นาดี หรือ นาเลว

นาดี หรือ นาเลว

นาดี หรือ นาเลว



ภิกษุทั้งหลาย ! พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่าง ย่อมไม่ให้ผลมาก ไม่ให้ความพอใจมาก ไม่ให้กำไรมาก ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ นาในกรณีนี้
-พื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ
-เต็มไปด้วยก้อนหินและก้อนกรวด
-ดินเค็ม
-ไถให้ลึกไม่ได้
-ไม่มีทางน้ำเข้า
-ไม่มีทางน้ำออก
-ไม่มีเหมือง
-ไม่มีหัวคันนา นี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นทานไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ สมณพราหมณ์ในกรณีนี้
-เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ
-มีมิจฉาสังกัปปะ
-มีมิจฉาวาจา
-มีมิจฉากัมมันตะ
-มีมิจฉาอาชีวะ
-มีมิจฉาวายามะ
-มีมิจฉาสติ
-มีมิจฉาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย !ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างอย่างนี้ เป็นทาน ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก.
ภิกษุทั้งหลาย ! พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่าง ย่อมให้ผลมาก ให้ความพอใจมาก ให้กำไรมาก ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ นาในกรณีนี้
-พื้นไม่ที่ลุ่มๆ ดอนๆ
-ไม่เต็มไปด้วยก้อนหินและก้อนกรวด
-ดินไม่เค็ม
-ไถให้ลึกได้
-มีทางน้ำเข้า
-มีทางน้ำออก
-มีเหมือง
-มีหัวคันนา นี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ สมณพราหมณ์ในกรณีนี้
-เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ
-มีสัมมาสังกัปปะ
-มีสัมมาวาจา
-มีสัมมากัมมันตะ
-มีสัมมาอาชีวะ
-มีสัมมาวายามะ
-มีสัมมาสติ
-มีสัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ! ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่าง อย่างนี้เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๔๑/๑๒๔.

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน


ไร้อนาคต ไร้คำตถาคต


เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.
ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา); จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.

ผู้ชี้ขุมทรัพย์

ผู้ชี้ขุมทรัพย์

ผู้ชี้ขุมทรัพย์



อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอมเหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่ อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้. คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๕/๓๕๖. -บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๒๕/๑๖.

ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่

ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่



ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่


ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่อย่าง เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ :- อริยสัจคือ ทุกข์, อริยสัจคือ เหตุให้เกิดทุกข์, อริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, อริยสัจคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่ประการเหล่านี้แล, เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนาน ถึงเพียงนี้.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.

อกุศลกรรมบถ ๑๐ และ กุศลกรรมบถ ๑๐

กุศลกรรมบถ ๑๐ และ อกุศลกรรมบถ ๑๐


อกุศลกรรมบถ ๑๐ และ กุศลกรรมบถ ๑๐


กุศลกรรมบถ ๑๐

จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต. (๒) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย. (๓) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้, บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น, เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่นหรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ
ทั้งที่รู้อยู่. (๒) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจ ยินดี เพลิดเพลินในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก.
(๓) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น. (๔) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล ไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาละเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้; (๒) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้ายว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้ เป็นต้น;
(๓) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้ว ปฏิบัติแล้วโดยชอบถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง. จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐. จุนทะ ! บุคคลประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ ลุกจากที่นอนตามเวลาแห่งตนแล้ว แม้จะลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะจับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่จับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้;แม้จะจับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่จับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? จุนทะ ! เพราะเหตุว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ เป็นตัวความไม่สะอาด และเป็นเครื่องกระทำความไม่สะอาด. จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏ หรือว่า ทุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.
กุศลกรรมบถ ๑๐ 

จุนทะ ! ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง จุนทะ ! ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่างนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่. (๒) ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ถือเอาทรัพย์และอุปกรณ์แห่งทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดี ด้วยอาการแห่งขโมย. (๓) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม, (คือเว้นจากการประพฤติผิด) ในหญิงซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือ
ญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องมาลัย) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง. จุนทะ ! ความสะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้, บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น, เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็ไม่เป็น ผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่. (๒) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากการส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้วไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้วไม่เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน.
(๓) ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่. (๔) ละคำพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำพูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง
มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง. จุนทะ ! ความสะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา คือเป็นผู้ไม่โลภ เพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้. (๒) เป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่ประทุษร้ายว่า “สัตว์ทั้งหลาย
จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุข บริหารตนอยู่เถิด” ดังนี้ เป็นต้น. (๓) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง มีทัสสนะไม่วิปริต ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี,
โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกสัตว์ มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง. จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐.
จุนทะ ! บุคคลประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ ลุกจากที่นอนตามเวลาแห่งตนแล้ว แม้จะลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาด; แม้จะจับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่จับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาด; แม้จะจับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่จับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาด; แม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาด; แม้จะไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่ไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาด; แม้จะลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สามก็เป็นคนสะอาด แม้จะไม่ลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาด. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? จุนทะ ! เพราะเหตุว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ เป็นตัวความสะอาด และเป็นเครื่องกระทำความสะอาด. จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ เป็นเหตุ พวกเทพจึงปรากฏ หรือว่าสุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๓/๑๖๕.

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัวเหล่า

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า



ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ ท. ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม
บัวบุณฑริก,
ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ,
บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ,
บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว,
มีฉันใด,
ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรองกะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-
“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค
ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

บาลี. ม.ม. ๑๓/๖๓/๕๑๑.

หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้

หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้


หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม แออัดอยู่ด้วยบุตร ครองเรือน ใช้สอยกระแจะจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรงพวงดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งในทิฏฐธรรม (ในปัจจุบัน) และในสัมปรายะ (ในเวลาถัดต่อมา) แก่พวกข้าพระองค์ผู้อยู่ในสถานะเช่นนี้เถิด พระเจ้าข้า !”. พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่กุลบุตร ในทิฏฐธรรม(ในปัจจุบัน). ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :- อุฏฐานสัมปทา (ความขยันในอาชีพ) อารักขสัมปทา (การรักษาทรัพย์) 
กัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี) สมชีวิตา (การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ).

ความขยันในอาชีพ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ? พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการลุกขึ้นกระทำการงาน คือด้วยกสิกรรม หรือวานิชกรรม
โครักขกรรม อาชีพผู้ถืออาวุธ อาชีพราชบุรุษ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง.
ในอาชีพนั้นๆ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการสอดส่องในอุบายนั้นๆ สามารถกระทำ สามารถจัดให้กระทำ. พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา (ความขยันในอาชีพ). การรักษาทรัพย์ พ๎ยัคฆปัชชะ ! อารักขสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ? พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้, โภคะอันกุลบุตรหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้นรวบรวมมาด้วยกำลังแขน
มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม, เขารักษาคุ้มครองอย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่า “อย่างไรเสียพระราชาจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป โจรจะไม่ปล้นเอาไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดพาไป ทายาทอันไม่รักใคร่เรา จะไม่ยื้อแย่งเอาไป” ดังนี้.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา(การรักษาทรัพย์). ความมีมิตรดี พ๎ยัคฆปัชชะ ! กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไรเล่า ? พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้
อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด, ถ้ามีบุคคลใดๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น เป็นคหบดีหรือบุตรคหบดีก็ดี เป็นคนหนุ่มที่เจริญด้วยศีล หรือเป็นคนแก่ที่เจริญด้วยศีลก็ดี ล้วนแต่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ ถึงพร้อมด้วยปัญญาอยู่แล้วไซร้, กุลบุตรนั้นก็ดำรงตนร่วม พูดจาร่วม สากัจฉา (สนทนา) ร่วมกับชนเหล่านั้น.
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยสัทธาโดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยศีลโดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยจาคะโดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอยู่ในที่นั้นๆ. พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี). การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ พ๎ยัคฆปัชชะ ! สมชีวิตา เป็นอย่างไรเล่า ? พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และ
รายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้”ดังนี้.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนคนถือตาชั่งหรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า “ยังขาดอยู่เท่านี้หรือเกินไปแล้วเท่านี้” ดังนี้ฉันใด; กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น : เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่ายและ
รายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้. พ๎ยัคฆปัชชะ ! ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ (อย่างสุรุ่ยสุร่าย) เหมือนคนกินผลมะเดื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น. พ๎ยัคฆปัชชะ ! แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่างคนอนาถา.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อใด กุลบุตรนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนักโดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเรา จักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้; พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เราเรียกว่า สมชีวิตา (การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ).

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๘๙/๑๔๔.