ความดับของอายตนะ คือ ความดับของทุกข์

ความดับของอายตนะ คือ ความดับของทุกข์


ความดับของอายตนะ คือ ความดับของทุกข์


    ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับ ความเข้าไปสงบรำงับ และความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งตา แห่งหู แห่งจมูก แห่งลิ้น แห่งกาย แห่งใจ ใดๆ อันนั้นแหละเป็นความดับแห่งทุกข์
    อันนั้นแหละเป็นความเข้าไปสงบรำงับแห่งสิ่งซึ่งมีปกติเสียบแทงทั้งหลาย อันนั้นแหละเป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชราและมรณะแล.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับ ความเข้าไปสงบรำงับ และความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูป แห่งเสียง แห่งกลิ่น แห่งรส แห่งโผฏฐัพพะ แห่งธรรมารมณ์ ใดๆ อันนั้นแหละ เป็นความดับแห่งทุกข์, 
    อันนั้นแหละเป็นความเข้าไปสงบรำงับแห่งสิ่งซึ่งมีปกติเสียบแทงทั้งหลาย อันนั้นแหละเป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชราและมรณะแล.

    - บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๘๓/๔๘๐.

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด



การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด






ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทน ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง. ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ ๑. มารดา ๒. บิดา ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย. ส่วนบุตรคนใด
ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา). ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นใน สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล). ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค). ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา). ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๗๘/๒๗๘.

สติ คือ นายประตู

สติ คือ นายประตู


สติ คือ นายประตู



ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างว่า เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มี กำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู นายประตูเมืองนั้นเป็นคนฉลาด เฉียบแหลม
มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไปในเมืองนั้น
ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศบูรพา พึงถามนายประตูนั้นว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง ทีนั้นแล ราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว
ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศปัจจิม...
ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศอุดร...
ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศทักษิณ แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูนั้นพึงตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมืองทีนั้นแล ราชทูตคู่หนึ่งนั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปทางตามที่มาแล้ว
ดูกรภิกษุ อุปมานี้แล เรากระทำแล้วเพื่อจะให้เนื้อความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานั้นมี เนื้อความดังต่อไปนี้
คำว่าเมือง เป็นชื่อของกายนี้ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาและบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีอันต้องอบ ต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา
คำว่าประตู ๖ ประตู เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖
คำว่านายประตูเป็นชื่อของสติ
คำว่าราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน เป็นชื่อของสมถะและวิปัสนา คำว่าเจ้าเมืองเป็นชื่อของวิญญาณ
คำว่าทางสามแพร่งกลางเมือง เป็นชื่อของมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
คำว่าถ้อยคำตามความเป็นจริง เป็นชื่อของนิพพาน คำว่าทางตามที่มาแล้ว เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
จบสูตรที่ ๘

พระไตรปิฎก(ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
หน้าที่ ๒๑๐ ข้อที่ ๓๔๒

อานิสงส์แห่งกายคตาสติ

อานิสงส์แห่งกายคตาสติ

อานิสงส์แห่งกายคตาสติ


ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้นฉะนั้น; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสังเวชมาก เป็นไปเพื่อประโยชน์มาก เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะมาก เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ. ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความ สังเวชมาก ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์มาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะมาก ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ;
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์. กายคตาสติ ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้. กายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง. ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัส๎มิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้. ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัส๎มิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน. ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉาน ในธาตุมากหลาย. ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย;
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง. ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง; ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา (ปญฺญาปฏิลาภาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา (ปญฺญาวุฑฺฒิยา) ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา (ปญฺญาเวปุลฺลาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ (มหาปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา (ปุถุปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ (วิปุลปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง (คมฺภีรปญฺญตาย)
ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง (อสมตฺถปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน (ภูริปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก (ปญฺญาพาหุลฺลาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว (สีฆปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเบา(ลหุปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง(หาสปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไว(ชวนปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาคม (ติกฺขปญฺญตาย) ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส (นิพฺเพธิกปญฺญตาย). ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส; ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด ไม่บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่บริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่บริโภคแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดบริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นบริโภคแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติของชนเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าเสื่อมแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติของชนเหล่าใดไม่เสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่เสื่อมแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใดประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าประมาทอมตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใดไม่ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่ประมาทอมตะ;
ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดหลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นหลงลืม. ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่หลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่หลงลืม; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ส้องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ส้องเสพแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดส้องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นส้องเสพแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่เจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่เจริญแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดเจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเจริญแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้มากแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้มากแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง;
ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่กำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่กำหนดรู้แล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดกำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้แจ้งแล้ว; ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้แจ้งแล้ว, ดังนี้.

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๕๕/๒๒๕.

เลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคต

เลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคต


เลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคต


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ
พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส)
และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย
โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ (กล่าว)
ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันพึงเป็นฝ่ายนั้น
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้.

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคหน้าที่ ๓๗๓ข้อที่ ๑๕๒๓ - ๑๕๒๔
หน้าที่ 373