อนุตตริยะ ๖ (สิ่งที่ประเสริฐ ๖ ประการ)

 อนุตตริยะ (สิ่งที่ประเสริฐ ประการ)

ทัสสนานุตตริยะ
สิกขานุตตริยะ
ปาริจริยานุตตริยะ
อนุสสตานุตตริยะ



ภิกษุทั้งหลาย ! อนุตตริยะ ประการนี้ ประการ เป็นอย่างไร คือ (๑) ทัสสนานุตตริยะ (๒) สวนานุตตริยะ (๓) ลาภานุตตริยะ (๔) สิกขานุตตริยะ (๕) ปาริจริยานุตตริยะ () อนุสสตานุตตริยะ (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้ นั้นแลเป็นกิจเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นตถาคต หรือสาวกตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธา ไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นตถาคต หรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้. (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สวนานานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในตถาคตหรือสาวกของตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่เลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๕) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน.ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้. () ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การระลึกนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลอนุตตริยะ ประการ. ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์โดยกาลอันควร.


-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๓/๓๐๑.

เหตุแห่งการเบียดเบียน

 เหตุแห่งการเบียดเบียน

เหตุแห่งการเบียดเบียน



“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! อะไรเป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีเบียดเบียนแก่กันและกันเล่า พระเจ้าข้า ?”. จอมเทพ ! ความอิจฉา (อิสสา) และความตระหนี่ (มัจฉริยะ) นั่นแล เป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกันได้. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ก็ความอิจฉาและความตระหนี่นั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ (นิทาน) มีอะไรเป็นเครื่องก่อขึ้น (สมุทัย) มีอะไรเป็นเครื่องทำให้เกิด (ชาติกะ) มีอะไรเป็นแดนเกิด (ปภวะ) ? เมื่ออะไรมีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงมี ? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงไม่มี พระเจ้าข้า ?”.

จอมเทพ ! ความอิจฉาและความตระหนี่นั้น มีสิ่งอันเป็นที่รักและสิ่งอันไม่เป็นที่รัก (ปิยาปฺปิย) นั่นแล เป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... เมื่อสิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่ก็ไม่มี. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ก็สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้นเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... ? เมื่ออะไรมีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงมี ? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงไม่มี พระเจ้าข้า ?”. จอมเทพ ! สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้น มีฉันทะ (ความพอใจ) เป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... เมื่อฉันทะ ไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักก็ไม่มี...

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๓๑๐/๒๕๕.

ผลแปดประการอันเป็นภาพรวม ของความเป็นพระโสดาบัน

 ผลแปดประการอันเป็นภาพรวม

ของความเป็นพระโสดาบัน



ผลแปดประการอันเป็นภาพรวม ของความเป็นพระโสดาบัน




นักเลียนเรว


ภิกษุทั้งหลาย ! ถูกแล้ว ! เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่า พวกเธอทั้งหลายก็กล่าวอย่างนั้น, แม้เราตถาคตก็กล่าวอย่างนั้น, ว่า “เมื่อสิ่งนี้ไม่มี, สิ่งนี้ย่อมไม่มี; เพราะสิ่งนี้ดับ, สิ่งนี้ย่อมดับ;

กล่าวคือ เพราะมีความดับแห่งอวิชชา จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้”. (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอเมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงพึงแล่นไปสู่ ทิฏฐิอันปรารภที่สุดในเบื้องต้น (ความเห็นที่นึกถึงขันธ์ในอดีต) ว่า “ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต เราได้มีแล้วหรือหนอ; เราไม่ได้มีแล้วหรือหนอ; เราได้เป็นอะไรแล้วหนอ; เราได้เป็นอย่างไรแล้วหนอ; เราเป็นอะไรแล้ว จึงได้เป็นอะไรอีกแล้วหนอ”; ดังนี้ ?

“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าพวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงแล่นไปสู่ทิฏฐิอันปรารภที่สุดในเบื้องปลาย (ความเห็นที่นึกถึงขันธ์ในอนาคต) ว่า “ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต เราจักมีหรือหนอ; เราจักไม่มีหรือหนอ; เราจักเป็นอะไรหนอ; เราจักเป็นอย่างไรหนอ; เราเป็นอะไรแล้ว จักเป็นอะไรต่อไปหนอ”; ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าพวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงเป็นผู้มีความสงสัยเกี่ยวกับตน ปรารภกาลอันเป็นปัจจุบัน ในกาลนี้ว่า “เรามีอยู่หรือหนอ; เราไม่มีอยู่หรือหนอ; เราเป็นอะไรหนอ; เราเป็นอย่างไรหนอ; สัตว์นี้มาจากที่ไหน แล้วจักเป็นผู้ไปสู่ที่ไหนอีกหนอ”; ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะพึงกล่าวว่า “พระศาสดาเป็นครูของพวกเรา ดังนั้น พวกเราต้องกล่าวอย่างที่ท่านกล่าว เพราะความเคารพในพระศาสดานั่นเทียว” ดังนี้ ?

“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๕) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะพึงกล่าวว่า “พระสมณะ (พระพุทธองค์) กล่าวแล้วอย่างนี้; แต่สมณะทั้งหลายและพวกเราจะกล่าวอย่างอื่น” ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๖) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงประกาศการนับถือศาสดาอื่น ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๗) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงเวียนกลับไปสู่การประพฤติซึ่งวัตตโกตูหลมงคลทั้งหลาย ตามแบบของสมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าอื่นเป็นอันมาก โดยความเป็นสาระ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”.

(๘) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอ จะกล่าวแต่สิ่งที่พวกเธอรู้เอง เห็นเอง รู้สึกเองแล้ว เท่านั้น มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ถูกแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย เป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฐิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพวิญฺญูหิ). ภิกษุทั้งหลาย ! คำนี้เรากล่าวแล้ว หมายถึง คำที่เราได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน” ดังนี้.


-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๐.

อานิสงส์ของผู้มีจิตเลื่อมใสในตถาคต

 อานิสงส์ของผู้มีจิตเลื่อมใสในตถาคต

อานิสงส์ของผู้มีจิตเลื่อมใสในตถาคต



อานนท์ ! ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์แผ่รัศมีส่องแสงให้สว่างไปทั่วทิศกินเนื้อที่ประมาณเท่าใด โลกมีเนื้อที่เท่านั้น มีจำนวนพันหนึ่ง ในพันโลกนั้น มีดวงจันทร์พันดวง ดวงอาทิตย์พันดวง ภูเขาสิเนรุพันลูก ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยานพันทวีป อุตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน มหาราชสี่พัน จาตุมมหาราชิกาพันหนึ่ง ดาวดึงส์พันหนึ่ง ยามาพันหนึ่ง ดุสิตพันหนึ่ง นิมมานรดีพันหนึ่ง ปรนิมมิตวสวัตตีพันหนึ่ง พรหมพันหนึ่ง นี้เรียกว่า สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ (โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล) สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุมีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้นโดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ โลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล) ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุมีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้นโดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ (โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล)

อานนท์ ! ตถาคต เมื่อมีความจำนง ก็ย่อมพูดให้ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ ได้ยินเสียงทั่วกันได้, หรือว่าจำนงให้ได้ยินเพียงเท่าใด ก็ได้. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! เป็นไปได้ด้วยวิธีอย่างใด พระเจ้าข้า ! อานนท์ ! ตถาคตอยู่ที่นี่ จะพึงแผ่รัศมี มีโอภาสสว่างไปทั่วติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุเสียก่อน เมื่อสัตว์เหล่านั้น รู้สึกต่อแสงสว่างอันนั้นแล้ว ตถาคตก็จะบันลือเสียง ให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน. อย่างนี้แล อานนท์ ! ตถาคตจะพูดให้ติสหัสสี-มหาสหัสสีโลกธาตุ ได้ยินเสียงทั่วกันได้ หรือจำนงให้ได้ยินเพียงเท่าใดก็ได้. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า “เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอ ที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้”. ลำดับนั้น ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า :- ท่านอานนท์ผู้มีอายุ ! ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้. เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า :-

อุทายี ! เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นพระเจ้าจักพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น. อุทายี ! ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง.


-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๒/๕๒๐.

กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน

กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน


ช้างมาตังคะ



เรื่องมีอยู่ว่าภิกษุ ๒ รูปทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้วไม่เห็นอาบัติ จึงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเข-ปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น แต่ละรูปต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างก็หาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้พระภาคจะทรงแนะนำตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการทางกายทางวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงตักเตือน. ภิกษุทั้งหลาย ! พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย. มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี ! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิด พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบ ๒ ว่า ภิกษุทั้งหลาย ! พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย. มีภิกษุบางรูปทูลคำนี้ขึ้นเป็นคำรบ ๒ ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี ! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิด พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”. พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมาร แห่งแคว้นโกศลผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสีในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว (คือไม่ให้ผูกเวรจองเวรไว้นาน) ไม่ให้เห็นแก่สั้น (คือไม่ให้ตัดไมตรี) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตพระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืนพร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย. ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับศัสตราอาวุธยังทรงมีขันติและโสรัจจะได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยม แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง. กาลนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จเข้าไปสู่เมืองโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืน ตรัสคาถานี้ว่า คนไพร่ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญตัวว่า เป็นพาลไม่ เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่น ให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่. พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูดอย่างไร ก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกันไม่. พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้น ย่อมระงับไม่ลง. พวกใด ไม่ผูกใจเจ็บว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้น ย่อมระงับได้. ในยุคไหนก็ตาม เวรทั้งหลาย ไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล. คนพวกอื่น ไม่รู้สึกว่า ‘พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้’ พวกใด สำนึกตัวได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้ เพราะความรู้สึกนั้น. ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยังมีได้แม้แก่พวกคนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมืองหักแข้งขาชาวบ้าน ฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป แล้วทำไมจะมีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า. ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ ที่มีความเป็นอยู่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้ ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชาที่ละแคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียว ดุจช้างมาตังคะ เที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น. การเที่ยวไปคนเดียว ดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป เป็นคนมักน้อย ดุจช้างมาตังคะ เป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่า ฉะนั้น. ครั้นแล้วจึงเสด็จไปจากที่นั้นสู่พาลกโลณการกคาม สู่ป่าชื่อปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่างๆ ในที่ที่เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ และได้มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปัฏฐากดูแลพระผู้มีพระภาค ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่านเหล่านี้รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่ต้องทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่ต้องถวายบิณฑบาต ท่านเหล่านี้ถูกพวกเราไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะอย่างนี้ จักหลีกไปเสีย หรือจักสึกเสีย หรือจักให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด ครั้นแล้วไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งพวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายบิณฑบาต. ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ จึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ! มิฉะนั้น พวกเราพึงไปพระนครสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตร จีวร พากันเดินทางไปพระนครสาวัตถี. ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกสำนึกผิด จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีและยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้นเป็นสังฆสามัคคีด้วยทุติยกรรมวาจา เสร็จแล้วให้สวดปาติโมกข์.

-บาลี มหา. วิ. ๕/๓๑๒/๒๓๘.

บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก

 บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก

บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก



[๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้คือ

อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ๑

ไม่ควรไหว้ อนุปสัมบัน ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที ๑

ไม่ควรไหว้ มาตุคาม ๑

ไม่ควรไหว้ บัณเฑาะก์ ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ควรมานัต ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ประพฤติมานัต ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ควรอัพภาน ๑

บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล อันภิกษุไม่ควรไหว้

บุคคลที่ควรไหว้ ๓ จำพวก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือ

ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ๑

ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที ๑

ควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกใน หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

บุคคล ๓ จำพวกนี้แล ภิกษุควรไหว้ ฯ


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๗๕ ข้อที่ ๒๖๔

เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท

  เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท

ห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท




[๑๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล บัณเฑาะก์คนหนึ่งบวชในสำนักภิกษุ. เธอเข้าไปหาภิกษุ หนุ่มๆ แล้วพูดชวนอย่างนี้ว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า.     ภิกษุทั้งหลายพูดรุกรานว่า เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยเจ้า.     เธอถูกพวกภิกษุพูดรุกราน จึงเข้าไปหาพวกสามเณรโค่งผู้มีร่างล่ำสัน แล้วพูดชวนอย่างนี้ว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. พวกสามเณรพูดรุกรานว่า เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยเจ้า.     เธอถูกพวกสามเณรพูดรุกราน จึงเข้าไปหาพวกคนเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงม้า แล้วพูดอย่างนี้ว่า มาเถิด ท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. พวกคนเลี้ยงช้าง พวกคนเลี้ยงม้า ประทุษร้ายแล้วจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นบัณเฑาะก์ บรรดาพวกสมณะเหล่านี้ แม้พวกใดที่มิใช่บัณเฑาะก์ แม้พวกนั้นก็ประทุษร้ายบัณเฑาะก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสมณะเหล่านี้ก็ล้วนแต่ไม่ใช่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์.     ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกคนเลี้ยงช้าง พวกคนเลี้ยงม้า พากันเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย.


พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑๔๑ - ๑๔๒ ข้อที่ ๑๒๕

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์

 การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์

เอาตาเราคืนมา


การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์



ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก. สามจำพวกอย่างไรเล่า ? สามจำพวกคือ :- คนตาบอด (อนฺโธ), คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ), คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ). ภิกษุทั้งหลาย ! คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ? คือคนบางคนในโลกนี้ ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง; และไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ ธรรมเลวและธรรมประณีต ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).

ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาข้างเดียวเป็นอย่างไรเล่า ? คือคนบางคนในโลกนี้ มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง; แต่ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ ธรรมเลวและธรรมประณีต ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาข้างเดียว. ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาสองข้างเป็นอย่างไรเล่า ? คือคนบางคนในโลกนี้ มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง; และมีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ ธรรมเลวและธรรมประณีต ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาสองข้าง.

...ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุมีตาสมบูรณ์ (จกฺขุมา) เป็นอย่างไรเล่า ? คือภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดแห่งทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ภิกษุมีตาสมบูรณ์.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๖๒/๔๖๘. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๔๗/๔๕๙.