ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

 ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ




ภิกษุทั้งหลาย ! ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ แม้จะร้องอยู่ว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ก็ตามที แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ ร้องเอาเองว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบางรูปในกรณีเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ แม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศอยู่ว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้ ก็ตามที แต่ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้น ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศเอาเองว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้เท่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๔/๕๒๒.

กระจกเงา

 กระจกเงา

กระจกเงา





ราหุล ! กระจกเงามีไว้สำหรับทำอะไร ?” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! กระจกเงามีไว้สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า ! ”. ราหุล ! กรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่บุคคลควรสอดส่องพิจารณาดูแล้วดูเล่าเสียก่อน จึงทำลงไปทางกาย, ทางวาจา หรือ ทางใจ ฉันเดียวกับกระจกเงานั้นเหมือนกัน”.

-บาลี ม. ม. ๑๓/๑๒๕/๑๒๘


วินิจฉัยกรรม

เมื่อจะกระทำ

ราหุล ! เธอใคร่จะทำกรรมใดด้วยกาย พึงพิจารณากรรมนั้นเสียก่อนว่า “กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้, เธอ ไม่พึงกระทำกายกรรมชนิดนั้นโดยถ่ายเดียว. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ไซร้. ราหุล ! เธอพึงกระทำกายกรรมชนิดนั้น.

เมื่อกระทำอยู่

ราหุล ! เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายอยู่ พึงพิจารณากรรมนั้นว่า “กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้, เธอพึงเลิกละกายกรรมชนิดนั้นเสีย. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ไซร้. ราหุล ! เธอพึงเร่งเพิ่มการกระทำกายกรรมชนิดนั้น.

เมื่อกระทำแล้ว

ราหุล ! เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายแล้ว พึงพิจารณากรรมนั้น ว่า“กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้, เธอพึงแสดง พึงเปิดเผย พึงกระทำให้เป็นของหงายซึ่งกายกรรมนั้น ในพระศาสนาหรือในเพื่อนสพรหมจารี ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย, ครั้นแสดง ครั้นเปิดเผย ครั้นกระทำให้เป็นของหงายแล้ว พึงถึงซึ่งความระวังสังวรต่อไป. ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ ไซร้.

ราหุล ! เธอพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด. (ในกรณีแห่ง วจีกรรม และ นโนกรรม ก็ตรัสไว้โดยมีนัยยะอย่างเดียวกัน)

-บาลี ม. ม. ๑๓/๑๒๘/๑๓๐.

เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

 เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

DEAD TRUE



สารีบุตร ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ชั่วเวลาที่บุรุษนี้ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย, ก็ยังคงประกอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวอยู่เพียงนั้น, เมื่อใดบุรุษนี้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลนาน ผ่านวัยไปแล้ว มีอายุ ๘๐ ปี, ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี จากการเกิด, เมื่อนั้น เขาย่อมเป็นผู้เสื่อมสิ้นจากปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว. สารีบุตร ! ข้อนี้ เธออย่าพึงเห็นอย่างนั้น, เรานี้แล ในบัดนี้เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาแล้ว วัยของเรานับได้ ๘๐ ปี, ...ฯลฯ... สารีบุตร ! ธรรมเทศนาที่แสดงไปนั้น ก็มิได้แปรปรวน บทพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน ปฏิภาณในการตอบปัญหาของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน...ฯลฯ...
สารีบุตร ! แม้ว่าเธอทั้งหลาย จักนำเราไปด้วยเตียงน้อย (สำหรับหามคนทุพพลภาพ), ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวของตถาคต ก็มิได้มี. สารีบุตร ! ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวให้ถูกให้ชอบว่า “สัตว์มีความไม่หลงเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว ผู้นั้นพึงกล่าวซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของพระผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ ว่า :- “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”.
อานนท์ ! นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น; คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้. พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า :- โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว. แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน. อานนท์ ! บัดนี้ เรามีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขารแล้ว ณ ปาวาลเจดีย์นี้. (พระอานนท์ได้สติจึงทูลขอให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยอิทธิบาทภาวนา กัปป์หนึ่งหรือยิ่งกว่ากัปป์; ทรงปฏิเสธ) อานนท์ ! อย่าเลย, อย่าวิงวอนตถาคตเลย มิใช่เวลาจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว. (พระอานนท์ทูลวิงวอนอีกจนครบสามครั้ง ได้รับพระดำรัสตอบอย่างเดียวกัน, ตรัสว่าเป็นความผิดของพระอานนท์ผู้เดียว, แล้วทรงจาระไนสถานที่ ๑๖ แห่งที่เคยให้โอกาสแก่พระอานนท์ในเรื่องนี้ แต่พระอานนท์รู้ไม่ทันสักครั้งเดียว) อานนท์ ! ในที่นั้นๆ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจักห้ามเสียสองครั้ง แล้วจักรับคำในครั้งที่สาม, อานนท์ ! ตถาคตได้บอกแล้วมิใช่หรือ ว่าสัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น, สัตว์จะได้ตามปรารถนา ในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า, ข้อที่สัตว์จะหวังเอาสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีการแตกดับเป็นธรรมดา ว่าสิ่งนี้อย่าฉิบหายเลย ดังนี้ ย่อมไม่เป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้. สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และ ยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้วทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๒,     -บาลี มหาวาร. สํ ๑๙/๒๘๗/๙๖๓. ,    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๑/๑๐๘.