บรรลุอรหันต์โดยละมัญญนะหกชนิด

 บรรลุอรหันต์โดยละมัญญนะหกชนิด

บรรลุอรหันต์โดยละมัญญนะหกชนิด

อย่าสำคัญตัวเองว่าเลว





ภิกษุ ท. ! บุคคล ไม่ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ไม่ควร เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล. ธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? หกอย่างคือ

    มานะ (ถือตัว),

   โอมานะ (แกล้งลดตัว),

    อติมานะ (ยกตัว),

    อธิมานะ (ถือตัวจัด),

    ถัมภะ (หัวดื้อ),

    อตินิปาตะ (สำคัญตัวเองว่าเลว).

    ภิกษุ ท. ! บุคคลไม่ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่าง เหล่านี้แล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.

ภิกษุ ท. ! บุคคล ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล. ธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? หกอย่างคือ มานะ โอมานะ อติมานะ อธิมานะ ถัมภะ อตินิปาตะ. ภิกษุ ท. ! บุคคลละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่าง เหล่านี้แล้ว เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล แล. - ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๗๙/๓๔๗.

การเข้าถึงนรกในภพปัจจุบัน (นัยที่ ๒)

 การเข้าถึงนรกในภพปัจจุบัน (นัยที่ ๒)

การเข้าถึงนรกในภพปัจจุบัน (นัยที่ ๒)



ภิกษุทั้งหลาย ! เป็นลาภของเธอทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! เป็นการได้ที่ดีของเธอทั้งหลายแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! ขณะสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ พวกเธอก็ได้โดยเฉพาะแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! นรก ชื่อว่า ผัสสายตนิกะ ๖ ขุม เราได้เห็นแล้ว. ในบรรดานรกเหล่านั้น บุคคลเห็นรูปใดๆ ด้วย ตา ย่อมเห็นแต่รูปที่ไม่น่าปรารถนาเท่านั้น ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนาเลย เห็นแต่รูปที่ไม่น่ารักใคร่เท่านั้น ไม่เห็นรูปที่น่ารักใคร่เลย เห็นแต่รูปที่ไม่น่าพอใจเท่านั้น ไม่เห็นรูปที่น่าพอใจเลย. ในบรรดานรกเหล่านั้น บุคคลฟังเสียงใดๆ ด้วยหู ... ในบรรดานรกเหล่านั้น บุคคลดมกลิ่นใดๆ ด้วยจมูก ... ในบรรดานรกเหล่านั้น บุคคลลิ้มรสใดๆ ด้วยลิ้น ... ในบรรดานรกเหล่านั้น บุคคลถูกต้องโผฏฐัพพะใดๆ ด้วยผิวกาย ...     ในบรรดานรกเหล่านั้น บุคคลรู้แจ้งธรรมารมณ์ใดๆ ด้วยใจ ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเท่านั้น ไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่น่าปรารถนาเลย รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่เท่านั้น ไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่น่ารักใคร่เลย รู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเท่านั้น ไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่น่าพอใจเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เป็นลาภของเธอทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! เป็นการได้ที่ดีของเธอทั้งหลายแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! ขณะสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ พวกเธอก็ได้โดยเฉพาะแล้ว ดังนี้แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๕๘/๒๑๔.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

 ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล



มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล, เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล, เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย,     เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน,     เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ,        เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย,     

เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ,     เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง,        เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก,

แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

เหตุแห่งการเกิดในครรภ์

 เหตุแห่งการเกิดในครรภ์


เหตุแห่งการเกิดในครรภ์



ภิกษุทั้งหลาย ! การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมมีได้ เพราะการประชุมพร้อมของสิ่ง ๓ อย่าง. ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกันแต่มารดายังไม่ผ่านการมีระดู และคันธัพพะ (สัตว์ที่จะเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์นั้น) ก็ยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้นไม่ได้ก่อน. ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกันและมารดาก็ผ่านการมีระดู แต่คันธัพพะยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะ การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้นไม่ได้นั่นเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! แต่เมื่อใด มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกันด้วย มารดาก็ผ่านการมีระดูด้วย คันธัพพะก็เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมสำเร็จได้ เพราะการประชุมพร้อมกันของสิ่ง ๓ อย่าง ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! มารดา ย่อมบริหารสัตว์ที่เกิดในครรภ์นั้น ด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง เป็นภาระหนักตลอดเวลาเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อล่วงไปเก้าเดือนหรือสิบเดือน มารดา ย่อมคลอดบุตรนั้นด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก ได้เลี้ยงซึ่งบุตรอันเกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิตของตนเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ในอริยวินัย คำว่า “โลหิต” นี้ หมายถึงน้ำนมของมารดา. ภิกษุทั้งหลาย ! ทารกนั้น เจริญวัยขึ้น มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้ว เล่นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น เล่นไถน้อยๆ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นของเล่นชื่อโมกขจิกะ เล่นกังหันลมน้อยๆ เล่นตวงของด้วยเครื่องตวงที่ทำด้วยใบไม้ เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! ทารกนั้น ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้ว เป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ให้เขาบำเรออยู่ ทางตาด้วยรูป, ทางหูด้วยเสียง, ทางจมูกด้วยกลิ่น, ทางลิ้นด้วยรส และทางกายด้วยโผฏฐัพพะ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยวนตา ยวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ และเป็นที่ตั้งแห่งความรัก.

ทารกนั้น ครั้นเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมกำหนัดยินดีในรูป ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก ย่อมขัดใจในรูป ที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติ อันเป็นไปในกาย มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาป อกุศลทั้งหลาย.

ทารกนั้น ครั้นได้ยินเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมกำหนัดยินดีในธรรมารมณ์ ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก ย่อมขัดใจในธรรมารมณ์ที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติอันเป็นไปในกาย มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ {๑} ปัญญาวิมุตติ {๒} อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลาย. ๑. เจโตวิมุตติ : การหลุดพ้นอันอาศัยสมถะ (สมาธิ). ๒. ปัญญาวิมุตติ : การหลุดพ้นอันอาศัยวิปัสสนา (ปัญญา).

กุมารน้อยนั้น เมื่อประกอบด้วยความยินดีและความยินร้ายอยู่เช่นนี้แล้ว เสวยเฉพาะซึ่งเวทนาใดๆเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม เขาย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้นๆ. เมื่อเป็นอยู่เช่นนั้น ความเพลิน (นันทิ) ย่อมบังเกิดขึ้น ความเพลินใดในเวทนาทั้งหลาย มีอยู่ ความเพลินอันนั้น เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของเขานั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๒.

การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา

 การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา

การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา


ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ :-

๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล

๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง

๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย

๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์

๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันเป็นจิตไพบูลย์ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเนียกอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาสีมา เป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้แลหรือ ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”.
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปไม่ได้ แสดงออกซึ่งรูปไม่ได้ ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !”.
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหา ๕ ประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.
(คือมีจิตเหมือนอากาศ อันใครๆ จะเขียนให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น).
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล...
(นอกจากนี้ยังทรงอุปมาเปรียบกับบุรุษถือเอาจอบและกระทอมาขุดแผ่นดิน หวังจะไม่ให้เป็นแผ่นดินอีก, เปรียบกับบุรุษถือเอาคบเพลิงหญ้ามาเผาแม่น้ำคงคา หวังจะให้เดือดพล่าน ซึ่งเป็นฐานะที่ไม่อาจเป็นได้).
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้า โจรผู้คอยหาช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใครด้วยเลื่อยมีด้ามสองข้าง; ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนั้น เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตาไม่มีโทสะในภายใน อยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่ เธอจะได้เห็นทางแห่งการกล่าวหาเล็กหรือใหญ่ที่เธออดกลั้นไม่ได้อยู่อีกหรือ ?
“ข้อนั้นหามิได้  พระเจ้าข้า !”.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เป็นประจำเถิด : นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๒๕๘/๒๗๒.

ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕

ว่าด้วยอุปาทานขันธ์


ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕



๑๐. ปุณณมสูตร

ว่าด้วยอุปาทานขันธ์

[๑๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคารมาตุประสาท ในพระวิหาร บุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก. ก็ในสมัยนั้นแล ในคืนวันอุโบสถขึ้น ๑ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง. [๑๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะพึงทูลถามเหตุประการหนึ่ง กะพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสที่จะพยากรณ์ปัญหา แก่ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนั่ง ณ อาสนะของตนแล้ว ถามปัญหาที่เธอมุ่งจำนงเถิด ภิกษุนั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ อาสนะของตน ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอุปาทานขันธ์ ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ เหล่านี้ ใช่ไหม พระเจ้าข้า?

พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ ได้แก่อุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้แหละภิกษุ.

ว่าด้วยมูลแห่งอุปาทานขันธ์ [๑๘๔] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า อุปาทานขันธ์ เหล่านี้แล มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระเจ้าข้า? พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ เหล่านี้แล มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ฯลฯ ภิ. อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ก็อันนั้น หรือว่าอุปาทานอื่นจากอุปาทาน ขันธ์ พระเจ้าข้า? พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ก็อันนั้น หามิได้ และอุปาทาน อื่นจากอุปาทานขันธ์ ก็หามิได้ แต่ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน ว่าด้วยฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ [๑๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ แตกต่างกันหรือ? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ต่างกันภิกษุ ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ พึงมีเวทนาเช่นนี้ พึงมีสัญญาเช่นนี้ พึงมีสังขารเช่นนี้ พึงมีวิญญาณเช่นนี้. ดูกรภิกษุ
ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล. ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าขันธ์ [๑๘๖] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์ จึงชื่อว่าขันธ์?
พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็น ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสังขารขันธ์ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดีละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์. ดูกรภิกษุด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์. ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งขันธ์ [๑๘๗] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ? พ. ดูกรภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ. ผัสสะ เป็น เหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ. ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ. ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ. นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ. ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ [๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ? พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ยังมิได้สดับ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาด ในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน ย่อมเห็นตนในรูป ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในตน ย่อมเห็นตนในเวทนา ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในตน ย่อมเห็นตนในสัญญา ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในตน ย่อมเห็นตนในสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในวิญญาณ. ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.
ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ [๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร? พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในอริยธรรม เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็นตนในรูป ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในตน หรือไม่เห็นตนในเวทนา ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในตน หรือไม่เห็นตนในสัญญา ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในตน หรือไม่เห็นตนในสังขาร ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ. ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล. ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ [๑๙๐] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นคุณ เป็นโทษ เป็นเครื่องสลัดออก แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ? พ. ดูกรภิกษุ สุขโสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป สุขโสมนัส อาศัยเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ฯลฯ อาศัยสังขารเกิดขึ้น อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ. การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ. ว่าด้วยการไม่มีอหังการมมังการและมานานุสัย [๑๙๑] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรจึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก? พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน ก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใด อย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และสรรพนิมิตภายนอก. ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา [๑๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอนัตตาคือกรรมได้อย่างไร? ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคน ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ ว่าเป็นคำสอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร? นี้เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อันเราได้แนะนำไว้แล้ว ด้วยการทวนถามในธรรมนั้นๆ ในบาลีประเทศนั้นๆ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า. พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบ ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉะนี้แล. จบ สูตรที่ ๑๐.

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๗
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค หน้าที่ ๙๗- ๑๐๒.

ทรงรับรองภิกษุแต่บางรูป ว่าเป็นคนของพระองค์

 ทรงรับรองภิกษุแต่บางรูป ว่าเป็นคนของพระองค์


ทรงรับรองภิกษุแต่บางรูป ว่าเป็นคนของพระองค์


ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่าใดเป็นคนหลอกลวง กระด้าง พูดพล่าม ยกตัวจองหอง ใจฟุ้งเฟ้อ ภิกษุเหล่านั้นไม่ใช่เป็นคนของเรา. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่านั้นได้ออกไปนอกธรรมวินัยนี้เสียแล้ว ย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ได้เลย. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่าใด ไม่เป็นคนหลอกลวง ไม่พูดพล่าม มีปัญญาเป็นเครื่องทรงตัว ไม่กระด้าง ใจคอมั่นคงดี. ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นคนของเรา. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ออกไปนอกธรรมวินัยนี้ และย่อมเจริญงอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้.


-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๓/๒๖.

มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

 มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

ไก่ไหว้เจ้า



มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ




มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว ย่อมถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ : นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย, นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้. ส่วนผู้ใดที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว เห็นอริยสัจทั้งสี่ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือเห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์, เห็นความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์, และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบรำงับแห่งทุกข์ : นั่นแหละคือที่พึ่งอันเกษม, นั่นคือที่พึ่งอันสูงสุด, ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้.


-บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๓๙/๒๔.

ดุจเสาหิน

 ดุจเสาหิน

ดุจเสาหิน



ผู้รู้อริยสัจเป็นหลักอยู่ในใจ

ย่อมไม่มีอาการสั่นสะเทือนเพราะถูกยกวาทะ : ดุจเสาหิน ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใด รู้อยู่ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.” ดังนี้นั้น ; แม้ว่าจะพึงมีบุคคลที่เป็นสมณะหรือพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องการจะโต้วาทะ เที่ยวแสวงคู่โต้วาทะ มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม โดยประกาศว่า “เราจักยกวาทะของภิกษุรูปนั้นเสีย” ดังนี้ ; ข้อที่สมณะหรือพราหมณ์นั้น จักทำภิกษุนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไป โดยถูกธรรมนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะเป็นไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุที่อริยสัจสี่นั้น เป็นธรรมที่ภิกษุนั้นเห็นแล้วด้วยดี. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเสาหินยาว ๑๖ ศอก ฝังอยู่ในดิน ๘ ศอก โผล่ขึ้นพ้นดิน ๘ ศอก แม้จะมีลมพายุฝนอย่างแรงกล้า มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม ไม่พึงทำเสาหินนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะส่วนที่ฝังนั้นลึก และฝังเป็นอย่างดี ; ฉันใดก็ฉันนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนั้น ในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์นี้ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๕/๑๗๒๔

ยาถ่ายและยาสำรอกความเกิด - แก่ – ตาย

 ยาถ่ายและยาสำรอกความเกิด - แก่ - ตาย


เดือนกันยา ไม่กันยาถ่ายอันเป็นอริยะ



ภิกษุ ท. ! แพทย์ทั้งหลาย ย่อมให้ยาถ่ายเพื่อกำจัดโรค ที่มีดีเป็นสมุฏฐานบ้าง ที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐานบ้าง ที่มีลมเป็นสมุฏฐานบ้าง. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า ยาถ่ายชนิดนั้น มีอยู่ มิใช่ไม่มี แต่ว่ายาถ่ายชนิดนั้น บางทีก็มีผล บางทีก็ไม่มีผล. ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ยาถ่ายอันเป็นอริยะ (อริยวิเรจน) อันเป็นยาถ่ายมีผลโดยส่วนเดียว ไม่มีที่จะไม่ให้ผล อันเป็นยาถ่ายซึ่งอาศัยแล้วสัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย สัตว์ที่มีโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายเป็นธรรมดาจะพ้นจากโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุ ท. ! ยาถ่ายอันเป็นอริยะ อันให้ผลโดยส่วนเดียว ไม่มีเสียผลเลย อันสัตว์อาศัยแล้ว จักพ้นจากชาติ ฯลฯ ได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! มิจฉาทิฏฐิ อัน สัมมาทิฏฐิกบุคคลระบายออกได้แล้ว ; กล่าวคือ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยเหล่าใดบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาระบายออกได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก ที่มีสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.

ภิกษุ ท. ! มิจฉาสังกัปปะ อัน ผู้มีสัมมาสังกัปปะระบายออกได้แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาวาจา อัน ผู้มีสัมมาวาจาระบายออกได้แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉากัมมันตะ อัน ผู้มีสัมมากัมมันตะระบายออกได้ แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาอาชีวะ อัน ผู้มีสัมมาอาชีวะระบายออกได้แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาวายามะ อัน ผู้มีสัมมาวายามะระบายออกได้แล้ว ....ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาสติ อัน ผู้มีสัมมาสติระบายออกได้แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาสมาธิ อัน ผู้มีสัมมาสมาธิระบายออกได้แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาญาณะ อัน ผู้มีสัมมาญาณะระบายออกได้แล้ว .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท. ! มิจฉาวิมุตติ อัน ผู้มีสัมมาวิมุตติระบายออกได้แล้ว ; กล่าวคือ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยเหล่าใดบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาระบายออกได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก ที่มีสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.

ภิกษุ ท. ! นี้แล ยาถ่ายอันเป็นอริยะ (รวม ๑๐ ประการ) อันเป็นยาถ่ายมีผลโดยส่วนเดียว ไม่มีที่จะไม่ให้ผล อันเป็นยาถ่ายซึ่งอาศัยแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย สัตว์ที่มีโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายเป็นธรรมดาจะพ้นจากโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย. - ทสก. อํ. ๒๔/๒๓๓/๑๐๘.

เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”

  เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”



เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”



ภิกษุ ท. ! โลก ๓ เป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงเป็นผู้ถอนตนจากโลกได้แล้ว. เหตุให้เกิดโลก เป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงละเหตุให้เกิดโลกได้แล้ว. ความดับไม่เหลือของโลกเป็นสภาพที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงทำให้แจ้งความดับไม่เหลือของโลกได้แล้ว. ทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้วตถาคตจึงทำให้เกิดมีขึ้นได้แล้ว ซึ่งทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลกนั้น.

ภิกษุ ท. ! อายตนะอันใด ที่พวกมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร, พรหม, ที่หมู่สัตว์พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ได้เห็นได้ฟัง ได้ดม-ลิ้ม-สัมผัส ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ ได้แสวงหา ได้เที่ยวผูกพันติดตามโดยน้ำใจ, อายตนะนั้น ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.
ภิกษุ ท. ! ในราตรีใด ตถาคตได้ตรัสรู้ และในราตรีใด ตถาคตปรินิพพาน, ในระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอบ พร่ำสอน แสดงออกซึ่งคำใด, คำนั้นทั้งหมด ย่อมมีโดยประการเดียวกันทั้งสิ้น ไม่แปลกกันโดยประการอื่น, เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.
ภิกษุ ท. ! ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร, พรหม, ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ตถาคตเป็นผู้เป็นยิ่ง ไม่มีใครครอบงำ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (โดยธรรม) แต่ผู้เดียว, เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.

บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓, และ จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๐/๒๓.