อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร

อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร 

ลาทีปีเก่า ต้อนรับปีใหม่


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่าเราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า อากัปกิริยาอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆว่า ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คือ
อุตริมนุสธรรมอันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้วจักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
หน้าที่ ๘๐ ข้อที่ ๔๘

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

 ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

ดุดัน ไม่เกรงใจใคร (ยกเว้นพระพุทธเจ้า)


มหาราช ! อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศัสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่งเมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่าพระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจัก ยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทาง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักโคจรผิดทาง ดาวนักษัตรจักโคจรถูกทาง ดาวนักษัตรจักโคจรผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร จักขึ้น จักตก จักมัวหมอง จักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง กระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีอาหารหาได้ง่าย จักมีอาหารหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือคำนวณฤกษ์ยาม คำนวณดวงชะตา จับยาม แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาแก้ลมตีขึ้นเบื้องบน ปรุงยาแก้ลมตีลงเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทาให้กัด ปรุงยาทาให้สมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. มหาราช ! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้นเปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก {๑} . กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น. มหาราช ! ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน. มหาราช ! ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

๑. นํ้ารดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ


-บาลี สามัญผลสูตร สี. ที. ๙/๘๙/๑๑๔.

พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียด แต่ละสายของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสายโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ (เห็นตลอดสาย นัยที่หนึ่ง)

พระโสดาบัน คือ
ผู้เห็นชัดรายละเอียด แต่ละสายของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสาย โดยนัยแห่งอริยสัจสี่
(เห็นตลอดสาย นัยที่หนึ่ง)

แก่ชรากันลงไปอีกปีโน้ะ โฮะ โฮะ โฮ่



ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความสิ้นไปแห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า ชรา. การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์ คือ ชีวิตจากสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า มรณะ. ชรานี้ด้วย มรณะนี้ด้วย ย่อมมีอยู่ ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชรามรณะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ; ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งชาติ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง. เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ชาติ เป็นอย่างไรเล่า ? การเกิด การกำเนิด การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชาติ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ; ความดับไม่เหลือแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งภพ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ภพ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภพ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน; ความดับไม่เหลือแห่งภพ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ความยึดมั่นในกาม ความยึดมั่นในความเห็น ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติทางกายและวาจา (ศีลพรต) ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าอุปาทาน. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา; ความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งตัณหา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งตัณหาทั้งหลาย ๖ หมู่ เหล่านี้ คือ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ...ในกลิ่น ...ในรส ...ในสัมผัสทางกาย ความอยากในธรรมารมณ์ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ตัณหา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา; ความดับไม่เหลือแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งเวทนา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ เวทนา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งเวทนาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา ...ทางหู ...ทางจมูก... ทางลิ้น ...ทางกาย และเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า เวทนา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ; ความดับไม่เหลือแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งผัสสะทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ สัมผัสทางตา ...ทางหู ...ทางจมูก ...ทางลิ้น ...ทางกาย สัมผัสทางใจ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ผัสสะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ; ความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า ? จักข๎วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะกายายตนะ มนายตนะ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าสฬายตนะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป; ความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งนามรูป; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ นามรูป เป็นอย่างไรเล่า ? เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ : นี้เรียกว่านาม. มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ด้วย : นี้เรียกว่า รูป. นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย ย่อมมีอยู่อย่างนี้ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า นามรูป. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ; ความดับไม่เหลือแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางตา) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร; ความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสังขาร; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กายสังขาร (ความปรุงแต่งทางกาย) วจีสังขาร (ความปรุงแต่งทางวาจา) จิตตสังขาร (ความปรุงแต่งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา; ความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวก ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่งธรรม อันเป็นปัจจัย (เหตุ) ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลนั้น เราเรียกอริยสาวกนั้น ว่า :- “ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทิฏฐิ” ดังนี้บ้าง; “ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทัสสนะ” ดังนี้บ้าง; “ผู้มาถึงพระสัทธรรมนี้แล้ว” ดังนี้บ้าง; “ผู้ได้เห็นอยู่ซึ่งพระสัทธรรมนี้” ดังนี้บ้าง; “ผู้ประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ” ดังนี้บ้าง;“ผู้ประกอบแล้วด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ” ดังนี้บ้าง; “ผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งธรรมแล้ว” ดังนี้บ้าง; “ผู้ประเสริฐมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส” ดังนี้บ้าง;“ยืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะ” ดังนี้บ้าง, ดังนี้ แล. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๕๐/๘๘.

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

 ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ซ่อนอยู่



(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”. อานนท์ ! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้. พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า : โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๘๗/๙๖๒.

สักแต่ว่า...(นัยที่ ๒)

 สักแต่ว่า...(นัยที่ ๒)

มาครง มาลุง



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เป็นคนชรา เป็นคนแก่คนเฒ่ามานานผ่านวัยมาตามลำดับ. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมโดยย่อ ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระเจ้าข้า !”. มาลุงก๎ยบุตร ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือ รูปทั้งหลาย อันรู้สึกกันได้ทางตา เป็นรูปที่ท่านไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็น ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ก็ไม่มี ที่ท่านคิดว่าท่านควรจะได้เห็นก็ไม่มี ดังนี้แล้ว ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักก็ดี ในรูปเหล่านั้น ย่อมมีแก่ท่านหรือ ? “ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”. (ต่อไปนี้ ได้มีการตรัสถามและการทูลตอบในทำนองเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อของสิ่งที่นำมากล่าว คือในกรณีแห่งเสียงอันรู้สึกกันได้ทางหู ในกรณีแห่ง กลิ่นอันรู้สึกกันได้ทางจมูก ในกรณีแห่ง รสอันรู้สึกกันได้ทางลิ้น ในกรณีแห่ง โผฏฐัพพะอันรู้สึกกันได้ทางผิวกาย และในกรณีแห่ง ธรรมารมณ์อันรู้สึกกันได้ทางใจ). มาลุงก๎ยบุตร ! ในบรรดาสิ่งที่ท่าน พึงเห็น พึงฟัง พึงรู้สึก พึงรู้แจ้งเหล่านั้น; ใน สิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าเห็น; ใน สิ่งที่ท่านฟังแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าได้ยิน; ใน สิ่งที่ท่านรู้สึกแล้ว (ทางจมูก, ลิ้น, กาย) จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้สึก; ใน สิ่งที่ท่านรู้แจ้งแล้ว (ทางวิญญาณ) ก็จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้แจ้ง. มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดแล ในบรรดาธรรมเหล่านั้น : เมื่อ สิ่งที่เห็นแล้ว สักว่าเห็น, สิ่งที่ฟังแล้ว สักว่าได้ยิน, สิ่งที่รู้สึกแล้ว สักว่ารู้สึก, สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว สักว่ารู้แจ้ง, ดังนี้แล้ว; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อนั้น ตัวท่านย่อมไม่มีเพราะเหตุนั้น; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดตัวท่านไม่มีเพราะเหตุนั้น, เมื่อนั้น ตัวท่านก็ไม่มีในที่นั้นๆ; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดตัวท่านไม่มีในที่นั้นๆ, เมื่อนั้นตัวท่านก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง : นั่นแหละ คือที่สุดแห่งความทุกข์ ดังนี้. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดาร ดังต่อไปนี้ :- เห็นรูปแล้ว สติหลงลืม ทำในใจซึ่งรูปนิมิตว่าน่ารัก มีจิตกำหนัดแก่กล้าแล้ว เสวยอารมณ์นั้นอยู่ ความสยบมัวเมาย่อมครอบงำบุคคลนั้น. เวทนาอันเกิดจากรูปเป็นอเนกประการ ย่อมเจริญแก่เขานั้น. อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเข้าไปกลุ้มรุมจิตของเขา. เมื่อสะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่ายังไกลจากนิพพาน. (ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน). บุคคลนั้นไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย เห็นรูปแล้ว มีสติเฉพาะ มีจิตไม่กำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ความสยบมัวเมาย่อมไม่ครอบงำบุคคลนั้น. เมื่อเขาเห็นอยู่ซึ่งรูปตามที่เป็นจริง เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ก็สิ้นไปๆ ไม่เพิ่มพูนขึ้น เขามีสติประพฤติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้, เมื่อไม่สะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้ต่อนิพพาน. (ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน). “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ พระเจ้าข้า !”. พระผู้มีพระภาค ทรงรับรองความข้อนั้น ว่าเป็นการถูกต้อง. ท่านมาลุงก๎ยบุตรหลีกออกสู่ที่สงัดกระทำความเพียรได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในศาสนานี้. -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๙๐/๑๓๒.