือ จมดิ่งลงไป หรือลอยไปตามกระแสน้ำ. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะว่ากระต่ายหรือแมวป่านั้นตัวมันเล็ก จึงไม่อาจหยั่งลงในห้วงน้ำลึก, นี้ฉันใด; อุบาลี ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ ผู้ใดพูดว่า “เราไม่ได้สมาธิ เราจักไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัด คือป่าหรือป่าเปลี่ยว” ดังนี้. เขานั้น พึงหวังผลข้อนี้ คือ จิตจะจมลง หรือจิตจักปลิวไป. (เนื้อความข้อนี้แสดงว่า การออกไปอยู่ป่ามิได้เหมาะสำหรับทุกคน. ผู้ใดคิดว่าจักบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน กระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอันไม่มีอาสวะ ด้วยเหตุเพียงสักว่าอยู่ป่าอย่างเดียวนั้น ไม่อาจจะสำเร็จได้ เพราะไม่ชื่อว่า เป็นผู้ตามถึงประโยชน์ตน (อนุปฺปตฺตสทตฺถ) ได้ด้วยเหตุสักว่าการอยู่ป่า; ดังนั้นพระองค์จึงตรัสกะภิกษุอุบาลีว่า :-) อุบาลี ! เธอ จงอยู่ในหมู่สงฆ์เถิด ความผาสุกจักมีแก่เธอผู้อยู่ในหมู่สงฆ์ ดังนี้.


-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๑๖/๙๙.

1 ความคิดเห็น: