ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง

ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง


ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง


ภิกษุทั้งหลาย ! มรณสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด. พวกเธอ
เจริญมรณสติอยู่บ้างหรือ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลตอบ และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่ง...ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลากลางวัน... ดังนี้ก็ดี,
เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตเสร็จมื้อหนึ่ง... ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียง ๔-๕ คำ เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด การปฏิบัติตามคำสั่งสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี, ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ ยังเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ
ช้าไป.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฝ่ายภิกษุพวกที่เจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิต
อยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว” ดังนี้ก็ดี, ว่า “โอหนอ เราอาจมีชีวิต
อยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า แล้วหายใจออก หรือชั่วขณะหายใจออกแล้วหายใจเข้า. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด, การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี; ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว, เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้น
อาสวะอย่างแท้จริง. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอ ทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่, จักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นอาสวะ
อย่างแท้จริง” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๒๗/๑๗๐.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล


ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล


(นัยที่ ๑)

มหาราชะ ! ภิกษุเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว เป็นอย่างไรเล่า ? มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ เป็นคนสะอาด ไม่เป็นขโมยอยู่; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, เป็นผู้ละกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์โดยปกติ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากการเสพเมถุน อันเป็นของชาวบ้าน; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,
เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด ควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, เป็นผู้ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อให้ฝ่ายนี้แตกร้าวกัน หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่นำมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อให้ฝ่ายโน้นแตกร้าวกัน แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้ว ให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, เป็นผู้ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,
เป็นผู้ละคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริงเป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา; แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

(นัยที่ ๒)

มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล, เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล, เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ, เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง, เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก, แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,

(นัยที่ ๓)

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังทำพีชคามและภูตคามให้กำเริบ, คืออะไรบ้าง ? คือพืชที่เกิดแต่ราก พืชที่เกิดแต่ต้น พืชที่เกิดแต่ผล พืชที่เกิดแต่ยอด และพืชที่เกิดแต่เมล็ดเป็นที่ห้า. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการทำพีชคามและภูตคาม เห็นปานนั้น ให้กำเริบแล้ว แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้ทำการบริโภคสะสมอยู่เนืองๆ, คืออะไรบ้าง ? คือสะสมข้าวบ้าง สะสมน้ำดื่มบ้าง สะสมผ้าบ้าง สะสมยานพาหนะบ้าง สะสมเครื่องนอนบ้าง สะสมของหอมบ้าง สะสมอามิสบ้าง. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการบริโภคสะสมเห็นปานนั้นเสียแล้ว แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้ดูการละเล่นกันอยู่เนืองๆ, คืออะไรบ้าง ? คือดูฟ้อน ฟังขับ ฟังประโคม ดูไม้ลอย ฟังนิยาย ฟังเพลงปรบมือ ฟังตีฆ้อง ฟังตีระนาด ดูหุ่นยนต์ ฟังเพลงขอทาน ฟังแคน ดูเล่นหน้าศพ ดูชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา ดูรำไม้ รำมือ ชกมวย ดูเขารบกัน ดูเขาตรวจพล ดูเขาตั้งกระบวนทัพ ดูกองทัพที่จัดไว้. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการดูการเล่นเห็นปานนั้นเสียแล้ว แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่, คืออะไรบ้าง ? คือทายลักษณะในร่างกายบ้าง ทายนิมิตลางดีลางร้ายบ้าง ทายอุปปาตะ คือของตกบ้าง ทำนายฝัน ทายชะตา ทายผ้าหนูกัด ทำพิธีโหมเพลิง ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดโปรยแกลบ ทำพิธีซัดโปรยรำ ทำพิธีซัดโปรยข้าวสาร ทำพิธีจองเปรียง ทำพิธีจุดไฟบูชา ทำพิธีเสกเป่า ทำพิธีพลีด้วยโลหิตบ้าง เป็นหมอดูอวัยวะร่างกาย หมอดูภูมิที่ตั้งบ้านเรือน ดูลักษณะไร่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอทำยันต์กันบ้านเรือน หมองู หมอดับพิษ หมอแมลงป่อง หมอหนูกัด หมอทายเสียงนก เสียงกา หมอทายอายุ หมอกันลูกศร หมอดูรอยสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่, คืออะไรบ้าง ? คือทำนายจันทรคราส สุริยคราส นักษัตรคราส ทำนายดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวพระเคราะห์ ว่าจักเดินในทางบ้าง นอกทางบ้าง, ทำนายว่า จักมีอุกกาบาต ฮูมเพลิง แผ่นดินไหว ฟ้าร้องบ้าง ทำนายการขึ้น การตก การหมอง การแผ้วของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาว จะมีผลเป็นอย่างนั้นๆ ดังนี้บ้าง. ส่วนภิกษุในศาสนานี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่, คืออะไรบ้าง ? คือ ทำนายว่าจักมีฝนดีบ้าง จักมีฝนแล้งบ้าง อาหารหาง่าย อาหารหายาก จักมีความสบาย จักมีความทุกข์ จักมีโรค จักไม่มีโรคบ้าง ทำนายการนับคะแนน คิดเลข ประมวล, แต่งกาพย์กลอน สอนตำราว่าด้วยทางโลก ดังนี้บ้าง. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่, คืออะไรบ้าง ? คือ ดูฤกษ์อาวาหะ ดูฤกษ์วิวาหะ ดูฤกษ์ทำการผูกมิตร ดูฤกษ์ทำการแตกร้าว ดูฤกษ์ทำการเก็บทรัพย์ ดูฤกษ์ทำการจ่ายทรัพย์, ดูโชคดีโชคร้ายบ้าง, ให้ยาบำรุงครรภ์บ้าง ร่ายมนต์ผูกยึด ปิดอุดบ้าง, ร่ายมนต์สลัด ร่ายมนต์กั้นเสียง เป็นหมอเชิญผีถามบ้าง เชิญเจ้าเข้าหญิงถามบ้าง ถามเทวดาบ้าง ทำพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ร่ายมนต์เรียกขวัญให้บ้าง. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่, คืออะไรบ้าง ? คือ บนขอลาภผลต่อเทวดา ทำการบวงสรวงแก้บน สอนมนต์กันผีกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำการบวงสรวงในที่ปลูกเรือน พ่นน้ำมนต์ บูชาเพลิงให้บ้าง ประกอบยาสำรอกให้บ้าง ประกอบยาประจุ ประกอบยาถ่ายโทษข้างบน ประกอบยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ทำยาหยอดตา ประกอบยานัตถุ์ ประกอบยาทำให้กัด ประกอบยาทำให้สมาน เป็นหมอป้ายยาตา เป็นหมอผ่าบาดแผล เป็นหมอกุมาร หมอพอกยาแก้ยาให้บ้าง. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อรอบรู้ทุกข์

ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อรอบรู้ทุกข์


ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อรอบรู้ทุกข์


ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิศาสนาอื่น จะพึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า
“ผู้มีอายุ ! ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดม เพื่อประโยชน์อะไรเล่า ? ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชก เหล่านั้นว่า
“ผู้มีอายุ ! เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อรอบรู้ซึ่งทุกข์” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกเหล่านั้น จะพึงถามต่อไปว่า “ผู้มีอายุ ! ก็ทุกข์ซึ่งท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดม เพื่อจะรอบรู้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้อีกแล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชกเหล่านั้นต่อไปว่า “ผู้มีอายุ ! ตา เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้ตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. รูป เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้รูป ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. ความรู้แจ้งทางตา เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคก็เพื่อรอบรู้ความรู้แจ้งทางตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. สัมผัสทางตา เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้สัมผัสทางตา ซึ่งเป็นทุกข์นั้น, เวทนาที่เกิดขึ้น เพราะสัมผัสทางตาเป็นปัจจัย เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ตาม ก็เป็นทุกข์. เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อรอบรู้เวทนาเช่นนั้น ซึ่งเป็นทุกข์นั้น. (ในกรณีที่เกี่ยวกับอายตนะภายใน ภายนอก วิญญาณ สัมผัส และ เวทนา อีก ๕ หมวดนั้น ก็ตรัสทำนองเดียวกับหมวดแรกนี้). ผู้มีอายุ ! เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคนี้ก็เพื่อรอบรู้ซึ่งทุกข์” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะต้องตอบแก่พวกปริพาชก ผู้ถือลัทธิศาสนาอื่นเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้แล. - สฬา. สํ. ๑๘/๑๗๒/๒๓๘.

ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกรัตนะ

ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกรัตนะ

Pre-Order พระ-ตูน-ปีดก




ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกรัตนะ


ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก
ธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) เป็นผู้มีศรัทธา
(๒) เป็นผู้มีศีล
(๓) ไม่เป็นผู้ถือโกตุหลมงคล เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
(๔) ไม่แสวงหาผู้ควรรับทักษิณาภายนอกศาสนานี้
(๕) ทำการสนับสนุนในศาสนานี้ ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๓๐/๑๗๕.

งูเปื้อนคูถ

งูเปื้อนคูถ

งูเปื้อนคูถ



ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชชนิดไร ที่ทุกๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ? ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชบางคนในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชชนิดนี้แล ที่ทุกๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้. ข้อนั้นเพราะอะไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ถึงแม้ผู้ที่เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้ เป็นตัวอย่างก็ตาม, แต่ว่าเสียงร่ำลืออันเสื่อมเสีย จะระบือไปว่า “คนๆ นี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนงูที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ กัดไม่ได้ก็จริงแล, แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถให้เปื้อนด้วยคูถได้ (ด้วยการดิ้นของมัน) นี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ผู้เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้เป็นตัวอย่างก็จริงแล, แต่ว่า เสียงร่ำลืออันเสื่อมเสียจะระบือไปว่า “คนๆ นี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น นักบวชชนิดนี้ จึงเป็นคนที่ทุกๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๕๘/๔๖๖.

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง
สัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ


ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ


ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “สัมมาสัมพุทธะ”. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ก็หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “ปัญญาวิมุตติ”. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ได้ตรัสไว้ มีข้อความแสดงหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ด้วยกันทั้งสองพวกแล้ว, อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน อะไรเป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่าง ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ ให้มีคนรู้, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าว ให้เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว, ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค), เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค), เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค); ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้ เป็น มัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ.

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๘๑/๑๒๕.