การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์


การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์
    ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก. สามจำพวกอย่างไรเล่า ? สามจำพวกคือ :-
คนตาบอด (อนฺโธ), คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ), คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ). ภิกษุทั้งหลาย ! คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ? คือคนบางคนในโลกนี้ ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง; และไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ ธรรมเลวและธรรมประณีต ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).
ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาข้างเดียวเป็นอย่างไรเล่า ? คือคนบางคนในโลกนี้ มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง; แต่ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ ธรรมเลวและธรรมประณีต ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาข้างเดียว. ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาสองข้างเป็นอย่างไรเล่า ? คือคนบางคนในโลกนี้ มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง; และมีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ ธรรมเลวและธรรมประณีต ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาสองข้าง.
...ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุมีตาสมบูรณ์ (จกฺขุมา) เป็นอย่างไรเล่า ? คือภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดแห่งทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ภิกษุมีตาสมบูรณ์.

     -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๖๒/๔๖๘.      -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๔๗/๔๕๙.

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น

ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ? ภิกษุทั้งหลาย ! : เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ; เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป; เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ; เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา; เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา; เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน; เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ; เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ; เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย, ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ปฏิจจสมุปบาท


ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท. เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๑/๑.

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด


การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด


ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง. ท่านทั้งสอง คือใคร ? คือ มารดา ๑ บิดา ๑
ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๗๘/๒๗๘.

เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น

เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น


เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น


เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น



ภิกษุ ท. ! เธอพึงเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘เราจักรักษาซึ่งตน’; เธอพึงเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘เราจักรักษาซึ่งผู้อื่น’. ภิกษุ ท. ! เมื่อรักษาตน ก็คือรักษาผู้อื่น : เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน ๑ . ภิกษุ ท. ! เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ข้อนี้หมายความว่า รักษาตนด้วยการเสพธรรมะ ด้วยการเจริญธรรมะ ด้วยการทำให้มากซึ่งธรรมะ. นี้แหละคือ เมื่อรักษาตนอยู่ จะมีผลเป็นการรักษาผู้อื่น. ภิกษุ ท. ! เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ข้อนี้หมายความว่า รักษาผู้อื่นด้วยการอดทน ด้วยการไม่เบียดเบียน ด้วยเมตตาจิต ด้วยความรักใคร่เอ็นดู. นี้แหละคือ เมื่อรักษาผู้อื่นอยู่ จะมีผลเป็นการรักษาตนด้วย. ภิกษุ ท. ! เมื่อคิดว่าเราจักรักษาตน ก็จงเจริญสติปัฏฐานเถิด, เมื่อคิดว่าเราจักรักษาผู้อื่น ก็จงเจริญสติปัฏฐานเถิด; เพราะว่าเมื่อเจริญสติปัฏฐานเพื่อรักษาตน ก็เป็นการรักษาผู้อื่น : เมื่อเจริญสติปัฏฐานเพื่อรักษาผู้อื่นก็เป็นการรักษาตนด้วย; อย่างนี้แล. (ข้อนี้หมายความว่า การทำให้เกิดสติปัฏฐานชื่อว่ารักษาตน. ในสติปัฏฐานนั้นมีการระลึกด้วยพรหมวิหาร จึงถือว่ามีการรักษาผู้อื่นด้วย). - มหาวาร.สํ. ๑๙/๒๒๔ - ๒๒๕/๗๕๘ - ๗๖๒.


    
    ๑. คำนี้หมายความว่า เมื่อเจริญสติปัฏฐานเพื่อประโยชน์แก่ตน ก็จักมีประโยชน์ถึงผู้อื่นเนื่องกันไปในตัวด้วย เหมือนกับที่บุรุษผู้รักษาโคนไม้กับบุรุษผู้อยู่ปลายไม้ ต่างฝ่ายต่างมุ่งรักษาตนดีแล้วก็จะเป็นการรักษาซึ่งกันและกันให้ไม่พลาดพลั้งลงไป, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ผู้มีอุปการะมาก

ผู้มีอุปการะมาก


ผู้มีอุปการะมาก



ถูกแล้วๆ อานนท์ ! จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยะเจ้า เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-ปัจจัยเภสัชชบริขาร

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๗/๗๐๙.

คนตกน้ำ ๗ จำพวก

คนตกน้ำ ๗ จำพวก



คนตกน้ำ ๗ จำพวก 4

คนตกน้ำ ๗ จำพวก



คนตกน้ำ ๗ จำพวก(ระดับต่างๆ แห่งบุคคลผู้ถอนตัวขึ้นจากทุกข์)

    ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเปรียบด้วยบุคคลตกน้ำ เจ็ดจำพวก เหล่านี้ มีอยู่หาได้อยู่ในโลก.
เจ็ดจำพวกเหล่าไหนเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ :
(๑) บุคคลบางคน จมน้ำคราวเดียวแล้วก็จมเลย;(๒) บุคคลบางคน ผุดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วจึงจมเลย;
(๓) บุคคลบางคน ผุดขึ้นแล้ว ลอยตัวอยู่;
(๔) บุคคลบางคน ผุดขึ้นแล้ว เหลียวดูรอบๆ อยู่; (๕) บุคคลบางคน ผุดขึ้นแล้ว ว่ายเข้าหาฝั่ง;
(๖) บุคคลบางคน ผุดขึ้นแล้ว เดินเข้ามาถึงที่ตื้นแล้ว;
(๗) บุคคลบางคน ผุดขึ้นแล้ว ถึงฝั่งข้ามขึ้นบกแล้ว เป็นพราหมณ์ยืนอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! (๑) บุคคล จมน้ำคราวเดียวแล้วก็จมเลย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายเดียว โดยส่วนเดียว. อย่างนี้แล เรียกว่า จมคราวเดียวแล้วก็จมเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! (๒) บุคคล ผุดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วจึงจมเลย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ผุดขึ้น คือ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริดี-มีโอตตัปปะดี-มีวิริยะดี-มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย. แต่ว่าศรัทธาเป็นต้นของเขา ไม่ตั้งอยู่นาน ไม่เจริญ เสื่อมสิ้นไป. อย่างนี้แล เรียกว่า ผุดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วจึงจมเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! (๓) บุคคล ผุดขึ้นแล้วลอยตัวอยู่ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ผุดขึ้น คือ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริดี-มีโอตตัปปะดี-มีวิริยะดี-มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และศรัทธาเป็นต้นของเขา ไม่เสื่อม ไม่เจริญ แต่ทรงตัวอยู่. อย่างนี้แล เรียกว่า ผุดขึ้นแล้วลอยตัวอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! (๔) บุคคล ผุดขึ้นแล้วเหลียวดูรอบๆ อยู่ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ผุดขึ้น คือ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริดี-มีโอตตัปปะดี-มีวิริยะดี-มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นเพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็น โสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า. อย่างนี้แล เรียกว่า ผุดขึ้นแล้ว เหลียวดูรอบๆ อยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! (๕) บุคคล ผุดขึ้นแล้วว่ายเข้าหาฝั่ง เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ผุดขึ้น คือ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริดี-มีโอตตัปปะดี-มีวิริยะดี-มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นเพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความเบาบางแห่งราคะ โทสะ โมหะ เป็น สกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. อย่างนี้แล เรียกว่า ผุดขึ้นแล้ว ว่ายเข้าหาฝั่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! (๖) บุคคล ผุดขึ้นแล้วเดินเข้ามาถึงที่ตื้นแล้ว เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ผุดขึ้น คือ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริดี-มีโอตตัปปะดี-มีวิริยะดี-มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นเพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้า เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) มีการปรินิพพานในภพนั้น ไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา. อย่างนี้แล เรียกว่า ผุดขึ้นแล้ว เดินเข้ามาถึงที่ตื้นแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! (๗) บุคคล ผุดขึ้นแล้ว ถึงฝั่งข้ามขึ้นบกแล้ว เป็นพราหมณ์ยืนอยู่ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ผุดขึ้น คือ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริดี-มีโอตตัปปะดี-มีวิริยะดี-มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ (พระอรหันต์) เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วอยู่. อย่างนี้แล เรียกว่า ผุดขึ้นแล้ว ถึงฝั่งข้ามขึ้นบกแล้ว เป็นพราหมณ์ยืนอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล บุคคลเปรียบด้วยบุคคลตกน้ำเจ็ดจำพวก ซึ่งมีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก.

    -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๐/๑๕.

หากสัตว์ทั้งหลายรู้ผลแห่งการจำแนกทาน

หากสัตว์ทั้งหลายรู้ผลแห่งการจำแนกทาน

ทาน การให้


ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ไซร้ หากสัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้ให้ทานเสียก่อน ก็จะไม่พึงบริโภค อนึ่ง มลทินคือความตระหนี่จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น แม้คำข้าวคือก้อนข้าวของสัตว์เหล่านั้นจะพึงเหลืออยู่คำสุดท้ายก็ตาม ถ้าปฏิคาหกของพวกเขายังมีอยู่ หากสัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้แบ่งคำข้าวคำสุดท้ายแม้นั้น (ให้แก่ปฏิคาหก) ก็จะไม่บริโภค. ภิกษุทั้งหลาย ! แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ ฉะนั้นสัตว์เหล่านั้นจึงไม่ได้ให้ทานก่อนบริโภค อนึ่ง มลทินคือความตระหนี่จึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างที่เรากล่าวไว้แล้ว โดยวิธีที่ผลนั้น เป็นผลใหญ่ไซร้ สัตว์ทั้งหลายพึงกำจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินเสียแล้ว มีใจผ่องใส พึงให้ทานในเขตที่ให้แล้วมีผลมาก คือในพระอริยบุคคลทั้งหลายตามกาลอันควร อนึ่งทายกเป็นอันมาก ครั้นให้ข้าวเป็นทักขิณา ในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลายแล้ว เมื่อจุติจากความเป็นมนุษย์นี้แล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ทายกเหล่านั้นผู้ใคร่กาม ไม่มีความตระหนี่ ไปสู่สวรรค์แล้ว บันเทิงอยู่ในสวรรค์นั้น เสวยอยู่ซึ่งผลแห่งการจำแนกทาน.

-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๒๔๓/๒๐๔.

สาวกานัง สันนิปาโต อโหสิ (วันมาฆบูชา)

สาวกานัง สันนิปาโต อโหสิ (วันมาฆบูชา)


       ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสคำว่า มาฆบูชา นี้เลย พระพุทธเจ้าใช้คำว่า "สาวกานํ สนฺนิปาโต อโหสิ" (สา-วะ-กา-นัง  สัน-นิ-ปา-โต  อะ-โห-สิ) แปลว่า ได้มีการประชุมกันของสาวก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ภิกขุที่มาประชุมกันนั้น ล้วนเป็นภิกขุผู้เป็นอรหันต์ขีณาสพทั้งสิ้น มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตรัสว่า ภิกขุเหล่านั้น ทรงเป็นผู้บวชให้ด้วยพระองค์เอง (เอหิภิกขุ อุปสัมปทา)
        ส่วนคำว่า "อโหสิ" แปลว่า ได้เป็น หรือ ได้มีแล้ว ไม่ได้แปลว่า การให้อภัย หรือยกโทษ ตามที่เราส่วนใหญ่ได้ยินมา ซึ่งชาวพุทธไทย ใช้คำนี้ผิดมาตลอด เช่น ขออโหสิ หรือ ขออโหสิกรรม ซึ่งมีความหมาย และนัยยะที่ผิด
        ในครั้งสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก็ได้มีการประชุมกันของสาวกมาแล้วหลายครั้ง ในสมัยของ พระพุทธเจ้าบางพระองค์ มีการประชุมกันถึง ๓ ครั้ง มีภิกขุอรหันต์ มาประชุมกันครั้งละเป็นล้าน หรือเป็นแสนรูป ก็มี ตามพระสูตรที่ได้ยกมานี้

สาวกานัง สันนิปาโต อโหสิ (วันมาฆบูชา)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งสาวก ของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "วิปัสสี" ได้มี สามครั้ง
ครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ หกล้านแปดแสน รูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แสน รูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แปดหมื่น รูป สาวกของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "วิปัสสี" ซึ่งได้ประชุมกัน ทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ ทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "สิขี" ได้มีสามครั้ง
ครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แสน รูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แปดหมื่น รูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ เจ็ดหมื่น รูป พระสาวกของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "สิขี" ซึ่งได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ ทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "เวสสภู" ได้มี ๓ ครั้ง
ครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แปดหมื่น รูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ เจ็ดหมื่น รูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ หกหมื่น รูป
พระสาวกของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "เวสสภู" ซึ่งได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ ทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "กกุสันธะ" ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ สี่หมื่น รูป พระสาวกของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "กกุสันธะ" ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ ทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "โกนาคมนะ" ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ สามหมื่น รูป พระสาวกของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "โกนาคมนะ" ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ ทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "กัสสปะ" ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ สองหมื่น รูป พระสาวกของ “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "กัสสปะ" ที่ได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ ทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
การประชุมกันแห่งสาวกของเรา (“พระสมณโคดม” คือ “พระพุทธเจ้า” องค์ปัจจุบัน)ในบัดนี้ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ "หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูป" สาวกของเรา ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพ (อรหันต์) ทั้งสิ้น ฯ
    พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๔ ข้อที่ ๗

ธรรมะที่ทรงแสดงให้กับสาวก ผู้เป็นอรหันต์แล้ว ฟังในวันประชุมนั้น คือ "โอวาทปาฏิโมกข์" คือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ได้ยินว่า ณ ที่นั้น “พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า” พระนามว่า "วิปัสสี" ทรงสวดพระปาติโมกข์ ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้
ขันติ คือ ความทนทาน เป็นตบะอย่างยิ่ง “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ตรัสว่า “พระนิพพาน” เป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็น บรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ เลย
• การไม่ทำบาปทั้งสิ้น
• การยังกุศลให้ถึงพร้อม
• การทำจิตของตนให้ผ่องใส
นี้เป็นคำสั่งสอน ของ “พระพุทธเจ้า” ทั้งหลาย
• การไม่กล่าวร้าย ๑
• การไม่ทำร้าย ๑
• ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
• ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑
• ที่นอน ที่นั่ง อันสงัด ๑
• การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของ "พระพุทธเจ้า" ทั้งหลาย ฯ
    พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๔๐ ข้อที่ ๕๔

ผู้ไม่โกรธตอบย่อมชื่อว่าชนะสงคราม

ผู้ไม่โกรธตอบย่อมชื่อว่าชนะสงคราม




ผู้ไม่โกรธตอบย่อมชื่อว่าชนะสงคราม

อสุรินทกสูตรที่ ๓

[๖๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้สดับมาว่า
    'ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตร ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดม' โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาค ด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ เมื่ออสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งเสีย ฯ
     ลำดับนั้นแล อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า
    "พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว ฯ"
[๖๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ชนพาล กล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้ เป็นความชนะ ของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธตอบ บุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบ บุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงคราม อันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตน และแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้น รักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของ ตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้น ว่า เป็นคนเขลาดังนี้ ฯ"
[๖๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
    "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า 'คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้' ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์ พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ"
     อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านอสุรินทกภารทวาชะ อุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า 'ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี'
     ก็แหละท่านพระอสุรินทกภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ

พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๙๘-๑๙๙ ข้อที่ ๖๓๕-๖๓๗

การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา

การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา

 
การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา



ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่ คือ :-

๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล ๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง ๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย ๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเรา จักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน อยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่”ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้แล. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าโจรผู้คอยช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใครด้วยเลื่อยมีด้ามสองข้าง ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนั้น เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน อยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่ เธอจะได้เห็นทางแห่งการกล่าวหาเล็กหรือใหญ่ ที่เธออดกลั้น ไม่ได้ อยู่อีกหรือ ? “ข้อนั้นหามิได้พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้อยู่เป็นประจำเถิด นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน.


    -บาลี ม. ม. ๑๒/๒๕๕/๒๖๗.     -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๘๙/๕๘.