เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”

  เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”



เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”



ภิกษุ ท. ! โลก ๓ เป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงเป็นผู้ถอนตนจากโลกได้แล้ว. เหตุให้เกิดโลก เป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงละเหตุให้เกิดโลกได้แล้ว. ความดับไม่เหลือของโลกเป็นสภาพที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงทำให้แจ้งความดับไม่เหลือของโลกได้แล้ว. ทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้วตถาคตจึงทำให้เกิดมีขึ้นได้แล้ว ซึ่งทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลกนั้น.

ภิกษุ ท. ! อายตนะอันใด ที่พวกมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร, พรหม, ที่หมู่สัตว์พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ได้เห็นได้ฟัง ได้ดม-ลิ้ม-สัมผัส ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ ได้แสวงหา ได้เที่ยวผูกพันติดตามโดยน้ำใจ, อายตนะนั้น ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.
ภิกษุ ท. ! ในราตรีใด ตถาคตได้ตรัสรู้ และในราตรีใด ตถาคตปรินิพพาน, ในระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอบ พร่ำสอน แสดงออกซึ่งคำใด, คำนั้นทั้งหมด ย่อมมีโดยประการเดียวกันทั้งสิ้น ไม่แปลกกันโดยประการอื่น, เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.
ภิกษุ ท. ! ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร, พรหม, ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ตถาคตเป็นผู้เป็นยิ่ง ไม่มีใครครอบงำ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (โดยธรรม) แต่ผู้เดียว, เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.

บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓, และ จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๐/๒๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น