การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ
วินัยบัญญัติ ที่มาในสิกขาบทปาติโมกข์ อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการซื้อและการขายมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.
ธรรมะแวดล้อม ที่มาในสูตรอื่นๆ
... เมณฑกะคหบดีผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียง จะเดินทางไปทำไม่ได้ง่าย ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส.
ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไปทำไม่ได้ง่าย เราจึงอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อยพึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส.
ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า “สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้”.
ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อราชบริษัทนั่งประชุมกันในพระราชวังสังสนทนากันว่า ทองและเงินย่อมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน เมื่อราชบริษัทกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านผู้เจริญอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินย่อมไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ไม่อาจให้บริษัทนั้นยินยอมได้ เมื่อข้าพระองค์พยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง เป็นการพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ที่ถูกตำหนิไปด้วยหรือ พระเจ้าข้า.” ดีละ คามณิ ! เมื่อท่านพยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง เป็นการพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ถูกตำหนิไปด้วย เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน คามณิ ! ทองและเงินควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณก็ควรแก่ผู้นั้น เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น คามณิ ! ท่านพึงทรงความที่ควรแก่เบญจกามคุณนั้นโดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่ง เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.
-บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๕๔/๗๐ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๐/๑๐๕ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๔/๑๑๐, -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๙/๑๑๓ -บาลี มหา. วิ. ๕/๑๒๐/๘๕ , -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๐๑/๖๒๕
ธรรมที่เป็นจริง มีได้ในผู้ที่สดับเท่านั้นจริงๆ สาธุ
ตอบลบสาธุ
ตอบลบ