ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน

 ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน

ห้ามนายกทำงาน ห้ามทายกทำทาน



วัจฉะ ! ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายต่อสิ่ง ๓ สิ่ง คือ (๑) ทำอันตรายต่อบุญของทายก (ผู้ให้) (๒) ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก (ผู้รับ) (๓) และตัวเองก็ขุดรากตัวเอง กำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว วัจฉะ ! ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง ดังนี้แล. วัจฉะ ! เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใด เทน้ำล้างหม้อหรือน้ำล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำ หรือทางน้ำโสโครกซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้น ด้วยคิดว่าสัตว์ในนั้นจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต ดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่า นั่นเป็นทางมาแห่งบุญ เพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ด้วยกัน” ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล เป็นทานมีผลมาก ทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่ และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ ๕ และประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕. ละองค์ ๕ คือ (๑) ละกามฉันทะ (๒) ละพยาบาท (๓) ละถีนมิทธะ (หดหู่ซึมเซา) (๔) ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่านรำคาญ) (๕) ละวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย) ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ (๑) ประกอบด้วยกองศีลชั้นอเสขะ (คือชั้นพระอรหันต์) (๒) ประกอบด้วยกองสมาธิชั้นอเสขะ (๓) ประกอบด้วยกองปัญญาชั้นอเสขะ (๔) ประกอบด้วยกองวิมุตติชั้นอเสขะ (๕) ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะชั้นอเสขะ เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ ๕ และประกอบด้วยองค์ ๕ ด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมาก ดังนี้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๐๕/๔๙๗.

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

 ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

บัวมีหลายเข่า




ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี;     เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด,
ราชกุมาร !  เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :- “ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้.

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.

การไม่รู้อริยสัจ มืดยิ่งกว่าโลกันตริก

 การไม่รู้อริยสัจ มืดยิ่งกว่าโลกันตริก

ลุงไล่ให้ไปเรียนธรรมะ



ภิกษุทั้งหลาย ! โลกันตริก (โลกันตนรก) มีแต่ความทุกข์ มืดคลุ้มมัวเป็นหมอก สัตว์ในโลกันตริกนั้น ไม่ได้รับรัศมีพระจันทร์ และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความมืดนั้นมาก ความมืดนั้นมากแท้ๆ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่า และน่ากลัวกว่าความมืดนี้ มีอยู่หรือ ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้ มีอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ ครั้นยินดีแล้วย่อมปรุงแต่ง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกไปสู่ความมืด คือ ความเกิดบ้าง ... เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากความเกิด ... ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... ครั้นไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ปรุงแต่ง ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกไปสู่ความมืด คือ ความเกิดบ้าง ... เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นไปจากความเกิด ... ย่อมพ้นไปจากความทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๖/๑๗๓๙.

ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

วันแม่ 2565





ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (อมาตาปุตฺติกภย) ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง. ๓ อย่างคือ :- มีสมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ตั้งขึ้น ไหม้หมู่บ้าน ไหม้นิคม ไหม้นคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่หนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ พัดพาไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งนิคม ทั้งนคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มีภัย คือการกำเริบ (กบฏ)มาจากป่า ประชาชนขึ้นยานมีล้อหนีกระจัดกระจายไป. เมื่อภัยอย่างนี้เกิดขึ้น สมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สาม. ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง เหล่านี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ กล่าว สมาตาปุตติกภัย(ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันได้)แท้ๆ ๓ อย่างนี้ว่าเป็น อมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้)ไปเสีย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภัย ๓ อย่าง ที่มารดาและบุตรช่วยกันได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ สมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ เป็นอย่างหนึ่ง, สมัยที่น้ำท่วมใหญ่ เป็นอย่างที่สอง, สมัยที่หนีโจรขบถ เป็นอย่างที่สาม; เหล่านี้บางคราวมารดาและบุตรก็ช่วยกันและกันได้ แต่ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับมากล่าวว่าเป็นภัยที่มารดาและบุตรก็ช่วยกันไม่ได้ไปเสียทั้งหมด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (โดยแท้จริง)๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่สามอย่าง คือ :- ภัยเกิดจากความแก่ (ชราภยํ), ภัยเกิดจากความเจ็บไข้ (พฺยาธิภยํ), ภัยเกิดจากความตาย (มรณภยํ). ภิกษุทั้งหลาย ! มารดาไม่ได้ตามปรารถนากับบุตรผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด บุตรของเราอย่าแก่เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนากะมารดาผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด มารดาอย่าแก่เลย ดังนี้. มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด บุตรของเราอย่าเจ็บไข้เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด มารดาของเราอย่าเจ็บไข้เลย ดังนี้. มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด บุตรของเราอย่าตายเลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด มารดาของเราอย่าตายเลย ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล เป็นภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ๓ อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัยและอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางหรือปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า ? นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์ ๘) นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ)
สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
สัมมาวายามะ (เพียรชอบ)
สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ). ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แหละหนทาง นี้แหละปฏิปทา เป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัย และอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๘/๕๐๒.

คู่บุพเพสันนิวาส

 คู่บุพเพสันนิวาส

คู่บุพเพสันนิวาส ตามหลัก พุทธวจจ




ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ. ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๑/๕๖.