การรับที่ไม่เป็นธรรม หรือ การรับที่เป็นธรรม

การรับที่ไม่เป็นธรรม หรือ การรับที่เป็นธรรม


สัญญาเก่าๆ ทิ้งได้แล้ว






https://youtu.be/CHtqJzmYL3w     <- คลิ๊กเพื่อชมวีดีโอ


อุบาลี ! การรับที่ไม่เป็นธรรม (อธัมมิกา ปฏิคคห) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ของเขาให้ด้วยกาย ไม่รับด้วยกาย
(๒) ของเขาให้ด้วยกาย ไม่รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
(๓) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย ไม่รับด้วยกาย
(๔) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกายไม่รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
(๕) ของเขาให้ด้วยโยนให้ ไม่รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย อุบาลี ! เหล่านี้แล การรับที่ไม่เป็นธรรม ๕ อย่าง.  
อุบาลี ! การรับที่เป็นธรรม (ธมฺมิกา ปฏิคคห) มี ๕ อย่าง คือ
(๑) ของเขาให้ด้วยกาย รับด้วยกาย
(๒) ของเขาให้ด้วยกาย รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
(๓) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย รับด้วยกาย
(๔) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกายรับด้วยของเนื่องด้วยกาย.
(๕) ของเขาให้ด้วยโยนให้รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย. อุบาลี ! เหล่านี้แล การรับที่เป็นธรรม ๕ อย่าง.

    -บาลี ปริวาร. วิ. ๘/๔๙๕/๑๑๗๓.

ศีล ๕

ศีล ๕




ไม้ตียุง






ศีล 5




(ปาณาติปาตา เวรมณี) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่. (อทินนาทานา เวรมณี) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน (ลักทรัพย์) ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาดเป็นอยู่. (กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี) เธอนั้น ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
(มุสาวาทา เวรมณี) เธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก.
(สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี) เธอนั้น เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท.

-บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๔๗/๒๘๖., -บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓., -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๕/๑๖๕.

เหตุแห่งการเบียดเบียน

เหตุแห่งการเบียดเบียน

วินมอไซค์ตีกัน





“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! อะไรเป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีเบียดเบียนแก่กันและกันเล่า พระเจ้าข้า ?”. จอมเทพ ! ความอิจฉา (อิสสา) และความตระหนี่ (มัจฉริยะ) นั่นแล เป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน
แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกันได้. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ก็ความอิจฉาและความตระหนี่นั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ (นิทาน) มีอะไรเป็นเครื่องก่อขึ้น (สมุทัย) มีอะไรเป็นเครื่องทำให้เกิด (ชาติกะ) มีอะไรเป็นแดนเกิด (ปภวะ) ? เมื่ออะไรมีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงมี ? เมื่ออะไร
ไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงไม่มี พระเจ้าข้า ?”.
จอมเทพ ! ความอิจฉาและความตระหนี่นั้น มีสิ่งอันเป็นที่รักและสิ่งอันไม่เป็นที่รัก (ปิยาปฺปิย) นั่นแล เป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... เมื่อสิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่ก็ไม่มี.
“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ก็สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้นเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... ? เมื่ออะไรมีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงมี ? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงไม่มี พระเจ้าข้า ?”. จอมเทพ ! สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้น มีฉันทะ (ความพอใจ) เป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... เมื่อฉันทะ ไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักก็ไม่มี...

    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๓๑๐/๒๕๕.

ทรงแสดงสาวกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในอินทรียภาวนา

ทรงแสดงสาวกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ

ในอินทรียภาวนา

ทรงแสดงสาวกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในอินทรียภาวนา



ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! 
สารีบุตร ! อริยสาวกใด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคตถึงที่สุดโดยส่วนเดียว, เขาย่อมไม่สงสัยหรือลังเลในตถาคตหรือในคำสอนของตถาคต.
สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธาแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
สารีบุตร ! ความเพียรเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือวิริยะของเธอนั้น!
สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่แล้วพึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้มีสติ ประกอบพร้อมด้วยสติเป็นเครื่องระวังรักษาตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้.
สารีบุตร ! ความระลึกเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือสติ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้กระทำให้ได้ซึ่งโวสสัคคารมณ์ จักได้ซึ่งความตั้งมั่นแห่งจิต กล่าวคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว.
สารีบุตร ! ความตั้งมั่นแห่งจิตเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือสมาธิ ของเธอนั้น. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ ว่า “สังสารวัฏฏ์ เป็นสิ่งมีที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้, ที่สุดฝ่ายข้างต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก กำลังแล่นไป ท่องเที่ยวไป. ความจางคลายดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งอวิชชาอันเป็นกองแห่งความมืดนั้นเสียได้ มีอยู่; นั่นเป็นบทที่สงบ นั่นเป็นบทที่ประณีต, กล่าวคือ เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน.”
สารีบุตร ! ความรู้ชัดเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือปัญญา ของเธอนั้น. สารีบุตร ! อริยสาวกนั้นนั่นแหละ ตั้งไว้แล้วตั้งไว้แล้ว (ซึ่งวิริยะ) ด้วยอาการอย่างนี้ ระลึกแล้วระลึกแล้ว (ด้วยสติ) ด้วยอาการอย่างนี้ ตั้งมั่นแล้วตั้งมั่นแล้ว (ด้วยสมาธิ) ด้วยอาการอย่างนี้ รู้ชัดแล้วรู้ชัด (ด้วยปัญญา) ด้วยอาการอย่างนี้เขาย่อมเชื่ออย่างยิ่ง อย่างนี้ ว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อนในบัดนี้ เราถูกต้องธรรมเหล่านั้นด้วยนามกายแล้วแลอยู่ ด้วย และ แทงตลอด ธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาแล้วเห็นอยู่ ด้วย” ดังนี้. สารีบุตร ! ความเชื่อเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นอินทรีย์คือ สัทธา ของเธอนั้น, ดังนี้แล.
    บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๙๙/๑๐๑๗. ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่อาปณนิคม แคว้นอังคะ.