การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด

การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด

การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด



ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ! พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร ? ทีฆตปัสสี ! ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ. ท่านพระโคดม ! ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร ? ทีฆตปัสสี ! เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑. ท่านพระโคดม ! ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง มิใช่หรือ ? ทีฆตปัสสี ! กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.
ท่านพระโคดม ! ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือ มโนกรรม ที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ? ทีฆตปัสสี ! บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรม ว่ามีโทษมาก เหมือนมโนกรรม หามิได้. ท่านพระโคดม ! พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ ?
ทีฆตปัสสี ! เรากล่าวว่ามโนกรรม. ท่านพระโคดม ! พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ ? 
ทีฆตปัสสี ! เรากล่าวว่ามโนกรรม. ท่านพระโคดม ! พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ ?
ทีฆตปัสสี ! เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่. (จากนั้นได้มี อุบาลีคหบดี เข้ามาเพื่อสนทนาในเรื่องนี้ต่อจากฑีฆตปัสสีนิครณถ์ โดยยังมีความเห็นว่า กรรมทางกายมีโทษมากกว่ากรรมทางใจ และพระผู้มีพระภาคได้ยกอุปมา เพื่อให้เห็นเปรียบเทียบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้) คหบดี ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นอย่างไร ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง. คหบดี ! ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้าน
นาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดย
ครู่หนึ่งได้หรือ ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็น
กองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียวจะเก่งกาจอะไรกันเล่า.
คหบดี ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียว. คหบดี ! ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียวได้หรือไม่หนอ ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น ยังสามารถทำให้เป็นเถ้าได้ด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียว แล้วบ้านนาลันทาที่ทรุดโทรมหลังเดียวคณาอะไรเล่า. คหบดี ! ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย...

-บาลี ม. ม. ๑๓/๕๔/๖๒.

ความทุกข์ในนรก

ความทุกข์ในนรก(เทวทูต 5)

เทวทูตที่ 1
เทวทูตที่ 2
เทวทูตที่ 3
เทวทูตที่ 4
เทวทูตที่ 5



ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลังนั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเดินไปบ้าง ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า :- สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี. สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี.
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงเปรตวิสัยก็มี. สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดเดรัจฉานก็มี. สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า “ข้าแต่พระองค์ ! บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด”. ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ?”
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อน นอนหงาย เปื้อนมูตรคูถของตน อยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “เห็น เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านนั้นเมื่อรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความคิดดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า ! มัวประมาทเสียเจ้าข้า !” พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูตที่ ๒ ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา เป็นผู้ชรา ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ศีรษะล้าน ผิวตกกระในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “เห็น เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า ! มัวประมาทเสีย เจ้าข้า !” พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้ทำดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุกพยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “เห็น เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านนั้นเมื่อรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความคิดดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจ” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า ! มัวประมาทเสีย เจ้าข้า !” พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้” ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นพระราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ :- (๑) โบยด้วยแส้บ้าง ... (เนื้อความเต็มสามารถศึกษาได้จากหนังสือพุทธวจน ฉบับ ภพภูมิ หน้า ๖๔-๖๕) สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “เห็น เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านนั้นเมื่อรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความคิดดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่าสัตว์ที่ทำกรรมอันเป็นบาปไว้นั้น ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า ! มัวประมาทเสีย เจ้าข้า !” พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้” ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายแล้ววันหนึ่งหรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้มในหมู่มนุษย์หรือ ?” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “เห็น เจ้าข้า !” พระยายมถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านนั้นเมื่อรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความคิดดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ” สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า ! มัวประมาทเสีย เจ้าข้า !” พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้น จักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้” ภิกษุทั้งหลาย ! พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก ... . ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... . ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะเอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... . ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... .     ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านิรยบาล จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก ล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของมหานรกนั้นล้วนเต็มไปด้วยเหล็กลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ตั้งอยู่ทุกเมื่อ. ภิกษุทั้งหลาย ! และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝาด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด ... ประตูด้านหลังของมหานรกเปิด ... ประตูด้านเหนือเปิด ... ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคืนรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในมหานรกนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคืนรูปเดิมทันทีสัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้วเฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึงใหญ่ (ขี้เถ้าร้อน) ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาล จะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ในแม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์นั้นขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! เจ้าต้องการอะไร” สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า !” เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้างออกมาทางส่วน เบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! เจ้าต้องการอะไร” สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า !” เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออกแล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้น ย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก. ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า :- “พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ! เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่ทำกรรมอันเป็นบาปไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ต่างชนิด เห็นปานนี้. โอหนอ ! ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะพึงเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรม ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด”. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร) นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือนแล้วประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์อันเลว ถึงความเศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะ แล้วไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๓๔/๕๐๔.

กัลยาณวัตรที่ตถาคตทรงฝากไว้

กัลยาณวัตรที่ตถาคตทรงฝากไว้


กัลยาณวัตรที่ตถาคตทรงฝากไว้





อย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้าย




อานนท์ ! ก็กัลยาณวัตรอันเราตั้งไว้ในกาลนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน. อานนท์ ! กัลยาณวัตรนี้ เป็นอย่างไรเล่า ? นี้คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ :-สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. อานนท์ ! เกี่ยวกับกัลยาณวัตรนั้น เราขอกล่าวกะเธอ โดยประการที่เธอทั้งหลาย จะพากันประพฤติตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้ : เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย.
อานนท์ ! ความขาดสูญแห่งกัลยาณวัตรนี้มีในยุคแห่งบุรุษใด; บุรุษนั้นชื่อว่าบุรุษคนสุดท้ายแห่งบุรุษทั้งหลาย. อานนท์ ! เกี่ยวกับกัลยาณวัตรนั้น เราขอกล่าว (ย้ำ) กับเธอ โดยประการที่เธอทั้งหลายจะพากันประพฤติตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้ : เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย.

    -บาลี ม. ม. ๑๓/๔๒๗/๔๖๓.

ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย

ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย


ตาลีบัน



ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย


ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยในอนาคตเหล่านี้ มีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้น อยู่ตลอดไป, เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว. ภัยในอนาคต ๕ ประการนั้น คืออะไรบ้างเล่า ? ๕ ประการ คือ :- (๑) ภิกษุในกรณีนี้ พิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรายังหนุ่ม ยังเยาว์วัย ยังรุ่นคะนอง มีผมยังดำสนิท ตั้งอยู่ในวัยกำลังเจริญ คือปฐมวัย; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ความแก่ จะมาถึงร่างกายนี้, ก็คนแก่ ถูกความชราครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำได้ง่ายๆ เลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือความแก่) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะแก่เฒ่าก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก:
(๒) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุให้ความอบอุ่นสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก พอปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร;แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ความเจ็บไข้จะมาถึงร่างกายนี้, ก็คนที่เจ็บไข้ถูกพยาธิครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำได้ง่ายๆ เลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือความเจ็บไข้) นั้น จะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะเจ็บไข้ ก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก :
(๓) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ ข้าวกล้างามดี บิณฑะ (ก้อนข้าว) หาได้ง่าย เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายามแสวงหาบิณฑบาต; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ ภิกษาหายาก ข้าวกล้าเสียหาย บิณฑะหาได้ยาก ไม่เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายามแสวงหาบิณฑบาต, เมื่อภิกษาหายาก ที่ใดภิกษาหาง่าย คนทั้งหลายก็อพยพกันไปที่นั้น, เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น เมื่อมีการคลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือภิกษาหายาก) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดทุพภิกขภัย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก :
(๔) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ คนทั้งหลายสมัครสมานชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดุจดั่งนมผสมกับน้ำ มองแลกันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กัน เป็นอยู่; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ ภัย คือโจรป่ากำเริบ ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่ในอาณาจักรแตกกระจัดกระจายแยกย้ายกันไป, เมื่อมีภัยเช่นนี้ ที่ใดปลอดภัย คนทั้งหลายก็อพยพกันไปที่นั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น เมื่อมีการอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย : ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือโจรภัย) นั้น จะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดโจรภัย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก :
(๕) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ สงฆ์สามัคคีปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน อยู่เป็นผาสุก; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่สงฆ์แตกกัน, เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย : ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือสงฆ์แตกกัน) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวเมื่อสงฆ์แตกกัน” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยในอนาคต ๕ ประการเหล่านี้แล ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ตลอดไป, เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว.

    -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๑๗/๗๘.

บทสวดแก้ความหวาดกลัว

บทสวดแก้ความหวาดกลัว

Halloween




อะรัญเญ รุกขะมูเล วา สุญญาคาเรวะ ภิกขะโว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายอยู่ในป่า
หรืออยู่โคนไม้ หรืออยู่ในเรือนว่างก็ตาม อะนุสสะเรถะ สัมพุทธัง ภะยัง ตุมหากัง โน สิยา พึงระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด
ความกลัวก็จะไม่พึงมีแก่พวกเธอทั้งหลาย โน เจ พุทธัง สะเรยยาถะ โลกะเชฏฐัง นะราสะภัง แต่ถ้าเธอทั้งหลาย ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้เจริญแห่งโลก เป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน มิได้ไซร้
อะถะ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง ก็พึงระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์
ที่เราแสดงไว้ดีแล้วเถิด โน เจ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง แต่ถ้าเธอทั้งหลาย ระลึกถึงพระธรรม
อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ที่เราแสดงไว้ดีแล้ว มิได้ไซร้
อะถะ สังฆัง สะเรยยาถะ ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง ก็พึงระลึกถึงพระสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก
ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าเถิด
เอวัง พุทธัง สะรันตานัง ธัมมัง สังฆัญจะ ภิกขะโว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลาย
ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส นะ เหสสะตีติ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี
จักไม่มีเลย ดังนี้.

-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๓๒๓/๘๖๖.

ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง

ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง

อย่าลืมตาย

อย่าลืมตาย 19




ภิกษุทั้งหลาย ! มรณสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด. พวกเธอเจริญมรณสติอยู่บ้างหรือ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลตอบ และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่ง...ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลากลางวัน... ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตเสร็จมื้อหนึ่ง... ดังนี้ก็ดี, เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียง ๔-๕ คำ เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด การปฏิบัติตามคำสั่งสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี, ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ ยังเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะช้าไป.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฝ่ายภิกษุพวกที่เจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว” ดังนี้ก็ดี, ว่า “โอหนอ เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า แล้วหายใจออก หรือชั่วขณะหายใจออกแล้วหายใจเข้า. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด, การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี; ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว, เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้น
อาสวะอย่างแท้จริง. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอ ทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่, จักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๒๗/๑๗๐.