เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

 เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

ไมค์ไทสันแพ้ความแก่



สารีบุตร ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ชั่วเวลาที่บุรุษนี้ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย, ก็ยังคงประกอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวอยู่เพียงนั้น, เมื่อใดบุรุษนี้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลนาน ผ่านวัยไปแล้ว มีอายุ ๘๐ ปี, ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี จากการเกิด, เมื่อนั้น เขาย่อมเป็นผู้เสื่อมสิ้นจากปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว. สารีบุตร ! ข้อนี้ เธออย่าพึงเห็นอย่างนั้น, เรานี้แล ในบัดนี้เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาแล้ว วัยของเรานับได้ ๘๐ ปี, ...ฯลฯ... สารีบุตร ! ธรรมเทศนาที่แสดงไปนั้น ก็มิได้แปรปรวน บทพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน ปฏิภาณในการตอบปัญหาของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน...ฯลฯ...
สารีบุตร ! แม้ว่าเธอทั้งหลาย จักนำเราไปด้วยเตียงน้อย (สำหรับหามคนทุพพลภาพ), ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวของตถาคต ก็มิได้มี. สารีบุตร ! ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวให้ถูกให้ชอบว่า “สัตว์มีความไม่หลงเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว ผู้นั้นพึงกล่าวซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของพระผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ ว่า :- “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”.
อานนท์ ! นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น; คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้. พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า :- โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว. แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน. อานนท์ ! บัดนี้ เรามีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขารแล้ว ณ ปาวาลเจดีย์นี้. (พระอานนท์ได้สติจึงทูลขอให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยอิทธิบาทภาวนา กัปป์หนึ่งหรือยิ่งกว่ากัปป์; ทรงปฏิเสธ) อานนท์ ! อย่าเลย, อย่าวิงวอนตถาคตเลย มิใช่เวลาจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว. (พระอานนท์ทูลวิงวอนอีกจนครบสามครั้ง ได้รับพระดำรัสตอบอย่างเดียวกัน, ตรัสว่าเป็นความผิดของพระอานนท์ผู้เดียว, แล้วทรงจาระไนสถานที่ ๑๖ แห่งที่เคยให้โอกาสแก่พระอานนท์ในเรื่องนี้ แต่พระอานนท์รู้ไม่ทันสักครั้งเดียว) อานนท์ ! ในที่นั้นๆ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจักห้ามเสียสองครั้ง แล้วจักรับคำในครั้งที่สาม, อานนท์ ! ตถาคตได้บอกแล้วมิใช่หรือ ว่าสัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น, สัตว์จะได้ตามปรารถนา ในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า, ข้อที่สัตว์จะหวังเอาสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีการแตกดับเป็นธรรมดา ว่าสิ่งนี้อย่าฉิบหายเลย ดังนี้ ย่อมไม่เป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้. สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และ ยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้วทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๒,     -บาลี มหาวาร. สํ ๑๙/๒๘๗/๙๖๓. ,    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๑/๑๐๘.

ลัทธิความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับกรรม ๓ แบบ

 ลัทธิความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับกรรม ๓ แบบ

รอยกระโถน



ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์ เกิดจากกรรมเก่าอย่างเดียว

ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธิเหล่านี้ มีอยู่, เป็นลัทธิซึ่งแม้บัณฑิตจะพากันไตร่ตรอง จะหยิบขึ้นตรวจสอบ จะหยิบขึ้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร แม้จะบิดผันกันมาอย่างไร ก็ชวนให้น้อมไป เพื่อการไม่ประกอบกรรมที่ดีงามอยู่นั่นเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธินั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ๓ ลัทธิคือ :- (๑) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน” ดังนี้. (๒) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะการบันดาลของเจ้าเป็นนาย” ดังนี้. (๓) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนอย่างเดียว” มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท ... มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ในเวลานี้) นั่นก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน. เมื่อมัวแต่ถือเอา กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนมาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์ เกิดจากเทพเจ้าบันดาลให้

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะอิศวรเนรมิตให้ (อิสฺสรนิมฺมานเหตูติ)” ดังนี้ มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น (ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องเป็นเพราะการเนรมิตของอิศวรด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอา การเนรมิตของอิศวร มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ)สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้วคนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้ มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณะพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น (ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ … ลักทรัพย์ … ประพฤติผิดพรหมจรรย์ … พูดเท็จ … พูดคำหยาบ … พูดยุให้แตกกัน … พูดเพ้อเจ้อ … มีใจละโมบเพ่งเล็ง … มีใจพยาบาท … มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลยด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอาความไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๔/๕๐๑.

กรรมที่ทำให้ได้รับผลเป็นความไม่ตกต่ำ

 กรรมที่ทำให้ได้รับผลเป็นความไม่ตกต่ำ

พระปีนเสาสงสัยไม่อยากตกต่ำ



ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ชาติที่แล้วมาแต่อดีต ตถาคตได้เคยเจริญเมตตาภาวนาตลอด ๗ ปี จึงไม่เคยมาบังเกิดในโลกมนุษย์นี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปป์ และวิวัฏฏกัปป์ ในระหว่างกาลอันเป็นสังวัฏฏกัปป์นั้น เราได้บังเกิดในอาภัสสรพรหม ในระหว่างกาลอันเป็นวิวัฏฏกัปป์นั้น เราก็ได้อยู่พรหมวิมานอันว่างเปล่าแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกัปป์นั้น เราได้เคยเป็นพรหม ได้เคยเป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้เคยเป็นสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา นับได้ ๓๖ ครั้ง เราได้เคยเป็นราชาจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม มีแว่นแคว้นจรดมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นที่สุด เป็นผู้ชนะแล้วอย่างดี มีชนบทอันบริบูรณ์ประกอบด้วยแก้วเจ็ดประการ นับด้วยร้อยๆ ครั้ง, ทำไมจะต้องกล่าวถึงความเป็นราชาตามธรรมดาด้วย. ภิกษุทั้งหลาย ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรมอะไรของเราหนอ ที่ทำให้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ ในครั้งนั้นๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรม ๓ อย่างนี้แล ที่ทำให้เรามีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้, วิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง ในครั้งนั้น คือ :- (๑) ผลวิบากแห่งทาน การให้ (๒) ผลวิบากแห่งทมะ การบีบบังคับใจ (๓) ผลวิบากแห่งสัญญมะ การสำรวมระวัง ดังนี้. -บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๔๐/๒๐๐.