ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕

ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา

ซึ่ง... ขันธ์ ๕


ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง  ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕


ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึง
ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมตามระลึกถึงซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้าหรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้น.
ห้าอย่างไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ :- ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง รูป นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง เวทนา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สัญญา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง; ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สังขาร นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้” ดังนี้บ้าง;
ภิกษุทั้งหลาย ! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง วิญญาณ นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้” ดังนี้บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า รูป ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย (รุปฺปติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป. สลายเพราะอะไร ? สลายเพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง เพราะความหิวบ้าง เพราะความระหายบ้าง เพราะการสัมผัสกับเหลือบ ยุง
ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่าเวทนา ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น
อันบุคคลรู้สึกได้ (เวทยติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. รู้สึกซึ่งอะไร ? รู้สึกซึ่งสุขบ้าง ซึ่งทุกข์บ้าง
ซึ่งอทุกขมสุขบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สัญญา ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น
ย่อมหมายรู้ได้พร้อม (สญฺชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. หมายรู้ได้พร้อมซึ่งอะไร ? หมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเขียวบ้าง ซึ่งสีเหลืองบ้าง ซึ่งสีแดงบ้าง ซึ่งสีขาวบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สังขาร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น
ย่อมปรุงแต่ง (อภิสงฺขโรนฺติ) ให้เป็นของปรุงแต่ง
เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร. ปรุงแต่งอะไรให้เป็นของปรุงแต่ง ? ปรุงแต่งรูปให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นรูป ปรุงแต่งเวทนาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นเวทนา
ปรุงแต่งสัญญาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขารให้เป็นของ
ปรุงแต่งโดยความเป็นสังขาร ปรุงแต่งวิญญาณให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นวิญญาณ. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร. ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า วิญญาณ ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง (วิชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ. รู้แจ้งซึ่งอะไร ? รู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยวบ้าง ซึ่งความขมบ้าง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง ซึ่งความหวานบ้าง ซึ่งความขื่นบ้าง ซึ่งความไม่ขื่นบ้าง
ซึ่งความเค็มบ้าง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในขันธ์ทั้งห้านั้น อริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ชัดดังนี้ว่า “ในกาลนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่, แม้ในอดีตกาลนานไกล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น. ถ้าเราเพลิดเพลินรูปในอนาคต, แม้ในอนาคตนานไกล เราก็จะถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่เราถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น”. อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เพ่งต่อรูปอันเป็นอดีต
ไม่เพลิดเพลินรูปอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ดับไม่เหลือ แห่งรูปอันเป็นปัจจุบัน. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกันแล้วตรัสต่อไปว่า) ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”. สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ?
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”. สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา” ดังนี้. “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !” (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการถามตอบแบบเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า) ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน มีในภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นบุคคลควรเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” ดังนี้. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกันแล้วตรัสต่อไปว่า) ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่า เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ; ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา; ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง; ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง. อริยสาวกนั้น ย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งอะไร ? เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. อริยสาวกนั้น ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งอะไร ? เธอย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งอะไร? เธอย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ. อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งอะไร ? เธอย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด, เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น,
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ (ผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้ว) นี้ เราเรียกว่า ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบแล้ว-ดำรงอยู่; ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้งแล้ว-ดำรงอยู่; ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายแล้ว-ดำรงอยู่; ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดแล้ว-ดำรงอยู่. ภิกษุนั้น ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่ ภิกษุนั้น ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่. ภิกษุนั้น ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจาย ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่. ภิกษุนั้น ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอด ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ มาจากที่ไกลเทียว กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ! ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบสิ่งซึ่งท่าน อาศัยแล้วเพ่ง ของท่าน” ดังนี้.
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๐๕/๑๕๘.

ปาราชิกกัณฑ์

ปาราชิกกัณฑ์

ปาราชิกกัณฑ์



ปาราชิก สิกขาบทที่ ๑
๑. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงพร้อมซึ่งสิกขาบทและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว
ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม
โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.
ปาราชิก สิกขาบทที่ ๑ จบ.

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒
๒. อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ด้วย ส่วนแห่งความ
เป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลาย จับโจรได้แล้ว
ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า
เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้
ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอา
ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก
หาสังวาสมิได้.
ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒ จบ.

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓
๓. อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา
อันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย
หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย จะประโยชน์
อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่า
เป็นอยู่ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง
อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี
โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.
ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓ จบ.

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔
๔. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็น
ความรู้ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาใน
ตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น
อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอัน
ต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน
ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้
ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.
ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔ จบ.

ปาราชิกกัณฑ์ จบ.

พุทธวจน - อริยวินั้ย หน้า 25

ความรู้สึก ที่ถึงกับทำให้ออกผนวช

ความรู้สึก ที่ถึงกับทำให้ออกผนวช


ความรู้สึก ที่ถึงกับทำให้ออกผนวช


ภิกษุทั้งหลาย ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ตนเองมี ความเกิด เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมี ความแก่ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมี ความเจ็บไข้ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมี ความตาย เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความตาย เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมี ความโศก เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความโศก เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมี ความเศร้าหมอง โดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง อีก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นสิ่งที่มีความเกิด (เป็นต้น) ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน (เป็นที่สุด) เป็นธรรมดา ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรและภรรยา มีความเกิด เป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ทาสหญิง ทาสชาย มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. แพะ แกะ มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ไก่ สุกร มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ช้าง โค ม้า ลา มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ทองและเงิน เป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. สิ่งที่มนุษย์เข้าไปเทิดทูนเอาไว้เหล่านี้แลที่ชื่อว่า สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา ซึ่งคนในโลกนี้ พากันจมติดอยู่ พากันมัวเมาอยู่ พากันสยบอยู่ ในสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ตนทั้งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯมีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหา สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ ที่มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา อยู่อีก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความคิดอันนี้ ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ทำไมหนอ เราซึ่งมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว จะต้องไปมัวแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่อีก. ไฉนหนอ เราผู้มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว ครั้นได้รู้สึกถึงโทษอันต่ำทรามของการมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดานี้แล้ว เราพึงแสวงหานิพพาน อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด”. ภิกษุทั้งหลาย ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีก ยังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยความหนุ่มที่กำลังเจริญ ยังอยู่ในปฐมวัย, เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนาด้วยกำลังพากันร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่, เราได้ปลงผมและหนวดครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว.
...ภารท๎วาชะ ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่, ความคิดนี้เกิดมีแก่เราว่า :- “ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วน บรรพชา เป็นโอกาสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่ายนั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด” ดังนี้. ...

-บาลี มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖. -บาลี ม. ม. ๑๓/๖๖๙/๗๓๘.

คู่บุพเพสันนิวาส

คู่บุพเพสันนิวาส


คู่บุพเพสันนิวาส


ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ. ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.


-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๑/๕๖.