ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร

ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร


ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร


วัจฉะ ! ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง คือ :- ทำอันตรายต่อบุญของทายก (ผู้ให้ทาน), ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก (ผู้รับทาน), และตัวเองก็ขุดรากตัวเองกำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว. วัจฉะ ! ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นอมิตรผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง ดังนี้แล. วัจฉะ ! เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อ หรือน้ำล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำ หรือทางน้ำโสโครก ซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้น ด้วยคิดว่า สัตว์ในนั้นจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต ดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่า นั่นเป็นทางมาแห่งบุญ เพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ด้วยกัน” ดังนี้.
อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล เป็นทานมีผลมาก. ทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่. และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ ๕ และประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕. ละองค์ ๕ คือ :-
ละกามฉันทะ
ละพยาบาท
ละถีนมิทธะ (หดหู่ซึมเซา)
ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่านรำคาญ)
ละวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย) ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ :-
ประกอบด้วยกองศีลชั้นอเสขะ (คือชั้นพระอรหันต์)
ประกอบด้วยกองสมาธิชั้นอเสขะ
ประกอบด้วยกองปัญญาชั้นอเสขะ
ประกอบด้วยกองวิมุตติชั้นอเสขะ ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะชั้นอเสขะ. เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ห้า และประกอบด้วยองค์ห้า ด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมาก ดังนี้.
 
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ แปดอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๐๕/๔๙๗. -บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๕๙/๙๖

ภิกษุเก่าคอยช่วยภิกษุใหม่

ภิกษุเก่าคอยช่วยภิกษุใหม่


ภิกษุเก่าคอยช่วยภิกษุใหม่


อานนท์ ! ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้, ภิกษุเหล่านั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะในธรรมห้าอย่าง. ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ :- (๑) ภิกษุใหม่นั้น อันเธอทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในปาติโมกขสังวร ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด, จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้เป็นโทษเล็กน้อยสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้. (๒) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในอินทรียสังวร ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย !
พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย มีสติคอยอารักขามีสติคอยปกป้อง มีใจถูกคุ้มครองแล้ว ประกอบด้วยใจอันสติคอยอารักขาแล้ว อยู่เถิด” ดังนี้.
(๓) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในการหยุดพูดพล่าม ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้พูดแต่น้อยคำ จงทำการหยุดการ พูดพล่ามเสียเถิด” ดังนี้.
(๔) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในการหลีกออกจากหมู่ด้วยกาย ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้สมาทานการอยู่ป่า จงเสพเฉพาะเสนาสนะอันเงียบสงัดที่เป็นป่าและป่าชัฏเถิด” ดังนี้. (๕) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในความเห็นชอบ ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบเถิด” ดังนี้. อานนท์ ! ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้, ภิกษุเหล่านั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรง อยู่เฉพาะ ในธรรมห้าอย่างเหล่านี้แล.

    -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๕๖/๑๑๔

ฤกษ์ดี ยามดี ในแบบพุทธวจน

ฤกษ์ดี ยามดี ในแบบพุทธวจน


ฤกษ์ดี ยามดี ในแบบพุทธวจน



ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น. สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น. สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น. สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย.

    -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๗๘/๕๙๕.

พระพุทธเจ้า เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

พระพุทธเจ้า เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา


พระพุทธเจ้า เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา


อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ

ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน
ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน
ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย
ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่
พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์
ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย
ปรุงยาแก้ลมตีขึ้นเบื้องบน ปรุงยาแก้ลมตีลงเบื้องล่าง
ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู
ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทาให้กัด
ปรุงยาทาให้สมาน ป้ายยาตา
ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล.

ส่วนสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว เมื่อปุถุชนจะกล่าวสรรเสริญตถาคต พึงกล่าวสรรเสริญอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่ปุถุชนกล่าวสรรเสริญตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อย ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีลนั้นเท่านี้แล.

        -บาลี พรหมชาลสูตร สี. ที. ๙/๑๑/๑๙.

ความนานแห่งกัป (นัยที่ ๒)

ความนานแห่งกัป (นัยที่ ๒)



ความนานแห่งกัป (นัยที่ ๒)


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! กัปหนึ่ง นานเพียงไรหนอแล ? ภิกษุ ! กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี. ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ! อาจอุปมาได้ ภิกษุ ภิกษุ ! เหมือนอย่างว่า นครที่ทำด้วยเหล็ก ยาวโยชน์ ๑ กว้างโยชน์ ๑ สูงโยชน์ ๑ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่งๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น พึงถึงความสิ้นไป หมดไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป หมดไป กัปนานอย่างนี้แล บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏสัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น. ภิกษุ ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

    -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๖/๔๓๑.

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ


ปีใหม่ ขอเป็นคนใหม่




ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้นเมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”. ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมาเป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่.
อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :- อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม {๑} อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.
 
{๑} โยคกรรม คือ การกระทำอย่างเป็นระบบ

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป


อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
“ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะ
อันเลิศที่สุด แล.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๓)

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๓)


ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล


อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่, คืออะไรบ้าง ? คือทายลักษณะในร่างกายบ้าง ทายนิมิตลางดีลางร้ายบ้าง ทายอุปปาตะ คือของตกบ้าง ทำนายฝัน ทายชะตา ทายผ้าหนูกัด ทำพิธีโหมเพลิง ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดโปรยแกลบ ทำพิธีซัดโปรยรำ ทำพิธีซัดโปรยข้าวสาร ทำพิธีจองเปรียง ทำพิธีจุดไฟบูชา ทำพิธีเสกเป่า ทำพิธีพลีด้วยโลหิตบ้าง เป็นหมอดูอวัยวะร่างกาย หมอดูภูมิที่ตั้งบ้านเรือน ดูลักษณะไร่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอทำยันต์กันบ้านเรือน หมองู หมอดับพิษ หมอแมลงป่อง หมอหนูกัด หมอทายเสียงนก เสียงกา หมอทายอายุ หมอกันลูกศร หมอดูรอยสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

ความทุกข์ในนรก

ความทุกข์ในนรก


HELLKEEPER นรกเรียกพ่อ



ความทุกข์ในนรก





ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ - ๕ กะสัตว์นั้นว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ - ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ?”
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า ! มัวประมาทเสียเจ้าข้า !” พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ - ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก ... .
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... . ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะเอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... . ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... . ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก ล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของมหานรกนั้นล้วนเต็มไปด้วยเหล็กลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ตั้งอยู่ทุกเมื่อ.
ภิกษุทั้งหลาย ! และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝาด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด ... ประตูด้านหลังของมหานรกเปิด ... ประตูด้านเหนือเปิด ... ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคืนรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในมหานรกนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคืนรูปเดิมทันทีสัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้วเฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.
ภิกษุทั้งหลาย ! และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึงใหญ่ (ขี้เถ้าร้อน) ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาล จะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.
ภิกษุทั้งหลาย ! และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ในแม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์นั้นขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! เจ้าต้องการอะไร” สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า !” เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้างออกมาทางส่วน เบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! เจ้าต้องการอะไร” สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า !” เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออกแล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้น ย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก. ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า :- “พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ! เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่ทำกรรมอันเป็นบาปไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ต่างชนิด เห็นปานนี้. โอหนอ ! ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะพึงเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรม ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด”. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น.
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๓๔/๕๐๔.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)


ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)


มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล, เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล, เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ, เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง, เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก, แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ

การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ

การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ
วินัยบัญญัติ ที่มาในสิกขาบทปาติโมกข์     อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงิน
อันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการซื้อและการขายมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ
ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.


ธรรมะแวดล้อม ที่มาในสูตรอื่นๆ
... เมณฑกะคหบดีผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียง จะเดินทางไปทำไม่ได้ง่าย ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส. ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไปทำไม่ได้ง่าย เราจึงอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อยพึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส. ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า “สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้”. ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อราชบริษัทนั่งประชุมกันในพระราชวังสังสนทนากันว่า ทองและเงินย่อมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน เมื่อราชบริษัทกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านผู้เจริญอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินย่อมไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ไม่อาจให้บริษัทนั้นยินยอมได้ เมื่อข้าพระองค์พยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง เป็นการพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ที่ถูกตำหนิไปด้วยหรือ พระเจ้าข้า.” ดีละ คามณิ ! เมื่อท่านพยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง เป็นการพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ถูกตำหนิไปด้วย เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน คามณิ ! ทองและเงินควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณก็ควรแก่ผู้นั้น เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น คามณิ ! ท่านพึงทรงความที่ควรแก่เบญจกามคุณนั้นโดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่ง เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.

-บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๕๔/๗๐ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๐/๑๐๕ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๔/๑๑๐, -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๙/๑๑๓ -บาลี มหา. วิ. ๕/๑๒๐/๘๕ , -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๐๑/๖๒๕

ข้อดีของมนุษย์เทียบกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์

ข้อดีของมนุษย์เทียบกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์


ข้อดีของมนุษย์เทียบกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์


ภิกษุทั้งหลาย ! มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป ประเสริฐกว่าพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ ๓ ประการ. ๓ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑) ไม่มีทุกข์
(๒) ไม่มีความหวงแหน
(๓) มีอายุแน่นอน
ภิกษุทั้งหลาย ! มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป ประเสริฐกว่าพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีปด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล. ภิกษุทั้งหลาย ! มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการ. ๓ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑) เป็นผู้กล้า
(๒) เป็นผู้มีสติ
(๓) เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ภิกษุทั้งหลาย ! มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล.

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๔๐๘/๒๒๕.


สุคติของเทวดา

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ :- (๑) ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง
(๒) ผ้าย่อมเศร้าหมอง
(๓) เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้
(๔) ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย
(๕) เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ! ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลายพระเจ้าข้า ! ภิกษุทั้งหลาย ! ความเป็นมนุษย์ นี้แลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ศรัทธาของเทวดาใดนั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้ นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า :- “แน่ะท่านผู้เจริญ ! ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด เมื่อท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรมศรัทธาของท่านนั้นพึงตั้งลงมั่น มีรากหยั่งลงมั่นในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษกระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มากด้วยทาน แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์”
เมื่อใด เทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า “แน่ะเทวดา ! ท่านจงมาบ่อยๆ”.

-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑.