ทรงแสดงสาวกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในอินทรียภาวนา

ทรงแสดงสาวกตัวอย่าง

ที่ประสบความสำเร็จในอินทรียภาวนา

ผู้กองภูให้ธรรมะ


ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! สารีบุตร ! อริยสาวกใด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคตถึงที่สุดโดยส่วนเดียว, เขาย่อมไม่สงสัยหรือลังเลในตถาคตหรือในคำสอนของตถาคต. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธาแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม ท. เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ท. เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ท.

สารีบุตร ! ความเพียรเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือวิริยะ ของเธอนั้น ! สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่แล้วพึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้มีสติ ประกอบพร้อมด้วยสติเป็นเครื่องระวังรักษาตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้. สารีบุตร ! ความระลึกเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือสติ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้กระทำให้ได้ซึ่งโวสสัคคารมณ์ จักได้ซึ่งความตั้งมั่นแห่งจิต กล่าวคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว. สารีบุตร ! ความตั้งมั่นแห่งจิตเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น อินทรีย์คือสมาธิ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ ว่า “สังสารวัฏฏ์ เป็นสิ่งมีที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้, ที่สุดฝ่ายข้างต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ ท. ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก กำลังแล่นไป ท่องเที่ยวไป. ความจางคลายดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งอวิชชาอันเป็นกองแห่งความมืดนั้นเสียได้ มีอยู่; นั่นเป็นบทที่สงบ นั่นเป็นบทที่ประณีต, กล่าวคือ เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน.” สารีบุตร ! ความรู้ชัดเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือปัญญา ของเธอนั้น. สารีบุตร ! อริยสาวกนั้นนั่นแหละ ตั้งไว้แล้วตั้งไว้แล้ว (ซึ่งวิริยะ) ด้วยอาการอย่างนี้ ระลึกแล้วระลึกแล้ว (ด้วยสติ) ด้วยอาการอย่างนี้ ตั้งมั่นแล้วตั้งมั่นแล้ว (ด้วยสมาธิ) ด้วยอาการอย่างนี้ รู้ชัดแล้วรู้ชัด (ด้วยปัญญา) ด้วยอาการอย่างนี้เขาย่อมเชื่ออย่างยิ่ง อย่างนี้ ว่า


“ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อนในบัดนี้ เราถูกต้องธรรมเหล่านั้นด้วยนามกายแล้วแลอยู่ ด้วย และ แทงตลอด ธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาแล้วเห็นอยู่ ด้วย” ดังนี้.
สารีบุตร ! ความเชื่อเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือ สัทธา ของเธอนั้น, ดังนี้แล.

บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๙๙/๑๐๑๗. ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่อาปณนิคม แคว้นอังคะ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น