การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ

การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ

การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ






วินัยบัญญัติ ที่มาในสิกขาบทปาติโมกข์
อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการซื้อและการขายมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุ
ชื่อนี้ให้ครองจีวร
ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ
ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร
ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า
รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่ง
ต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้
การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่าน
อย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.

-บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๕๔/๗๐ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๐/๑๐๕ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๔/๑๑๐, -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๙/๑๑๓

ภรรยา ๗ จำพวก

ภรรยา ๗ จำพวก


ภรรยา ๗ จำพวก


ครั้งนั้น เมื่อเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า คหบดี ! เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่าน จึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน. อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นางสุชาดาคนนี้ ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ในเรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาค นางก็ไม่สักการะเคารพนับถือบูชา”.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนว่า “มานี่แน่ะ ! สุชาดา” นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า สุชาดา ! ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ :- ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ เสมอด้วยโจร ๑ เสมอด้วยนาย ๑ เสมอด้วยแม่ ๑ เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ เสมอด้วยเพื่อน ๑ เสมอด้วยทาสี ๑ สุชาดา ! ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น. นางสุชาดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึงความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน โดยที่หม่อมฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด” สุชาดา ! ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือน ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า :- (๑) ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต. (๒) สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร. (๓) ภริยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภริยาเสมอด้วยนาย.
(๔) ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วยมารดา. (๕) ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาว น้องสาว. (๖) ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีศีล มีวัตร ปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา ภริยาเสมอด้วยเพื่อน. (๗) ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภริยาเสมอด้วยทาสี.
ภริยาที่เรียกว่า วธกาภริยา ๑, โจรีภริยา ๑, อัยยาภริยา ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้น ล้วนแต่เป็นคนทุศีลหยาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก. ส่วนภริยาที่เรียกว่า มาตาภริยา ๑, ภคินีภริยา สขีภริยา ๑, ทาสีภริยา ภริยา
ทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ. สุชาดา ! ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวกไหน ใน ๗ จำพวกนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี.

    -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๙๒/๖๐.

เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

ท้าคนแก้ชก





เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน


สารีบุตร ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ชั่วเวลาที่บุรุษนี้ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย, ก็ยังคงประกอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวอยู่เพียงนั้น, เมื่อใดบุรุษนี้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลนาน ผ่านวัยไปแล้ว มีอายุ ๘๐ ปี, ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี จากการเกิด, เมื่อนั้น เขาย่อมเป็นผู้เสื่อมสิ้นจากปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว. สารีบุตร ! ข้อนี้ เธออย่าพึงเห็นอย่างนั้น, เรานี้แล ในบัดนี้เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาแล้ว วัยของเรานับได้ ๘๐ ปี, ...ฯลฯ... สารีบุตร ! ธรรมเทศนาที่แสดงไปนั้น ก็มิได้แปรปรวน บทพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน ปฏิภาณในการตอบปัญหาของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน...ฯลฯ...
สารีบุตร ! แม้ว่าเธอทั้งหลาย จักนำเราไปด้วยเตียงน้อย (สำหรับหามคนทุพพลภาพ), ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวของตถาคต ก็มิได้มี. สารีบุตร ! ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวให้ถูกให้ชอบว่า “สัตว์มีความไม่หลงเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว ผู้นั้นพึงกล่าวซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของพระผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ ว่า :- “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”.
อานนท์ ! นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น; คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้. พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า :- โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว. แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๒,
    -บาลี มหาวาร. สํ ๑๙/๒๘๗/๙๖๓. ,
    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๑/๑๐๘.

คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๒)

คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๒)


คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๒)



ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า. ธรรม ๔ ประการนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :- อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ (๑) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
(๒) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
(๓) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
(๔) มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน. ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ แล ย่อมเป็น
พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๔๐/๑๔๕๑.

พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน

พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน

พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน



[๕๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ก็ผู้ใด เมื่อก่อน ประมาท ภายหลัง ผู้นั้น ไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง
ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ผู้ใด ทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง
ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้
ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ
ฉะนั้น ขอศัตรูทั้งหลายของเรา จงฟังธรรมกถาเถิด
ขอศัตรูทั้งหลายของเรา จงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถิด
ขอมนุษย์ทั้งหลายที่เป็นศัตรูของเรา จงคบสัตบุรุษผู้ชวนให้ถือธรรมเถิด
ขอจงคบความผ่องแผ้วคือขันติ ความสรรเสริญคือเมตตาเถิด ขอจงฟังธรรมตามกาล และจงกระทำตามธรรมนั้นเถิด
ผู้ที่เป็นศัตรูนั้น ไม่พึงเบียดเบียนเราหรือใครๆ อื่นนั้นเลย
ผู้ถึงความสงบอย่างยิ่งแล้ว พึงรักษาไว้ซึ่งสัตว์ที่สะดุ้งและที่มั่นคง
คนทดน้ำ ย่อมชักน้ำไปได้ ช่างศร ย่อมดัดลูกศรได้ ช่างถาก ย่อมถากไม้ได้ ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทรมานตนได้ ฉันนั้น
คนบางพวก ย่อมฝึกสัตว์ ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง
เราเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกแล้ว โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา เมื่อก่อน เรามีชื่อว่าอหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียน สัตว์อยู่ วันนี้ เรามีชื่อตรงความจริง เราไม่เบียดเบียนใครๆ เลย เมื่อก่อน เราเป็นโจร ปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล ถูกกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่พัดไป
มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแล้ว เมื่อก่อนเรามีมือเปื้อนเลือด
ปรากฏชื่อว่า องคุลิมาล ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จึงถอนตัณหา
อันจะนำไปสู่ภพเสียได้ เรากระทำกรรมที่จะให้ถึงทุคติเช่นนั้นไว้มาก
อันวิบากของกรรมถูกต้องแล้ว เป็นผู้ไม่มีหนี้ บริโภคโภชนะ
พวกชนที่เป็นพาลทรามปัญญา ย่อมประกอบตามซึ่งความประมาท
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ
ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงอย่าประกอบตามซึ่งความประมาท
อย่าประกอบตามความชิดชมด้วยสามารถความยินดีในกาม
เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงความสุขอันไพบูลย์
การที่เรามาสู่พระพุทธศาสนานี้นั้น เป็นการมาดีแล้ว
ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด
บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว
เราก็ได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดแล้ว (นิพพาน)
การที่เราได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดนี้นั้น เป็นการถึงดีแล้ว
ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำแล้ว ดังนี้. จบ อังคุลิมาลสูตร ที่ ๖.

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้า ๓๖๕  ข้อที่ ๕๓๔

มัลลิกาสูตรที่ ๘


มัลลิกาสูตรที่ ๘

 
มัลลิกาสูตรที่ ๘



[๓๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ประทับ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน พร้อมด้วยพระนางมัลลิการาชเทวี ฯ ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า แน่ะ มัลลิกา ก็คนอื่นคือใครเล่าซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมมีแก่เธอหรือหนอแล ฯ พระนางมัลลิกาได้ทูลสนองว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็คนอื่นคือใครเล่าซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนย่อมไม่มีแก่หม่อมฉันแล ก็คนอื่นคือใครเล่าซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมมีแก่พระองค์หรือไฉน ฯ พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า แน่ะมัลลิกา คนอื่นใครๆ ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนย่อมไม่มีแม้แก่ฉัน ฯ [๓๔๗] ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระ ภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้อยู่ที่ปราสาทอันประเสริฐชั้นบนกับด้วยพระนางมัลลิการาชเทวี ได้พูดกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า แน่ะมัลลิกา ก็คนอื่นคือใครเล่าซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมมีอยู่หรือหนอแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นหม่อมฉันพูดอย่างนี้แล้ว พระนางมัลลิการาชเทวีได้ทูลสนองหม่อมฉันว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็คนอื่นคือใครเล่าซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมไม่มีแก่หม่อมฉันแล ก็คนอื่นใครๆ ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนย่อมมีอยู่แก่พระองค์หรือไฉน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นพระนางมัลลิกาทูลสนองอย่างนี้แล้วหม่อมฉันได้พูดกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า แน่ะมัลลิกา คนอื่นใครๆ ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมไม่มีแม้แก่ฉันแล ฯ [๓๔๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ ตรัสพระคาถานี้ ในเวลานั้นว่า บุคคลค้นหาด้วยจิตตลอดทิศทั้งหมด
ไม่ได้พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ในที่ไหนๆ เลย
สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน ฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น ฯ

- พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
   สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค  หน้าที่ ๙๔ข้อที่ ๓๔๔ - ๓๔๕
หน้า