อย่ายึดถือติดแน่นในธรรม แต่จงใช้เพียงเป็นเครื่องมือ

 อย่ายึดถือติดแน่นในธรรม แต่จงใช้เพียงเป็นเครื่องมือ





ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล ไปพบแม่น้ำใหญ่ : ฝั่งข้างนี้ก็เต็มไปด้วยอันตรายน่ารังเกียจ น่ากลัว ฝั่งข้างโน้นปลอดภัย. แต่เรือหรือสะพานสำหรับข้าม ไม่มีเพื่อจะข้ามไป. เขาใคร่ครวญเห็นเหตุนี้แล้ว คิดสืบไปว่า “กระนั้นเราพึงรวบรวมหญ้าแห้ง ไม้แห้ง กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ แล้วพยายามเอาด้วยมือและเท้า ก็จะพึงข้ามไปโดยสวัสดี,” บุรุษนั้น ครั้นทำดังนั้นและข้ามไปได้โดยสวัสดีแล้ว ลังเลว่า “แพนี้ มีอุปการะแก่เราเป็นอันมาก ถ้าไฉนเราจักทูนไปด้วยศีรษะ หรือแบกไปด้วยบ่า พาไปด้วยกัน” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกท่านจะสำคัญว่าอย่างไร : บุรุษนั้นจักทำอย่างนั้น เจียวหรือ ? “พระองค์ผู้เจริญ! ข้อนั้นหามิได้”. ภิกษุ ท. ! เขาพึงทำอย่างไร : ถ้าไฉน เขาจะพึงคร่ามันขึ้นบก หรือปล่อยให้ลอยไปในน้ำ, ส่วนเขาเอง ก็หลีกไปตามปรารถนาเท่านั้นเอง : นี้ฉันใด ; ธรรมที่เราแสดงแล้ว ก็เพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ เปรียบได้กับพ่วงแพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท. ! ท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมอันเราแสดงแล้ว อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรม ทั้งหลายเสีย และป่วยกล่าวทำไมถึงสิ่งไม่ใช่ธรรม. - มู. ม. ๑๒/๒๗๐/๒๘๐.

สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง

 สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง

สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง




9/11




ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ. ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว เวปุลลบรรพตนี้มีชื่อว่าปาจีนวังสะ สมัยนั้นแล หมู่มนุษย์มีชื่อว่าติวราหมู่มนุษย์ชื่อติวรา มีอายุประมาณสี่หมื่นปี หมู่มนุษย์ชื่อติวราขึ้นปาจีนวังสบรรพตเป็นเวลา ๔ วัน ลงก็เป็นเวลา ๔ วัน สมัยพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากกุสันธะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากกุสันธะ มีพระสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อว่า วิธูระและสัญชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงดูเถิด ชื่อแห่งภูเขานี้นั้นแล อันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นกระทำกาละไปแล้วและพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ปรินิพพานแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้ สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้อย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว เวปุลลบรรพตนี้มีชื่อว่าวงกฏ สมัยนั้นแล หมู่มนุษย์มีชื่อว่าโรหิตัสสะ หมู่มนุษย์ชื่อโรหิตัสสะ มีอายุประมาณสามหมื่นปี มนุษย์ชื่อโรหิตัสสะขึ้นวงกฏบรรพตเป็นเวลา ๓ วัน ลงก็เป็นเวลา ๓ วัน สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าโกนาคมนะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าโกนาคมนะ มีพระสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อว่า ภิยโยสะและอุตตระ. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงดูเถิด ชื่อแห่งภูเขานี้นั้นแล อันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นกระทำกาละไปแล้ว และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ปรินิพพานแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ... พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว เวปุลลบรรพตนี้มีชื่อว่าสุปัสสะ สมัยนั้นแล หมู่มนุษย์มีชื่อว่าสุปปิยา หมู่มนุษย์ชื่อสุปปิยามีอายุประมาณสองหมื่นปี หมู่มนุษย์ชื่อสุปปิยาขึ้นสุปัสสบรรพตเป็นเวลา ๒ วัน ลงก็เป็นเวลา ๒ วัน สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากัสสปะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากัสสปะ มีพระสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศเป็นคู่เจริญ ชื่อว่า ติสสะและภารทวาชะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงดูเถิด ชื่อแห่งภูเขานี้นั้นแล อันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นกระทำกาละไปแล้ว และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ปรินิพพานแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้ สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้อย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็บัดนี้แล ภูเขาเวปุลละนี้มีชื่อเวปุลละทีเดียว ก็บัดนี้หมู่มนุษย์เหล่านี้มีชื่อว่ามาคธะ หมู่มนุษย์ชื่อมาคธะมีอายุเพียงน้อยนิด ผู้ใดมีชีวิตอยู่นาน ผู้นั้นมีอายุเพียงร้อยปี น้อยกว่าก็มี เกินกว่าก็มี หมู่มนุษย์ชื่อมาคธะ ขึ้นเวปุลลบรรพตเพียงครู่เดียว ลงก็เพียงครู่เดียวและบัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะพระองค์นี้ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ก็เราแลมีสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อว่า สารีบุตรและโมคคัลลานะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ชื่อแห่งบรรพตนี้จักอันตรธาน หมู่มนุษย์เหล่านี้จักทำกาละ และเราก็จักปรินิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้ สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้อย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ปาจีนวังสบรรพตของหมู่มนุษย์ชื่อติวรา วงกฏบรรพตของหมู่มนุษย์ชื่อโรหิตัสสะ สุปัสสบรรพตของหมู่มนุษย์ชื่อสุปปิยาและเวปุลลบรรพตของหมู่มนุษย์ชื่อมาคธะ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความสงบรำงับซึ่งสังขารทั้งปวงได้ เป็นสุข ดังนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๒๕/๔๕๖.

ทรงประกาศธรรม เนื่องด้วยการปลงอายุสังขาร

 ทรงประกาศธรรม เนื่องด้วยการปลงอายุสังขาร


สัตว์ทั้งปวง ทั้งคนหนุ่มคนแก่


ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้นพวกเธอพึงเรียนเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่ว พึงเจริญทำให้มาก โดยอาการที่พรหมจรรย์ (คือศาสนานี้) จักมั่นคง ตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน, ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน, เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ, คือ :- สติปัฏฐานสี่ สัมมัปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยมรรคมีองค์แปด.

ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราจักเตือนท่านทั้งหลายว่า : สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด, การปรินิพพานของตถาคต จักมีในกาลไม่นานเลย ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนนี้. สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่มและคนแก่, ทั้งที่เป็นคนพาล และบัณฑิต, ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตาย เป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า, เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่, ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด; ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น. วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด. ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๐/๑๐๗. -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๐/๑๐๘.

ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน

 ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน


ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน


ภิกษุทั้งหลาย ! ทาน ๒ อย่างนี้ คือ     (๑) อามิสทาน         (๒) ธรรมทาน ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทาน ๒ อย่างนี้         ธรรมทานเป็นเลิศ. ภิกษุทั้งหลาย ! การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ คือ     (๑) การแจกจ่ายอามิส         (๒) การแจกจ่ายธรรม ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้         การแจกจ่ายธรรมเป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย ! การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ     (๑) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส         (๒) การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้         การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ.


-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๓๐๕/๒๗๘.

ผู้ติดเหยื่อโลก ชอบฟังเรื่องกาม ไม่ฟังเรื่องสงบ

 ผู้ติดเหยื่อโลก ชอบฟังเรื่องกาม ไม่ฟังเรื่องสงบ


ผู้ติดเหยื่อโลก ชอบฟังเรื่องกาม ไม่ฟังเรื่องสงบ


สุนักขัตตะ ! กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้. ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? ห้าอย่าง คือ รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ฟังด้วยหู, กลิ่นที่ดมด้วยจมูก, รสที่ลิ้มด้วยลิ้น, และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยกาย ; (แต่ละอย่างล้วน) เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา, น่ารักใคร่, น่าพอใจ, เป็นสิ่งที่ยวนตายวนใจให้รัก, เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยซึ่งความใคร่, เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ. สุนักขัตตะ ! เหล่านี้แล คือ กามคุณห้าอย่าง

สุนักขัตตะ ! นี้เป็นสิ่งที่มีได้เป็นได้ คือข้อที่บุรุษบุคคลบางคนในโลกนี้ มีอัชฌาสัยน้อมไปในเหยื่อของโลก (คือกามคุณห้าอย่าง), ถ้อยคำสำหรับสนทนา อันพร่ำบ่นถึงเฉพาะต่อกามคุณนั้น ๆ ย่อมตั้งอยู่ได้สำหรับบุรุษบุคคลผู้มีอัชฌาสัยน้อมไปในเหยื่อของโลก, เขาย่อมตรึกตามตรองตาม ถึงสิ่งอันอนุโลมต่อกามคุณนั้น ๆ, สิ่งนั้นย่อมคบกับบุรุษนั้นด้วย บุรุษนั้นย่อมเอาใจใส่ต่อสิ่งนั้นด้วย.
ส่วนเมื่อถ้อยคำที่ประกอบด้วยสมาบัติเรื่องไม่หวั่นไหว (ด้วยกามคุณ) ที่ผ่านไปมาอยู่ เขาย่อมไม่ฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่กำหนดจิตเพื่อจะรู้, ถ้อยคำชนิดนั้น ก็ไม่คุ้นเคยกับบุรุษนั้น บุรุษนั้น ก็ไม่สนใจด้วยคำชนิดนั้น.
สุนักขัตตะ ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้จากบ้านหรือนิคมของตนไปนมนาน ครั้นเห็นบุรุษผู้หนึ่ง เพิ่งไปจากบ้านหรือนิคมของตน เขาย่อมถามบุรุษนั้น ถึงความเกษม ความมีอาหารง่าย ความปราศจากโรค ของบ้านนั้น นิคมนั้น, บุรุษนั้นก็บอกให้.
สุนักขัตตะ ! เธอจะเข้าใจว่าอย่างไร : เขาย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ต่อบุรุษนั้น ย่อมกำหนดจิตเพื่อจะรู้ ย่อมคบบุรุษนั้น ย่อมสนใจด้วยบุรุษนั้น มิใช่หรือ ? - อุปริ. ม. ๑๔/๖๒/๗๐ - ๗๑.

ผลแปดประการอันเป็นภาพรวม ของความเป็นพระโสดาบัน

 ผลแปดประการอันเป็นภาพรวม

ของความเป็นพระโสดาบัน


อกาลิโก2020


ภิกษุทั้งหลาย ! ถูกแล้ว ! เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่า พวกเธอทั้งหลายก็กล่าวอย่างนั้น, แม้เราตถาคตก็กล่าวอย่างนั้น, ว่า “เมื่อสิ่งนี้ไม่มี, สิ่งนี้ย่อมไม่มี; เพราะสิ่งนี้ดับ, สิ่งนี้ย่อมดับ;

กล่าวคือ เพราะมีความดับแห่งอวิชชา จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้”. (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอเมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงพึงแล่นไปสู่ ทิฏฐิอันปรารภที่สุดในเบื้องต้น (ความเห็นที่นึกถึงขันธ์ในอดีต) ว่า “ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต เราได้มีแล้วหรือหนอ; เราไม่ได้มีแล้วหรือหนอ;

เราได้เป็นอะไรแล้วหนอ; เราได้เป็นอย่างไรแล้วหนอ; เราเป็นอะไรแล้ว จึงได้เป็นอะไรอีกแล้วหนอ”; ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าพวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงแล่นไปสู่ทิฏฐิอันปรารภที่สุดในเบื้องปลาย (ความเห็นที่นึกถึงขันธ์ในอนาคต) ว่า “ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต เราจักมีหรือหนอ; เราจักไม่มีหรือหนอ; เราจักเป็นอะไรหนอ; เราจักเป็นอย่างไรหนอ; เราเป็นอะไรแล้ว จักเป็นอะไรต่อไปหนอ”; ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าพวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงเป็นผู้มีความสงสัยเกี่ยวกับตน ปรารภกาลอันเป็นปัจจุบัน ในกาลนี้ว่า “เรามีอยู่หรือหนอ; เราไม่มีอยู่หรือหนอ; เราเป็นอะไรหนอ; เราเป็นอย่างไรหนอ; สัตว์นี้มาจากที่ไหน แล้วจักเป็นผู้ไปสู่ที่ไหนอีกหนอ”; ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะพึงกล่าวว่า “พระศาสดาเป็นครูของพวกเรา ดังนั้น พวกเราต้องกล่าวอย่างที่ท่านกล่าว เพราะความเคารพในพระศาสดานั่นเทียว” ดังนี้ ?

“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๕) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะพึงกล่าวว่า “พระสมณะ (พระพุทธองค์) กล่าวแล้วอย่างนี้; แต่สมณะทั้งหลายและพวกเราจะกล่าวอย่างอื่น” ดังนี้ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๖) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงประกาศการนับถือศาสดาอื่น ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”. (๗) ภิกษุทั้งหลาย ! หรือว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า พวกเธอ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงเวียนกลับไปสู่การประพฤติซึ่งวัตตโกตูหลมงคลทั้งหลาย ตามแบบของสมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าอื่นเป็นอันมาก โดยความเป็นสาระ ? “ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”.
(๘) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอ จะกล่าวแต่สิ่งที่พวกเธอรู้เอง เห็นเอง รู้สึกเองแล้ว เท่านั้น มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ถูกแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย เป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฐิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพวิญฺญูหิ). ภิกษุทั้งหลาย ! คำนี้เรากล่าวแล้ว หมายถึง คำที่เราได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน” ดังนี้.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๐.

ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

 ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้


ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

อมาตาปุตติกภัย




ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (อมาตาปุตฺติกภย) ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง. ๓ อย่างคือ :- มีสมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ตั้งขึ้น ไหม้หมู่บ้าน ไหม้นิคม ไหม้นคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่หนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ พัดพาไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งนิคม ทั้งนคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มีภัย คือการกำเริบ (กบฏ)มาจากป่า ประชาชนขึ้นยานมีล้อหนีกระจัดกระจายไป. เมื่อภัยอย่างนี้เกิดขึ้น สมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สาม. ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง เหล่านี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ กล่าว สมาตาปุตติกภัย(ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันได้)แท้ๆ ๓ อย่างนี้ว่าเป็น อมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้)ไปเสีย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภัย ๓ อย่าง ที่มารดาและบุตรช่วยกันได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ สมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ เป็นอย่างหนึ่ง, สมัยที่น้ำท่วมใหญ่ เป็นอย่างที่สอง, สมัยที่หนีโจรขบถ เป็นอย่างที่สาม; เหล่านี้บางคราวมารดาและบุตรก็ช่วยกันและกันได้ แต่ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับมากล่าวว่าเป็นภัยที่มารดาและบุตรก็ช่วยกันไม่ได้ไปเสียทั้งหมด. ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (โดยแท้จริง)๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่สามอย่าง คือ :- ภัยเกิดจากความแก่ (ชราภยํ), ภัยเกิดจากความเจ็บไข้ (พฺยาธิภยํ), ภัยเกิดจากความตาย (มรณภยํ). ภิกษุทั้งหลาย ! มารดาไม่ได้ตามปรารถนากับบุตรผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด บุตรของเราอย่าแก่เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนากะมารดาผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด มารดาอย่าแก่เลย ดังนี้. มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด บุตรของเราอย่าเจ็บไข้เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด มารดาของเราอย่าเจ็บไข้เลย ดังนี้. มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด บุตรของเราอย่าตายเลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด มารดาของเราอย่าตายเลย ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล เป็นภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ๓ อย่าง. ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัยและอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางหรือปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า ? นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์ ๘) นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ). ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แหละหนทาง นี้แหละปฏิปทา เป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัย และอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น.


-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๘/๕๐๒.

ความสงสัยในทานของเทวดา

ความสงสัยในทานของเทวดา


ความสงสัยในทานของเทวดา


เทวดาทูลถามว่า บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมตะ. เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม ปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำ ทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์.

-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๔๔/๑๓๗. -บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๔๖/๑๔๕.

พระสัมมาสัมพุทธะ ห้ามพยากรณ์ (ทำนายทายทัก) บุคคลอื่น

พระสัมมาสัมพุทธะ ห้ามพยากรณ์ (ทำนายทายทัก) บุคคลอื่น


อย่าประมาณบุคคล


ตรัสกับพระอานนท์ปรารภเหตุนางมิคสาลากล่าวแย้งพระพุทธเจ้าเรื่องการพยากรณ์ความเป็นอริยบุคคลระหว่างบิดาของตนเองผู้ประพฤติพรหมจรรย์และเพื่อนของบิดาผู้ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์แต่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ทั้ง ๒ บุคคลว่าเป็นสกทาคามีได้กายดุสิตเหมือนกัน. อานนท์ ! … เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต. อานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้.

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๐/๗๕.

อิฎฐสูตร

อิฎฐสูตร


อิฎฐสูตร


ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า
ดูกรคฤหบดี ธรรม ประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก
ประการเป็นไฉน คือ
อายุ ๑
วรรณะ ๑
สุขะ ๑
ยศ ๑
สวรรค์ ๑ ดูกรคฤหบดี ธรรม ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยาก
ในโลก ฯ ธรรม ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก เรามิได้ กล่าวว่าจะพึงได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนา ถ้าธรรม ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก จักได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนาแล้วไซร้ ในโลกนี้ ใครจะพึงเสื่อมจากอะไร
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินอายุ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุ อริยสาวกผู้ต้องการอายุ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุที่พระอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ
อริยสาวกผู้นั้นย่อมได้อายุที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือแม้เพราะเหตุแห่งวรรณะ อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้วรรณะ
อริยสาวกนั้นย่อมได้วรรณะที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่อ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสุข หรือแม้เพราะเหตุแห่งสุข
อริยสาวกผู้ต้องการสุขพึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุข เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้นย่อมได้สุขที่เป็นของทิพย์หรือของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการยศ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินยศ หรือแม้เพราะเหตุแห่งยศ อริยสาวกผู้ต้องการยศ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศเพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ยศ อริยสาวกนั้น ย่อมได้ยศที่เป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสวรรค์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งสวรรค์อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวกนั้นย่อมได้สวรรค์ ฯ ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่าบัณฑิต เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้งสองนั้น ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๔๒ ข้อที่ ๔๒ - ๔๓

ตำแหน่งที่สตรีเป็นไม่ได้

ตำแหน่งที่สตรีเป็นไม่ได้


ตำแหน่งที่สตรีเป็นไม่ได้


อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ
สตรีพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
บุรุษพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ
สตรีพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
บุรุษพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ
สตรีพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
บุรุษพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ
สตรีพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
บุรุษพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ
สตรีพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
บุรุษพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นเป็นฐานะที่มีได้.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๒/๒๔๕.