ปัพพโตปมสูตรที่ ๕

ปัพพโตปมสูตรที่ ๕


หินกลิ้งบดสัตว์







[๔๑๑] สาวัตถีนิทาน ฯ ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในตอนกลางวัน ครั้นแล้วได้ทรงอภิวาท แล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกะท้าวเธอว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาแต่ไหน หนอ แต่วัน ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาผู้กษัตริย์ ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมา แล้วเพราะ ความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบทผู้ชำนะซึ่งปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบครองอยู่ ย่อมมีราชกรณียะอันใด บัดนี้หม่อมฉันถึงแล้วซึ่งความขวนขวายในราชกรณียะ เหล่านั้น ฯ [๔๑๒] พ. ดูกรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ณ ที่นี้ ข้าราชการของพระองค์ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาแต่ทิศตะวันออก เขาเข้ามาเฝ้าพระองค์ แล้วพึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พึงทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าพึงมาจากทิศตะวันออก ณ ที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้ง บดปวงสัตว์มา พระพุทธเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรงกระทำขอได้โปรดกระทำเสีย ลำดับนั้น ข้าราชการคนที่ ๒ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาแต่ทิศใต้ ฯลฯ ถัดนั้น ข้าราชการคนที่ ๓ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ ต่อจากนั้น ข้าราชการคนที่ ๔ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจา เป็นหลักฐาน พึงมาจากทิศเหนือ เขาเข้ามาเฝ้าพระองค์แล้ว พึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พึงทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าพึงมาจากทิศเหนือ ณ ที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้งบดปวงสัตว์มา พระพุทธเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรงกระทำ ขอได้โปรดกระทำเสียเถิด ฯ
ดูกรมหาบพิตร ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศใหญ่โตถึงเพียงนี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อะไรเล่า ที่พระองค์จะพึงทรงกระทำใน ภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยาก ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศอันใหญ่โตถึงเพียงนั้น บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน อะไรจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันพึงกระทำ ในภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยากเล่า นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ [๔๑๓] พ. ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงทราบ ดูกร มหาบพิตร ชราและมรณะย่อมครอบงำพระองค์ ดูกรมหาบพิตร ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำพระองค์อยู่ อะไรเล่า จะพึงเป็นกิจที่มหาบพิตรพึง กระทำ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำหม่อมฉันอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรจะทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจาก การประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ การรบด้วยช้างเหล่าใด ย่อมมีแก่พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกาม กลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะซึ่งปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้ว ครอบงำอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ คติวิสัยแห่งการรบด้วยช้างแม้เหล่านั้น ไม่มีเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การรบด้วยม้าแม้เหล่าใด ฯลฯ การรบด้วยรถแม้เหล่าใด ฯลฯ การรบด้วยทหารเดินเท้าแม้เหล่าใด ย่อมมี แก่พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้วผู้ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบงำอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ คติวิสัยแห่งการรบด้วยทหารเดินเท้าแม้เหล่านั้นไม่มีเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในราชสกุลนี้ มหาอำมาตย์ผู้มีมนต์ ซึ่งสามารถจะใช้มนต์ทำลายข้าศึกที่ยกมา ก็มีอยู่เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำสิ คติวิสัยแห่งการรบด้วยมนต์ แม้เหล่านั้นหามีไม่ อนึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในราชสกุลนี้ เงินทองทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในเวหาส ซึ่งพวกหม่อมฉันสามารถจะใช้เป็นเครื่องมือยุแหย่ให้ข้าศึกที่ยกมาแตกกันก็มีอยู่เป็นอันมาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำสิ คติวิสัยแห่งการรบด้วยทรัพย์แม้ เหล่านั้นหามีไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แลเมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติ สม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ [๔๑๔] ป. ถูกแล้วๆ มหาบพิตร ก็เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจ ที่พระองค์ควรทำนอกจากการประพฤติธรรม นอกจากประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ [๔๑๕] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ฯ     ภูเขาใหญ่แล้วด้วยศิลา จดท้องฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ แม้ฉันใด ชราและมัจจุก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือ พวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวกแพศย์ พวกศูทร พวกจัณฑาล และ คนเทมูลฝอย ไม่เว้นใครๆ ไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลช้าง พลม้า ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิ สำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชนะแม้ด้วยการรบด้วยมนต์หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์ ผู้ใดมีปรกติประพฤติธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้น ในโลกนี้นั่นเทียว ผู้นั้นละโลกนี้ไป ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ จบ โกสลสังยุต พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๑๒๔.  ข้อที่ ๔๑๑ - ๔๑๒

คิลายนสูตร ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ

คิลายนสูตร

ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ



คิลายนสูตร  ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ



[๑๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้น ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน พระเจ้ามหานามศากยราช ได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ยินมาว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้หม่อมฉัน ยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้รับมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก. [๑๖๒๘] พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า ท่านจงเบาใจเถิดว่าท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ. [๑๖๒๙] ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว พึงถามอย่างนี้ว่า ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว. [๑๖๓๐] อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในบุตรและภริยาของเราแล้ว
[๑๖๓๑] อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อัน เป็นของมนุษย์อยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็นของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว. [๑๖๓๒] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า ประณีต กว่า พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ... พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นนิมมานรดี ... พรหมโลกยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้วน้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว. [๑๖๓๓] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่ เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับสักกายะเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสก ผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี คือ พ้นด้วยวิมุติเหมือนกัน. จบ สูตรที่ ๔

ระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
หน้าที่ ๔๐๖    ข้อที่ ๑๖๒๗ - ๑๖๓๓

วสลสูตรที่ ๗

วสลสูตรที่ ๗

วสลสูตรที่ ๗






ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค
ทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร
สาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้วตกแต่งของที่ควรบูชา
อยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
ในพระนครสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น
หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ
หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ
เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ อ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย ดีละ ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรมตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวอัคคิกภารทวาช พราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาประพันธ์นี้ว่า ๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฐิวิบัติ และมีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหนไม่มี ความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่า ฆ่าชาวบ้านและชาว นิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ ในบ้านหรือในป่า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนีไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ เพราะอยากได้สิ่งของพึงรู้ว่า เป็นคนถ่อย ฯ ๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแห่งตนก็ดี เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกิน ในภริยาของญาติก็ตาม ของเพื่อนก็ตาม ด้วยข่มขืนหรือด้วยการร่วมรักกัน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาว ไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๐. คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยายแม่ผัวหรือ พ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์ บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์พูดกลบ เกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๒. คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เรา ปกปิดไว้ พึงรู้ ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๓. คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว และบริโภคโภชนะที่สะอาดย่อมไม่ตอบ แทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่น ด้วยมุสาวาท พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์และไม่ให้ โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๖. คนในโลกนี้ ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว ปรารถนาของเล็กน้อย พูด อวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยมานะของตน พึงรู้ว่า เป็นคนถ่อย ฯ ๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกลัวพึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า หรือติเตียนบรรพชิต หรือคฤหัสถ์สาวก ของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ ๒๐. ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้น แลเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อมทั้งพรหมโลก คนเหล่าใด เราประกาศแก่ท่านแล้วคนเหล่านั้นนั่นแล เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย ฯ
บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติแต่เป็น คนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่านจงรู้ข้อนั้น ตามที่ เราแสดงนี้ บุตรของคนจัณฑาลเลี้ยงตัวเองได้ ปรากฏชื่อว่าตังมาคะ เป็นคนกินของที่ตนให้สุกเอง เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นอันมากได้มาสู่ที่บำรุงของเขา เขาขึ้นยานอันประเสริฐ ไปสู่หนทางใหญ่อันไม่มีฝุ่น เขาสำรอกกามราคะเสียได้แล้ว เป็นผู้เข้า ถึงพรหมโลก ชาติไม่ได้ห้ามเขาให้เข้าถึงพรหมโลก พราหมณ์เกิดใน สกุลผู้สาธยายมนต์ เป็นพวกร่ายมนต์ แต่พวกเขาปรากฏในบาปกรรม อยู่เนืองๆ พึงถูกติเตียนในปัจจุบันทีเดียว และภพหน้าก็เป็นทุคติ ชาติห้ามกันพวกเขาจากทุคติหรือจากครหาไม่ได้บุคคลไม่เป็นคนถ่อย เพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติแต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ฯ

    พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๕
    สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
    หน้าที่ ๒๖๙    ข้อที่ ๓๐๕

สุนทริกสูตรที่ ๙

สุนทริกสูตรที่ ๙




[๖๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ในโกศลชนบท ฯ ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ สุนทริกา ฯ ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟแล้วลุกขึ้นจาก อาสนะ เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคปายาสอันเหลือ
จากการบูชานี้ ฯ [๖๕๙] สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ทรงคลุมอวัยวะพร้อมด้วย พระเศียร ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วถือข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระเศียรด้วยเสียงเท้าของสุนทริกภารทวาพราหมณ์ ครั้งนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวว่า
นี้พระสมณะโล้นผู้เจริญ นี้พระสมณะโล้นผู้เจริญ
แล้วประสงค์จะกลับจากที่นั้นทีเดียว ฯ ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้มีความดำริว่า พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ เป็นผู้โล้นบ้างก็มี ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปหาพระสมณะผู้โล้นนั้นแล้วถามถึงชาติ ฯ ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
ครั้นแล้ว ได้ถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านเป็นชาติอะไร ฯ [๖๖๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจาก ไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำเป็นมุนี มีความเพียรเป็นผู้รู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะประกอบด้วยการปราบปราม ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไป แล้ว บูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นชื่อว่าย่อมบูชาพระทักขิไณยบุคคลโดยกาล ฯ

พระไตรปิฏก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๒๐๔ ข้อที่ ๖๕๘ - ๖๕๙

การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด

การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด


การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด


วันทอง ไม่ถวายหัว


อานนท์ ! เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ
เราลำบากกายนัก, จักนอน (ประทับสีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์
ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ, ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์,
ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น; เพื่อบูชาตถาคตเจ้า). อานนท์ ! การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ
เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่. อานนท์ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติ ตามธรรมอยู่; ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด. อานนท์ ! เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า “เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด


Khabane Lame-การตอบแทนคุณมารดาบิดา





ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทน ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง. ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ ๑. มารดา ๒. บิดา ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย. ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา). ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นใน สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล). ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค). ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา). ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๗๘/๒๗๘.