ให้พึ่งตน พึ่งธรรม

ให้พึ่งตน พึ่งธรรม

ให้พึ่งตน พึ่งธรรม


อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า “ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี; อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา, สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”.
อานนท์ ! เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่นเหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำกว่าส่วนอื่น ส่วนนั้นพึงย่อยยับไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด; อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีธรรมเป็นแก่นสารเหลืออยู่, สารีบุตรปรินิพพานไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน. อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ. อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ, มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่, พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนืองๆ อยู่, พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่, พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนืองๆ อยู่; มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
อานนท์ ! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่ามีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา, ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด.

-    บาลี มหาวาร .สํ. ๑๙/๒๑๖/๗๓๗.

ปลากลืนเบ็ด

ปลากลืนเบ็ด


พระกลืนเบ็ด





ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรม อื่นยิ่งกว่า. ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนพรานเบ็ด ซัดเบ็ดที่มีเหยื่อลงไปในห้วงน้ำลึก. ปลาที่เห็นแต่จะกินเหยื่อตัวหนึ่ง ได้กลืนเบ็ดนั้นเข้าไป. ปลาที่กลืนเบ็ดตัวนั้น ย่อมได้รับทุกข์ถึงความพินาศ แล้วแต่พรานเบ็ดผู้นั้น ใคร่จะทำ ประการใด. ภิกษุ ท. ! คำว่า “พรานเบ็ด” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “มารผู้มีบาป” คำว่า “เบ็ด” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “ลาภสักการะและเสียงเยินยอ”. ภิกษุ ท. ! ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังรู้สึกอร่อย ยังติดใจในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น หรือดิ้นรนใคร่จะได้อยู่ ; ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนเบ็ดของมาร จะได้รับทุกข์ถึงความพินาศ แล้วแต่มารผู้มีบาป ใคร่จะทำ ประการใด ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้. เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา”. ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล.
    บาลี พระพุทธภาษิต นิทาน. สํ. ๑๖/๒๖๖-๗/๕๓๘-๕๔๑.

พรหมสูตร

พรหมสูตร

พรหมสูตร



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใด บุตรบูชามารดาและบิดาอยู่ในเรือนของตน ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพรหม มีบุรพเทวดา มีบุรพาจารย์ มีอาหุไนยบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหม เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าบุรพเทวดา
เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่า บุรพาจารย์ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยบุคคล เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ถนอมเลี้ยง เป็นผู้แสดงโลกนี้ แก่บุตร ฯ มารดาและบิดาเรากล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ เป็นอาหุไนยบุคคลของบุตร เพราะเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะมารดาและบิดาทั้งสองนั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว เพราะการปฏิบัติในมารดาและบิดา บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้าที่ ๒๔๖ข้อที่ ๒๘๖