เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เหตุผลที่ต้องรับฟัง

เฉพาะคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

พุทธวจน เวิลด์


ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น

อย่าฟังคนอื่น


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.

ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

หากไม่สนใจคำตถาคต

จะทำให้เกิดความอันตรธานของคำตถาคต เปรียบด้วยกลองศึก


ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่ เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ, พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น; ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย, สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

พระองค์ทรงสามารถกำหนดสมาธิเมื่อจะพูดทุกถ้อยคำ

จึงไม่ผิดพลาด


อัคคิเวสนะ ! เรานั้นหรือ จำเดิมแต่เริ่มแสดง กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิตอันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีจิตเป็นเอกดังเช่นที่คนทั้งหลายเคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำ ดังนี้.

คำพูดที่ตรัสมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้นั้น สอดรับไม่ขัดแย้งกัน

ภิกษุทั้งหลาย ! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใด ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย.

แต่ละคำพูดเป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริง ไม่จำกัดกาลเวลา

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลายเป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฐิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ).

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล.

ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือตัดทอนสิ่งที่บัญญัติไว้

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด, ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น. -บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒., -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒, -บาลี มู. ม. ๑๒/๔๖๐/๔๓๐., -บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓. -บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๑., -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑., -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๑๗/๗๔๐., -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๑/๒๑.

สีจีวรต้องห้าม

 สีจีวรต้องห้าม

สีจีวรต้องห้าม



พระฉัพพัคคีย์ทรงจีวรสีครามล้วนเป็นต้น [๑๖๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทรงจีวรสีครามล้วน ทรงจีวรสีเหลืองล้วน ทรงจีวรสีแดงล้วน ทรงจีวรสีบานเย็นล้วน ทรงจีวรสีดำล้วน ทรงจีวรสีแสดล้วน ทรงจีวรสีชมภูล้วน ทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย ทรงจีวรมีชายยาว ทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น สวมเสื้อ สวมหมวก ทรงผ้าโพก ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าเหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงจีวรสีครามล้วน ไม่พึง ทรงจีวรสีเหลืองล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีแดงล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีบานเย็นล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีดำล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีแดงล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีชมภูล้วน ไม่พึงทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย ไม่พึงทรงจีวรมีชายยาว ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น ไม่พึงสวมเสื้อไม่พึงสวมหมวก ไม่พึงทรงผ้าโพก รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ.


    -พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒     หน้าที่ ๑๘๕ ข้อที่ ๑๖๙


ข้ออนุญาตเกี่ยวกับจีวร

    [๑๖๙]     ๒๘๒. …ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงจีวรสีครามล้วน รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ.     ๒๘๓. … ไม่พึงทรงจีวรสีเหลืองล้วน …     ๒๘๔. … ไม่พึงทรงจีวรสีแดงล้วน …     ๒๘๕. … ไม่พึงทรงจีวรสีบานเย็นล้วน …     ๒๘๖. … ไม่พึงทรงจีวรสีดำล้วน …     ๒๘๗. … ไม่พึงทรงจีวรสีแสดล้วน …     ๒๘๘. … ไม่พึงทรงจีวรสีชมพูล้วน …     ๒๘๙. … ไม่พึงทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย …     ๒๙๐. … ไม่พึงทรงจีวรมีชายยาว …     ๒๙๑. … ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ …     ๒๙๒. … ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น …     ๒๙๓. … ไม่พึงสวมเสื้อ ไม่พึงสวมหมวก …     ๒๙๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงผ้าโพก รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ.     - หนังสือพุทธวจน อริยวินัย หน้า ๔๙๘

เหตุที่สัตว์บางพวกกลัวตาย บางพวกไม่กลัวตาย

 เหตุที่สัตว์บางพวกกลัวตาย บางพวกไม่กลัวตาย

ไม่กลัวตาย



พราหมณ์ ! สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัวถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่. พราหมณ์ ! ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ระทมใจ คร่ำครวญ ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหล. พราหมณ์ ! บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย. (๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก... . พราหมณ์ ! แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย. (๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกัน ความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมองมีประมาณเท่าใด เราละไปแล้วย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก... .

พราหมณ์ ! แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย. (๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก... . พราหมณ์ ! แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย. พราหมณ์ ! บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย. พราหมณ์ ! บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ระทมใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไห้ ไม่ถึงความหลงใหล. พราหมณ์ ! บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย. (๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักนี้ไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก... . พราหมณ์ ! บุคคลแม้นี้แล มีความตายเป็นเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย. (๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาป ไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตก อย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคลผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้วจักไปสู่คตินั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก... . พราหมณ์ ! แม้บุคคลนั้นแลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย. (๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลงถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลงถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ระทมใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไห้ ไม่ถึงความหลงใหล. พราหมณ์ ! แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย. พราหมณ์ ! บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๓๕/๑๘๔.

งูเปื้อนคูถ

 งูเปื้อนคูถ

นะ หน้าทอง ของงูเปื้อนคูถ



ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชชนิดไร ที่ทุกๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ? ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชบางคนในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชชนิดนี้แล ที่ทุกๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้. ข้อนั้นเพราะอะไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ถึงแม้ผู้ที่เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้ เป็นตัวอย่างก็ตาม, แต่ว่าเสียงร่ำลืออันเสื่อมเสีย จะระบือไปว่า “คนๆ นี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนงูที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ กัดไม่ได้ก็จริงแล, แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถให้เปื้อนด้วยคูถได้ (ด้วยการดิ้นของมัน) นี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ผู้เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้เป็นตัวอย่างก็จริงแล, แต่ว่า เสียงร่ำลืออันเสื่อมเสียจะระบือไปว่า “คนๆ นี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น นักบวชชนิดนี้ จึงเป็นคนที่ทุกๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๕๘/๔๖๖.