เหตุที่ทำให้มนุษย์จำนวนลดลง

 เหตุที่ทำให้มนุษย์จำนวนลดลง

เหตุที่ทำให้มนุษย์จำนวนลดลง



     ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ได้สดับมาต่อบุรพพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวไว้ว่า ได้ยินว่า แต่ก่อนโลกนี้ ย่อมหนาแน่นด้วยหมู่มนุษย์เหมือนอเวจี บ้าน นิคม ชนบท และราชธานี มีทุกระยะไก่บินตก ดังนี้.
    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท ?

    พราหมณ์ ! ทุกวันนี้ มนุษย์กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม มนุษย์เหล่านั้น กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม ต่างก็ฉวยศัสตราอันคมเข้าฆ่าฟันกันและกัน เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงล้มตายเสียเป็นอันมาก. 
พราหมณ์ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท.

     พราหมณ์ ! อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้ มนุษย์กำหนัดแล้ว ด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม เมื่อมนุษย์เหล่านั้น กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฉะนั้น จึงเกิดทุพภิกขภัย ข้าวกล้าเสียหาย เป็นเพลี้ย ไม่ให้ผล เพราะเหตุนั้น มนุษย์จึงล้มตายเสียเป็นอันมาก. พราหมณ์ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท

    พราหมณ์ ! อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้ มนุษย์กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม เมื่อมนุษย์เหล่านั้น กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม พวกยักษ์ได้ปล่อยอมนุษย์ที่ร้ายกาจลงไว้ เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงล้มตายเสียเป็นอันมาก. พราหมณ์ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท.


-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๐๓/๔๙๖.

ว่าด้วยวรรณ ๔

 ว่าด้วยวรรณ

ว่าด้วยวรรณะ ๔



ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดำรัสอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาเนื้อความบางอย่างตรัสไว้ แต่คนอื่นกลับเข้าใจพระภาษิตนั้นเป็นอย่างอื่นไป พึงมีหรือหนอ ก็พระผู้มีพระภาคยังทรงจำพระดำรัสว่า ตรัสแล้วอย่างไรบ้างหรือ พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตรอาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวเหตุ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวผลพร้อมทั้งเหตุว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ จำพวกนี้ จะพึงมีความแปลกกัน จะพึงมีการกระทำต่างกันกระมังหนอ? [๕๗๖] พ. ดูกรมหาบพิตร วรรณะ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ดูกรมหาบพิตร บรรดาวรรณะ จำพวกนี้ คือ วรรณะจำพวก คือ กษัตริย์และ พราหมณ์ อาตมาภาพกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ คือ เป็นที่กราบไหว้ เป็นที่ลุกรับ เป็นที่กระทำอัญชลี เป็นที่กระทำสามีจิกรรม ขอถวายพระพร. ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมิได้ทูลถามถึงความแปลกกันในปัจจุบันกะพระผู้มีพระภาค หม่อมฉันทูลถามถึงความแปลกกันในสัมปรายภพกะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ จำพวกนี้ จะพึงมีความแปลกกัน จะพึงมีการกระทำต่างกันกระมังหนอ พระเจ้าข้า.


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์หน้าที่ ๓๙๔   ข้อที่ ๕๗๖

การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิสำหรับภิกษุบางรูป

 การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิสำหรับภิกษุบางรูป

การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิสำหรับภิกษุบางรูป



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ มีความประสงค์จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าหรือป่าเปลี่ยว”. อุบาลี ! เสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหรือป่าเปลี่ยว อยู่ได้ยาก ปวิเวกทำได้ยาก ความอยู่คนเดียวเป็นสิ่งที่ยินดีได้ยาก ป่ามักจะนำไปเสียซึ่งใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิอยู่. อุบาลี ! ผู้ใดพูดว่า “เราไม่ได้สมาธิ เราจักไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัดคือป่าหรือป่าเปลี่ยว” ดังนี้. เขานั้น พึงหวังผลข้อนี้ คือ จิตจะจมลงหรือจิตจักปลิวไป. อุบาลี ! เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ มีอยู่. ช้างพลายสูงเจ็ดรัตน์ หรือเจ็ดรัตน์ครึ่ง มาสู่ที่นั้นแล้วคิดว่า “เราจะลงสู่ห้วงน้ำนี้ แล้วเล่นน้ำ ล้างหูบ้าง เล่นน้ำ ล้างหลังบ้าง ตามปรารถนา” ดังนี้; ช้างนั้น กระทำได้ดังนั้น, เพราะเหตุไร ? อุบาลี ! เพราะเหตุว่า ช้างนั้นตัวใหญ่ จึงอาจหยั่งลงในห้วงน้ำลึกได้. ครั้งนั้น กระต่ายหรือแมวป่า มาเห็นช้างนั้นแล้วคิดว่า “ช้างจะเป็นอะไรที่ไหนมา เราก็จะเป็นอะไรที่ไหนไป ดังนั้นเราจะลงสู่ห้วงน้ำนี้ แล้วเล่นน้ำ ล้างหูบ้าง เล่นน้ำ ล้างหลังบ้าง แล้วพึงอาบ พึงดื่ม พึงขึ้นจากห้วงน้ำแล้วหลีกไปตามปรารถนา” ดังนี้; กระต่ายหรือแมวป่านั้น กระโจนลงสู่ห้วงน้ำนั้น โดยไม่พิจารณา ผลที่มันหวังได้ก็คือ จมดิ่งลงไป หรือลอยไปตามกระแสน้ำ. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะว่ากระต่ายหรือแมวป่านั้นตัวมันเล็ก จึงไม่อาจหยั่งลงในห้วงน้ำลึก, นี้ฉันใด; อุบาลี ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ ผู้ใดพูดว่า “เราไม่ได้สมาธิ เราจักไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัด คือป่าหรือป่าเปลี่ยว” ดังนี้. เขานั้น พึงหวังผลข้อนี้ คือ จิตจะจมลง หรือจิตจักปลิวไป. (เนื้อความข้อนี้แสดงว่า การออกไปอยู่ป่ามิได้เหมาะสำหรับทุกคน. ผู้ใดคิดว่าจักบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน กระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอันไม่มีอาสวะ ด้วยเหตุเพียงสักว่าอยู่ป่าอย่างเดียวนั้น ไม่อาจจะสำเร็จได้ เพราะไม่ชื่อว่า เป็นผู้ตามถึงประโยชน์ตน (อนุปฺปตฺตสทตฺถ) ได้ด้วยเหตุสักว่าการอยู่ป่า; ดังนั้นพระองค์จึงตรัสกะภิกษุอุบาลีว่า :-) อุบาลี ! เธอ จงอยู่ในหมู่สงฆ์เถิด ความผาสุกจักมีแก่เธอผู้อยู่ในหมู่สงฆ์ ดังนี้.


-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๑๖/๙๙.

เครื่องหมายคนพาล (อุปมาความทุกข์ในนรก)

 อุปมาความทุกข์ในนรก

ลักษณะเครื่องหมายคนพาล




ภิกษุทั้งหลาย ! ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นพาลของคนพาลนี้ มี ๓ อย่าง. ๓ อย่าง อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลในโลกนี้ มักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว มักทำการทำที่ชั่ว ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกขโทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มีปกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย.

ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๑ ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก คนพาลเห็นพระราชาทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ :- (๑) โบยด้วยแส้บ้าง (๒) โบยด้วยหวายบ้าง (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง (๔) ตัดมือบ้าง (๕) ตัดเท้าบ้าง (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง (๗) ตัดหูบ้าง(๘) ตัดจมูกบ้าง (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง {๑} (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้น มีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย ถ้าแม้พระราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๒ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทำไว้ในก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความร้าย ทำแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ความร้าย และความเลว เป็นกำหนด คนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ระทมใจ คร่ำครวญ ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๓ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า เป็นสถานที่ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว. ภิกษุทั้งหลาย ! เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาถึงความทุกข์ในนรก ก็ไม่ใช่ง่ายนัก.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๑๑/๔๖๘.