ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง
สัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ

ถ้าเกิดมาเดินไม่ได้ 7 ก้าว

ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “สัมมาสัมพุทธะ”. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ก็หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “ปัญญาวิมุตติ”. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ได้ตรัสไว้ มีข้อความแสดงหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ด้วยกันทั้งสองพวกแล้ว, อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน อะไรเป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่าง ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ ให้มีคนรู้, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าว ให้เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว, ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค), เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค), เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค); ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้ เป็น มัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ. -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๘๑/๑๒๕.

อิฎฐสูตร

 อิฎฐสูตร

ใครจะเสื่อมจากอะไรได้



[๔๓] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถ บิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ โดยยากในโลก ๕ ประการเป็นไฉน คือ         อายุ ๑ วรรณะ ๑ สุขะ ๑ ยศ ๑ สวรรค์ ๑ ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก ฯ ธรรม ๕ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก เรามิได้ กล่าวว่าจะพึงได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนา ถ้าธรรม ๕ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก จักได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนาแล้วไซร้ ในโลกนี้ ใครจะพึงเสื่อมจากอะไร     ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินอายุ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุ อริยสาวกผู้ต้องการอายุ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุที่พระอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ อริยสาวกผู้นั้นย่อมได้อายุที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือแม้เพราะเหตุแห่งวรรณะ อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้วรรณะ อริยสาวกนั้นย่อมได้วรรณะที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่อ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสุข หรือแม้เพราะเหตุแห่งสุข อริยสาวกผู้ต้องการสุข พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุข เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้นย่อมได้สุขที่เป็นของทิพย์หรือของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการยศ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินยศ หรือแม้เพราะเหตุแห่งยศ อริยสาวกผู้ต้องการยศ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศเพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ยศอริยสาวกนั้น ย่อมได้ยศที่เป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสวรรค์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งสวรรค์อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวกนั้นย่อมได้สวรรค์ ฯ     ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมยึดถือประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่าบัณฑิต เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้งสองนั้น ฯ

จบสูตรที่ ๓

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๔๒ ข้อที่ ๔๓

ว่าด้วยทักษิณา

 ว่าด้วยทักษิณา

ครูบาขี่เจ็ตสกี



อานนท์ ! บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณานับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกพุทธะ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ. อานนท์ ! ก็ทักษิณาที่ให้แล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๒ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๔ แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๕ {๑} แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๖ แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๗ อานนท์ ! ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะ (จีวร) พันคอ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น. อานนท์ ! ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (การถวายเจาะจงบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย. อานนท์ ! ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นอย่างไร คือ (๑) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) (๒) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (๓) ทักษิณาบางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ (๔) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก. อานนท์ ! นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) (๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดีเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีลทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์ (๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดีเชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่ามีผลไพบูลย์ (๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรมมีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย. ๑. หมายเหตุ : เป็นข้อสังเกตให้ทราบว่า ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์นั้นจะมีภิกษุหรือภิกษุณีจำนวนกี่รูปก็ได้ -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๘/๗๑๑.

การสงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว

 การสงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ทานที่ไม่มีผู้รับ



พระโคดมผู้เจริญ ! พวกข้าพเจ้าได้นามว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน ย่อมทำความเชื่อว่า ทานนี้ต้องสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วจงบริโภคทานนี้ (อิทํ ทานํ เปตา ญาติสาโลหิตา ปริภุญฺชนฺติ). พระโคดมผู้เจริญ ! ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิต ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้น ย่อมได้บริโภคทานนั้นหรือ. พราหมณ์ ! ทานนั้น ย่อมสำเร็จในฐานะ {๑} .และ ย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ. {๒} พระโคดมผู้เจริญ ! ฐานะ เป็นอย่างไร อฐานะเป็นอย่างไร. พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในนรกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรกนั้น ด้วยอาหารของสัตว์นรก. พราหมณ์ ! ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นอฐานะ. พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในกำเนิดเดรัจฉานนั้น ย่อมตั้งอยู่ในกำเนิดเดรัจฉานนั้น ด้วยอาหารของสัตว์เดรัจฉาน. พราหมณ์ ! แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ. พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในมนุษยโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในมนุษยโลกนั้น ด้วยอาหารของมนุษย์. พราหมณ์ ! แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ. พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยอาหารของเทวดา. พราหมณ์ ! แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ. พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่ามิตรอำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของเขา ย่อมอุทิศทานให้ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยทานนั้น. พราหมณ์ ! ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ. ท่านโคดมผู้เจริญ ! ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น. พราหมณ์ ! ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้นที่เข้าถึงฐานะนั้น มีอยู่ ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น. ท่านโคดมผู้เจริญ ! ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น. พราหมณ์ ! ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาลช้านานเช่นนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้. พราหมณ์ ! อีกประการหนึ่ง แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล. ท่านโคดมผู้เจริญ ! ย่อมตรัสกำหนดแม้ในอฐานะหรือ. พราหมณ์ ! เรากล่าวกำหนดแม้ในอฐานะ. พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด แต่เขายังให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยาน-พาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้าง แต่เขายังได้ข้าว น้ำ มาลา และเครื่องประดับต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น. พราหมณ์ ! ข้อที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด ด้วยกรรมนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้าง และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องประดับต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น. ... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของม้า ... . ... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของโค ... . ... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข ... .

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ และเขายังให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ และเขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นของมนุษย์นั้น. พราหมณ์ ! ข้อที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ ด้วยกรรมนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นของมนุษย์นั้น. พราหมณ์ ! อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ และเขายังให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น. พราหมณ์ ! ข้อที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ ด้วยกรรมนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น. พราหมณ์ ! (ด้วยเหตุอย่างนี้) แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้อที่แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผลนี้ เป็นของควรเพื่อให้ทานโดยแท้ เป็นของควรเพื่อกระทำศรัทธาโดยแท้. พราหมณ์ ! ข้อนี้เป็นอย่างนี้ๆ. พราหมณ์ ! แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ... ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. ๑. โอกาสที่เป็นได้ (สถานภาพในภพนั้นที่ยังความสำเร็จประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้) ๒. โอกาสที่เป็นไปไม่ได้ (สถานภาพในภพนั้นที่ยังความสำเร็จประโยชน์ให้เกิดขึ้นไม่ได้) -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๙๐/๑๖๖.

วิตถตสูตร

 วิตถตสูตร

เป็นอะไรไม่ได้ แต่เป็นอริยะได้



    ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ     กำลัง คือ ศรัทธา ๑     กำลัง คือ วิริยะ ๑     กำลัง คือ สติ ๑     กำลัง คือสมาธิ ๑     กำลัง คือ ปัญญา ๑     ดูกรภิกษุทั้งหลาย     กำลัง คือ ศรัทธาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่ากำลัง คือ ศรัทธา     ก็กำลัง คือ วิริยะเป็นไฉน     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม ... ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือ วิริยะ     ก็กำลัง คือ สติเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยม ระลึกตามแม้สิ่งที่ทำแม้คำที่พูดไว้นานได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ สติ     ก็กำลัง คือ สมาธิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบไป บรรลุทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มี สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า กำลัง คือ สมาธิ     ก็กำลัง คือปัญญาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญาที่หยั่งถึงความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา     ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๔

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๑๐ ข้อที่ ๑๔

ความทุกข์ในนรก

 ความทุกข์ในนรก

ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย




........ ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า :- “พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ! เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่ทำกรรมอันเป็นบาปไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ต่างชนิด เห็นปานนี้. โอหนอ ! ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะพึงเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรม ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด”. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือนแล้วประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์อันเลว ถึงความเศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะ แล้วไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๓๔/๕๐๔.

รัตนะที่หาได้ยาก

 รัตนะที่หาได้ยาก

คนกตัญญูหายาก



เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ! ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการ หาได้ยากในโลก. ๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :- (๑) ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ (๒) บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว (๓) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว (๔) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (๕) กตัญญูกตเวทีบุคคล เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ! ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก. -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๖๖/๑๙๕.

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

 หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

วันครู



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”. คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า), พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา), พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง), พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย), พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ), พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน (๒) เราจักทำกิจของท่าน (๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล (๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท (๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) ให้ศึกษาศิลปะ (๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร (๕) มอบมรดกให้ตามเวลา     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ (๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ (๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง (๔) ด้วยการปรนนิบัติ (๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) แนะนำดี (๒) ให้ศึกษาดี (๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง (๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย (๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการยกย่อง (๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น (๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ (๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) จัดแจงการงานดี (๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี (๓) ไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ (๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการให้ปัน (๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ (๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์ (๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน (๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว (๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว (๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย (๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย (๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง (๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล (๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ (๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ (๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย (๒) เลิกงานทีหลังนาย (๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้ (๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด (๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยเมตตากายกรรม (๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม (๓) ด้วยเมตตามโนกรรม (๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ) (๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม (๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง (๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด (๖) บอกทางสวรรค์ให้     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๕/๑๗๔.

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

 หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

คำขวัญวันเด็กสไตล์พุทธวจนตูน



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”. คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า), พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา), พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง), พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย), พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ), พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน (๒) เราจักทำกิจของท่าน (๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล (๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท (๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) ให้ศึกษาศิลปะ (๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร (๕) มอบมรดกให้ตามเวลา     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ (๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ (๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง (๔) ด้วยการปรนนิบัติ (๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) แนะนำดี (๒) ให้ศึกษาดี (๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง (๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย (๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการยกย่อง (๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น (๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ (๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) จัดแจงการงานดี (๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี (๓) ไม่ประพฤตินอกใจ (๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ (๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยการให้ปัน (๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ (๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์ (๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน (๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว (๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว (๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย (๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย (๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง (๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล (๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ (๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ (๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย (๒) เลิกงานทีหลังนาย (๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้ (๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด (๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :- (๑) ด้วยเมตตากายกรรม (๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม (๓) ด้วยเมตตามโนกรรม (๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ) (๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :- (๑) ห้ามเสียจากบาป (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม (๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง (๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด (๖) บอกทางสวรรค์ให้     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๕/๑๗๔.