อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร

อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร 

ลาทีปีเก่า ต้อนรับปีใหม่


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่าเราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า อากัปกิริยาอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆว่า ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คือ
อุตริมนุสธรรมอันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้วจักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
หน้าที่ ๘๐ ข้อที่ ๔๘

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

 ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

ดุดัน ไม่เกรงใจใคร (ยกเว้นพระพุทธเจ้า)


มหาราช ! อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศัสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่งเมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่าพระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจัก ยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทาง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักโคจรผิดทาง ดาวนักษัตรจักโคจรถูกทาง ดาวนักษัตรจักโคจรผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร จักขึ้น จักตก จักมัวหมอง จักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง กระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีอาหารหาได้ง่าย จักมีอาหารหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือคำนวณฤกษ์ยาม คำนวณดวงชะตา จับยาม แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาแก้ลมตีขึ้นเบื้องบน ปรุงยาแก้ลมตีลงเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทาให้กัด ปรุงยาทาให้สมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. มหาราช ! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้นเปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก {๑} . กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น. มหาราช ! ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน. มหาราช ! ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

๑. นํ้ารดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ


-บาลี สามัญผลสูตร สี. ที. ๙/๘๙/๑๑๔.

พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียด แต่ละสายของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสายโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ (เห็นตลอดสาย นัยที่หนึ่ง)

พระโสดาบัน คือ
ผู้เห็นชัดรายละเอียด แต่ละสายของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสาย โดยนัยแห่งอริยสัจสี่
(เห็นตลอดสาย นัยที่หนึ่ง)

แก่ชรากันลงไปอีกปีโน้ะ โฮะ โฮะ โฮ่



ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความสิ้นไปแห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า ชรา. การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์ คือ ชีวิตจากสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า มรณะ. ชรานี้ด้วย มรณะนี้ด้วย ย่อมมีอยู่ ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชรามรณะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ; ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งชาติ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง. เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ชาติ เป็นอย่างไรเล่า ? การเกิด การกำเนิด การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชาติ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ; ความดับไม่เหลือแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งภพ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ภพ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภพ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน; ความดับไม่เหลือแห่งภพ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ความยึดมั่นในกาม ความยึดมั่นในความเห็น ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติทางกายและวาจา (ศีลพรต) ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าอุปาทาน. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา; ความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งตัณหา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งตัณหาทั้งหลาย ๖ หมู่ เหล่านี้ คือ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ...ในกลิ่น ...ในรส ...ในสัมผัสทางกาย ความอยากในธรรมารมณ์ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ตัณหา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา; ความดับไม่เหลือแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งเวทนา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ เวทนา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งเวทนาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา ...ทางหู ...ทางจมูก... ทางลิ้น ...ทางกาย และเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า เวทนา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ; ความดับไม่เหลือแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งผัสสะทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ สัมผัสทางตา ...ทางหู ...ทางจมูก ...ทางลิ้น ...ทางกาย สัมผัสทางใจ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ผัสสะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ; ความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า ? จักข๎วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะกายายตนะ มนายตนะ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าสฬายตนะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป; ความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งนามรูป; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ นามรูป เป็นอย่างไรเล่า ? เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ : นี้เรียกว่านาม. มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ด้วย : นี้เรียกว่า รูป. นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย ย่อมมีอยู่อย่างนี้ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า นามรูป. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ; ความดับไม่เหลือแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางตา) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร; ความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสังขาร; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กายสังขาร (ความปรุงแต่งทางกาย) วจีสังขาร (ความปรุงแต่งทางวาจา) จิตตสังขาร (ความปรุงแต่งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา; ความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวก ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่งธรรม อันเป็นปัจจัย (เหตุ) ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลนั้น เราเรียกอริยสาวกนั้น ว่า :- “ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทิฏฐิ” ดังนี้บ้าง; “ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทัสสนะ” ดังนี้บ้าง; “ผู้มาถึงพระสัทธรรมนี้แล้ว” ดังนี้บ้าง; “ผู้ได้เห็นอยู่ซึ่งพระสัทธรรมนี้” ดังนี้บ้าง; “ผู้ประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ” ดังนี้บ้าง;“ผู้ประกอบแล้วด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ” ดังนี้บ้าง; “ผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งธรรมแล้ว” ดังนี้บ้าง; “ผู้ประเสริฐมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส” ดังนี้บ้าง;“ยืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะ” ดังนี้บ้าง, ดังนี้ แล. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๕๐/๘๘.

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

 ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ซ่อนอยู่



(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”. อานนท์ ! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้. พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า : โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๘๗/๙๖๒.

สักแต่ว่า...(นัยที่ ๒)

 สักแต่ว่า...(นัยที่ ๒)

มาครง มาลุง



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เป็นคนชรา เป็นคนแก่คนเฒ่ามานานผ่านวัยมาตามลำดับ. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมโดยย่อ ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระเจ้าข้า !”. มาลุงก๎ยบุตร ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือ รูปทั้งหลาย อันรู้สึกกันได้ทางตา เป็นรูปที่ท่านไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็น ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ก็ไม่มี ที่ท่านคิดว่าท่านควรจะได้เห็นก็ไม่มี ดังนี้แล้ว ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักก็ดี ในรูปเหล่านั้น ย่อมมีแก่ท่านหรือ ? “ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”. (ต่อไปนี้ ได้มีการตรัสถามและการทูลตอบในทำนองเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อของสิ่งที่นำมากล่าว คือในกรณีแห่งเสียงอันรู้สึกกันได้ทางหู ในกรณีแห่ง กลิ่นอันรู้สึกกันได้ทางจมูก ในกรณีแห่ง รสอันรู้สึกกันได้ทางลิ้น ในกรณีแห่ง โผฏฐัพพะอันรู้สึกกันได้ทางผิวกาย และในกรณีแห่ง ธรรมารมณ์อันรู้สึกกันได้ทางใจ). มาลุงก๎ยบุตร ! ในบรรดาสิ่งที่ท่าน พึงเห็น พึงฟัง พึงรู้สึก พึงรู้แจ้งเหล่านั้น; ใน สิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าเห็น; ใน สิ่งที่ท่านฟังแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าได้ยิน; ใน สิ่งที่ท่านรู้สึกแล้ว (ทางจมูก, ลิ้น, กาย) จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้สึก; ใน สิ่งที่ท่านรู้แจ้งแล้ว (ทางวิญญาณ) ก็จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้แจ้ง. มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดแล ในบรรดาธรรมเหล่านั้น : เมื่อ สิ่งที่เห็นแล้ว สักว่าเห็น, สิ่งที่ฟังแล้ว สักว่าได้ยิน, สิ่งที่รู้สึกแล้ว สักว่ารู้สึก, สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว สักว่ารู้แจ้ง, ดังนี้แล้ว; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อนั้น ตัวท่านย่อมไม่มีเพราะเหตุนั้น; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดตัวท่านไม่มีเพราะเหตุนั้น, เมื่อนั้น ตัวท่านก็ไม่มีในที่นั้นๆ; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดตัวท่านไม่มีในที่นั้นๆ, เมื่อนั้นตัวท่านก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง : นั่นแหละ คือที่สุดแห่งความทุกข์ ดังนี้. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดาร ดังต่อไปนี้ :- เห็นรูปแล้ว สติหลงลืม ทำในใจซึ่งรูปนิมิตว่าน่ารัก มีจิตกำหนัดแก่กล้าแล้ว เสวยอารมณ์นั้นอยู่ ความสยบมัวเมาย่อมครอบงำบุคคลนั้น. เวทนาอันเกิดจากรูปเป็นอเนกประการ ย่อมเจริญแก่เขานั้น. อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเข้าไปกลุ้มรุมจิตของเขา. เมื่อสะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่ายังไกลจากนิพพาน. (ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน). บุคคลนั้นไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย เห็นรูปแล้ว มีสติเฉพาะ มีจิตไม่กำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ความสยบมัวเมาย่อมไม่ครอบงำบุคคลนั้น. เมื่อเขาเห็นอยู่ซึ่งรูปตามที่เป็นจริง เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ก็สิ้นไปๆ ไม่เพิ่มพูนขึ้น เขามีสติประพฤติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้, เมื่อไม่สะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้ต่อนิพพาน. (ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน). “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ พระเจ้าข้า !”. พระผู้มีพระภาค ทรงรับรองความข้อนั้น ว่าเป็นการถูกต้อง. ท่านมาลุงก๎ยบุตรหลีกออกสู่ที่สงัดกระทำความเพียรได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในศาสนานี้. -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๙๐/๑๓๒.

ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

 ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอได้เห็นท่อนไม้ใหญ่นั้น ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม่น้ำคงคา หรือไม่ ? “ได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า !” ภิกษุทั้งหลายกราบทูล. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าท่อนไม้นั้น จะไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งในหรือฝั่งนอก, ไม่จมเสียในท่ามกลางน้ำ, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้, ท่อนไม้เช่นที่กล่าวนี้ จักลอยไหลพุ่งไปสู่ทะเล เพราะเหตุว่า ลำแม่น้ำคงคา โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่ทะเล. ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้น : ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน, ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอก, ไม่จมเสียในท่ามกลาง, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้, พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่า สัมมาทิฏฐิ มีธรรมดาที่โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่นิพพาน.

ครั้นสิ้นกระแสพระดำรัสแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นฝั่งในหรือฝั่งนอก ? อะไรชื่อว่าจมในท่ามกลาง ? อะไรชื่อว่าขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก ? อะไรชื่อว่าถูกมนุษย์จับไว้ ? อะไรชื่อว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ? อะไรชื่อว่าถูกเกลียวน้ำวนวนไว้ ? อะไรชื่อว่าเน่าเสียเองในภายใน ?” ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่า “ฝั่งใน” เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖. คำว่า “ฝั่งนอก” เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖. คำว่า “จมเสียในท่ามกลาง” เป็นชื่อของ นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยความเพลิน). คำว่า “ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก” เป็นชื่อของ อัส๎มิมานะ (ความสำคัญว่า เรามี เราเป็น). คำว่า “ถูกมนุษย์จับไว้” ได้แก่ ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ระคนด้วยพวกคฤหัสถ์ เพลิดเพลินด้วยกัน, โศกเศร้าด้วยกัน, มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข, เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน : ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกมนุษย์จับไว้. คำว่า “ถูกอมนุษย์จับไว้” ได้แก่ ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง ว่า “ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้ หรือว่าด้วยตบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ : ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกอมนุษย์จับไว้. คำว่า “ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้” เป็นชื่อของ กามคุณ ๕. “ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน” คืออย่างไรเล่า ? คือภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้ว ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายใน แล. -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓/๓๒๒.

รายละเอียดที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับเรื่องกรรม

 รายละเอียดที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับเรื่องกรรม

การแก้กรรมที่ถูกต้อง


ภิกษุทั้งหลาย ! กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, นิทานสัมภวะแห่งกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ .... คำที่เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในนรก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษย์โลก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก). ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรมทั้งหลาย ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ. ภิกษุทั้งหลาย ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) นี้นั่นเอง คือ กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา; ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :- สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)     สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)     สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ)     สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ)     สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ)     สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ)     สัมมาสติ (ความระลึกชอบ)     สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใดอริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่ง กรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง นิทานสัมภวะแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง เวมัตตตาแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง วิบากแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้; อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้ว่าเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งกรรม. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว. -บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘/๓๓๔.

ผู้แบกของหนัก

 ผู้แบกของหนัก

ผู้แบกของหนัก



ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงของหนัก ผู้แบกของหนัก และการแบกของหนัก แก่พวกเธอ, เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าของหนัก ? ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานักขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก.     อุปาทานักขันธ์ทั้งห้า เหล่าไหนเล่า ? คือ :-         ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ รูป,         ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ เวทนา,         ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สัญญา,         ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สังขาร,         และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ วิญญาณ. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ของหนัก. ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าผู้แบกของหนัก ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล (ตามสมมติ) นั้นแหละ เราเรียกว่าผู้แบกของหนัก เขามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนั้น ตามที่รู้กันอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ผู้แบกของหนัก. ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าการแบกของหนัก ? ภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหาอันใดที่ทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลิน ซึ่งมีปกติทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า การแบกของหนัก. -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๒/๔๙.

เปรตวิสัย

 เปรตวิสัย

ภิกษุเปรต



ท่านพระโมคคัลลานะกล่าวว่า :- อาวุโส ! ผมลงจากคิชฌกูฏบรรพต เขตพระนครราชคฤห์นี้ ได้เห็นอัฏฐิสังขลิกเปรต มีแต่ร่างกระดูก ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่งตามช่องซี่โครง สะบัดซึ่งเปรตนั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญคราง. อาวุโส ! ผมนั้นได้คิดเช่นนี้ว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าประหลาดจริงหนอ ที่สัตว์แม้เห็นปานนี้ ยักษ์แม้เห็นปานนี้ เปรตแม้เห็นปานนี้ การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่. ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ท่านพระโมคคัลลานะอวดอุตริมนุสธรรม. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีจักษุอยู่ ย่อมเป็นผู้มีญาณอยู่ เพราะสาวกได้รู้ได้เห็น หรือได้ทำสัตว์เช่นนี้ให้เป็นพยานแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อกาลก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์นั้น แต่เราไม่ได้พยากรณ์ ถ้าเราพยากรณ์สัตว์นั้นและคนอื่นไม่เชื่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์นั้นเคยเป็นคนฆ่าโคอยู่ในพระนครราชคฤห์นี่เอง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เขาหมกไหม้อยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี แล้วได้ประสบอัตภาพเช่นนี้ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นแหละที่ยังเป็นส่วนเหลืออยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! โมคคัลลานะพูดจริง โมคคัลลานะไม่ต้องอาบัติ. ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ๑๗. ภิกษุเปรต ...ได้เห็นภิกษุเปรต ลอยไปในเวหาส์ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมันถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้นร้องครวญคราง ... . ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ! ... ภิกษุเปรตนั้นเคยเป็นภิกษุผู้ชั่วช้า ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ... . ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... -บาลี มหาวิ. วิ. ๑/๒๑๐/๒๙๕.

เมื่อคิดถึงสิ่งใด แสดงว่าพอใจในสิ่งนั้น

เมื่อคิดถึงสิ่งใด แสดงว่าพอใจในสิ่งนั้น

วู้ดดี้ อย่าคิดมาก




ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าบุคคลย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่ (เจเตติ)ย่อมดำริถึงสิ่งใดอยู่ (ปกปฺเปติ)และย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่ (อนุเสติ) สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป ย่อมมี; เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป มี, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๗๘/๑๔๕.

ความมีขึ้นแห่งภพ แม้มีอยู่ชั่วขณะก็น่ารังเกียจ

ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีประมาณน้อย ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้. (ในสูตรถัดไป ได้ตรัสอุปมาด้วยมูตร ด้วยน้ำลาย ด้วยหนอง ด้วยโลหิต โดยทำนองเดียวกัน เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๔.) -บาลี เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๓.

การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา

 การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา

โอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อย



ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้า โจรผู้คอยหาช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใครด้วยเลื่อยมีด้ามสองข้าง; ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น.     ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนั้น เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตาไม่มีโทสะในภายใน อยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่ เธอจะได้เห็นทางแห่งการกล่าวหาเล็กหรือใหญ่ที่เธออดกลั้นไม่ได้อยู่อีกหรือ ? “ข้อนั้นหามิได้  พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เป็นประจำเถิด : นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน. -บาลี มู. ม. ๑๒/๒๕๘/๒๗๒.