พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน

พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน

พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน



[๕๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ก็ผู้ใด เมื่อก่อน ประมาท ภายหลัง ผู้นั้น ไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง
ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ผู้ใด ทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง
ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้
ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ
ฉะนั้น ขอศัตรูทั้งหลายของเรา จงฟังธรรมกถาเถิด
ขอศัตรูทั้งหลายของเรา จงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถิด
ขอมนุษย์ทั้งหลายที่เป็นศัตรูของเรา จงคบสัตบุรุษผู้ชวนให้ถือธรรมเถิด
ขอจงคบความผ่องแผ้วคือขันติ ความสรรเสริญคือเมตตาเถิด ขอจงฟังธรรมตามกาล และจงกระทำตามธรรมนั้นเถิด
ผู้ที่เป็นศัตรูนั้น ไม่พึงเบียดเบียนเราหรือใครๆ อื่นนั้นเลย
ผู้ถึงความสงบอย่างยิ่งแล้ว พึงรักษาไว้ซึ่งสัตว์ที่สะดุ้งและที่มั่นคง
คนทดน้ำ ย่อมชักน้ำไปได้ ช่างศร ย่อมดัดลูกศรได้ ช่างถาก ย่อมถากไม้ได้ ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทรมานตนได้ ฉันนั้น
คนบางพวก ย่อมฝึกสัตว์ ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง
เราเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกแล้ว โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา เมื่อก่อน เรามีชื่อว่าอหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียน สัตว์อยู่ วันนี้ เรามีชื่อตรงความจริง เราไม่เบียดเบียนใครๆ เลย เมื่อก่อน เราเป็นโจร ปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล ถูกกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่พัดไป
มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแล้ว เมื่อก่อนเรามีมือเปื้อนเลือด
ปรากฏชื่อว่า องคุลิมาล ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จึงถอนตัณหา
อันจะนำไปสู่ภพเสียได้ เรากระทำกรรมที่จะให้ถึงทุคติเช่นนั้นไว้มาก
อันวิบากของกรรมถูกต้องแล้ว เป็นผู้ไม่มีหนี้ บริโภคโภชนะ
พวกชนที่เป็นพาลทรามปัญญา ย่อมประกอบตามซึ่งความประมาท
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ
ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงอย่าประกอบตามซึ่งความประมาท
อย่าประกอบตามความชิดชมด้วยสามารถความยินดีในกาม
เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงความสุขอันไพบูลย์
การที่เรามาสู่พระพุทธศาสนานี้นั้น เป็นการมาดีแล้ว
ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด
บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว
เราก็ได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดแล้ว (นิพพาน)
การที่เราได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดนี้นั้น เป็นการถึงดีแล้ว
ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำแล้ว ดังนี้. จบ อังคุลิมาลสูตร ที่ ๖.

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้า ๓๖๕  ข้อที่ ๕๓๔

1 ความคิดเห็น: